ทช.แจงร้านห้อยฉลามเกิดเมื่อ 2 ปีก่อน นักดำน้ำแย้ง เพิ่งถ่ายไม่นาน

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงกรณีร้านอาหารทะเลหาดกะรน จ.ภูเก็ต นำฉลามหัวบาตร และฉลามลายเสือดาวมาจำหน่ายเพื่อบริโภคนั้น ข้อเท็จจริงร้านอาหารดังกล่าวที่เป็นข่าวชื่อร้านแช๊มป์ซีฟู้ด ตั้งอยู่หน้าโรงแรม Ibis ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ขณะตรวจสอบไม่ปรากฏว่ามีปลาฉลามทั้งสองชนิดตามที่เป็นข่าววางขายในร้าน เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับเจ้าของร้าน ชื่อนายณรงค์ชัย ธนะทวีสกุล มีภูมิลำเนาเดิม อ.กันตัง จ.ตรัง ได้ให้ขอเท็จจริงว่าปัจจุบันนี้ไม่มีการจำหน่ายปลาทั้งสองชนิดดังกล่าวตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด ซึ่งที่ปรากฏในภาพนั้น ลูกสาวตนเคยซื้อมาจำหน่ายเมื่อประมาณสองปีมาแล้วโดยซื้อมาจากสะพานปลา แถวเกาะสิเหร่ โดยประมูลเหมารวมมาเป็นกอง โดยไม่ทราบว่ามีกฎหมายหวงห้าม

นายจตุพรกล่าวว่า สำหรับฉลามลายเสือดาว เป็นปลาชนิดที่ปรากฏในบัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต ลำดับที่ 83 การมีไว้ในครอบครองเป็นความผิดตาม ม.45 ประกอบ ม.100 พ.ร.บ.คุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ส่วนฉลามหัวบาตร ไม่ปรากฏในบัญชีดังกล่าวแต่อย่างใด ในส่วนของการดำเนินการของ กรม ทช. จนท.สบทช.9 จ.ภูเก็ต ได้ทำการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจขอความร่วมมือไม่ให้มีการซื้อปลาเหล่านั้นมาประกอบอาหารจำหน่าย รวมทั้งขอความร่วมมือว่าในกรณีฉลามหัวบาตร และฉลามลายเสือดาวเป็นสัตว์ที่ฝ่ายวิชาการระบุว่าอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ อาจเป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันเป็นการฝ่าฝืน กม.ตาม ม.17 เป็นความผิดตาม ม.27 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ได้ ซึ่งเจ้าของร้านอาหารคือนายณรงค์ชัยรับปากให้ความร่วมมือ ไม่จัดจำหน่ายปลาดังกล่าวอีกต่อไป

นายจตุพรกล่าวว่า กรณีข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามข่าว กรม ทช.จะเร่งดำเนินการศึกษาข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่าสัตว์น้ำทางทะเลดังกล่าว มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไม่อย่างไร หากเป็นที่แน่ชัด กรม ทช.จะเตรียมการกำหนดมาตรการคุ้มครอง สัตว์น้ำดังกล่าว โดยใช้กลไกของ พ.ร.บ.ทช. 2558 ตามมาตรา 22 ประกอบมาตรา 23 และมาตรา 3 ที่กำหนดให้รัฐมนตรี ทส.ออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองกรณีทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อาจถูกทำลายได้รับความเสียหาย หรือได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงเข้าขั้นวิกฤต เพื่อคุ้มครองชนิด หรือประเภททรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดังกล่าวได้ โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี

“สำหรับเหตุกรณีที่เกิดขึ้น เบื้องต้น กรม ทช.ได้สั่งการให้ สบทช.9 จ.ภูเก็ต เพื่อประสานและทำความเข้าใจกับร้านอาหาร ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่าการนำฉลามหัวบาตรและฉลามเสือดาวมาบริโภค อาจเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.ทช.58 ฐานก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ เพื่อเป็นการป้องปรามมิให้มีการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่มีความสำคัญในระบบนิเวศและใกล้สูญพันธุ์” อธิบดี ทช.กล่าว

Advertisement

นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (ไอยูซีเอ็น) กล่าวว่า ชื่นชม ทช.ที่ทำงานเร็วและจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพฉลามที่ห้อยหัวอยู่ในร้านอาหารทั้งสองตัวนั้น ด้านนักท่องเที่ยวที่บันทึกภาพได้ ยืนยันว่าเพิ่งเกิดเหตุเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมาเอง โดยขณะนี้ บอกว่าขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานประกอบอื่นๆ จากนักดำน้ำอาสาสมัครสำหรับร้านค้าที่มักมีการนำสัตว์ทะเลหายากมาจัดแสดงเพื่อบริโภค รวมทั้งในกระชังเพื่อดึงดูดลูกค้าด้วย

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นที่อยากนำเสนอคือ ไม่ได้อยากโจมตีใคร แต่ต้องการให้สัตว์ทะเลหายากได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย

“ผมไม่เคยบอกว่า ห้ามกินฉลามทุกชนิด เพราะความชุกชุมของฉลามในบ้านเรามีไม่เหมือนกัน อย่างฉลามหูดำที่มีมากมาย ชาวบ้านเอามาทำผัดฉ่ากิน ก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่อย่างฉลามหัวบาตรกับฉลามเสือดาว นานๆ จะโผล่มาให้เห็นสักตัวมันสมควรหรือไม่ที่จะต้องจับมากินในเมื่อมีอย่างอื่นให้กินอีกเยอะ” ผศ.ธรณ์กล่าว

Advertisement

นายจตุพรให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่มีนักท่องเที่ยวยืนยันว่าภาพถ่ายฉลามทั้ง 2 ตัวเพิ่งถ่ายเมื่อไม่กี่วัน ไม่ใช่เมื่อ 2 ปีก่อนอย่างที่เจ้าของร้านกล่าวอ้าง ก็ขอให้รวบรวมหลักฐานแจ้งมาที่ ทช.จะได้เข้าไปตรวจสอบ แต่ประเด็นคือ แม้ว่าจะเป็นจริงตามที่มีการยืนยันไม่ว่าจะของใคร แล้วจะเอาความผิดอะไรกับทางร้านได้เมื่อยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

“ผมก็เข้าใจในความปรารถนาดีกับทุกฝ่าย ในเมื่อเราต้องรอขั้นตอนตามกฎหมาย สิ่งที่ต้องทำเวลานี้คือช่วยกันรณรงค์เรื่องการไม่ค้า ไม่กิน เพราะหากทุกคนไม่กิน ก็ไม่มีใครเอามาขาย หรือจับเพื่อมาขายแน่นอน” นายจตุพรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image