อังกฤษมองไทย ‘ฟินแลนด์แห่งตะวันออก’ ช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง?

เมื่อไม่นานมานี้มีการพบข้อความการกล่าวเปรียบเทียบไทยเป็น Finland of the East หรือ “ฟินแลนด์แห่งตะวันออก” อยู่ในสมุดบันทึกการประชุมลับของคณะรัฐมนตรีอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ถูกนำมาเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติอังกฤษ (The National Archives) เมื่อ 11 ปีที่แล้ว โดยเป็นชุดเอกสารที่ไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะภายหลังการครบกำหนดอายุ 30 ปี ภายใต้กฎบังคับการเปิดเผยเอกสารราชการของอังกฤษ แต่กลับถูกรัฐบาลอังกฤษปกปิดไว้เป็นกรณีพิเศษนานกว่า 60 ปี ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้เปิดเผยต่อสาธารณะในที่สุดเมื่อปี  2549

เอกสาร The National Archives (TNA): CAB 195/3/24 หรือ WM (45) 49 หน้าที่ 86 เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2549

สมุดบันทึกดังกล่าวของ เซอร์นอร์แมน บรุ๊ค (Sir Norman Brook) รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งมีเพียงสามเล่มที่รอดพ้นจากการถูกทำลายหลักฐานช่วงสงคราม สามารถบันทึกคำกล่าวเปรียบเทียบไทยเป็น “ฟินแลนด์แห่งตะวันออก” ที่กล่าวขึ้นโดย ลอร์ดเซลบอร์น (Lord Selborne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสงครามเศรษฐกิจ (Minister of Economic Warfare : MEW) ที่ดูแลหน่วยปฏิบัติการพิเศษอังกฤษในไทย (Special Operations Executive : SOE) ในระหว่างการหารือกับนายกรัฐมนตรีเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล เกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐที่มีต่อไทย ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสงคราม (War Cabinet) ที่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2488

(จากซ้าย) เซอร์นอร์แมน บรุ๊ค ผู้จดบันทึก [wikimedia.org] ลอร์ดเซลบอร์น ผู้กล่าวเปรียบเทียบ [amazonaws.com], นายกรัฐมนตรี เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีสงคราม [timesonline.typepad.com]
ที่ผ่านมา สถานการณ์ของไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมักถูกเปรียบเทียบว่าคล้ายกับเดนมาร์ก เนื่องจากทั้งสองประเทศได้ถูกฝ่ายอักษะรุกรานและกดดันให้ร่วมมือจนก่อให้เกิดขบวนการต่อต้านขึ้น ซึ่งรวมถึงอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ของทั้งสองประเทศที่ไม่ยอมรับอำนาจรัฐบาลของตนที่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายอักษะ โดยที่ไทยมักไม่ได้ถูกเปรียบเทียบกับฟินแลนด์มากนัก ฟินแลนด์ได้สู้รบกับสหภาพโซเวียต ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นเวลาหลายปีทำให้สูญเสียประชากรกว่า 80,000 คน และถูกปรับเป็นผู้แพ้สงครามในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์ของไทยที่ถูกญี่ปุ่น ประเทศฝ่ายอักษะ บุกรุกและกดดันให้ร่วมมือ แต่ไม่ตกเป็นผู้แพ้สงคราม

อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ทางการทูตและการทหารของฟินแลนด์กับไทยในช่วงสงคราม โดยเฉพาะจากข้อมูล “ลับสุดยอด” ที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสงครามอังกฤษในวันนั้นได้รับรู้ถึงผลการหารือลับระหว่างสองคณะจากขบวนการเสรีไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2488 ซึ่งมี หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน และหัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา นำคณะแรกหารือที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ณ กรุงวอชิงตัน และมี นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และหัวหน้ากองกลางขบวนการเสรีไทย นำคณะที่สองลักลอบเดินทางออกไปหารือที่กองบัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรเขตการรบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South-East Asia Command : SEAC) ณ เมืองแคนดี ซีลอน (ศรีลังกา) จะพบความคล้ายคลึงกันอย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้

Advertisement

ประการแรก ทั้งฟินแลนด์และไทย ซึ่งต่างมีสถานะเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับฝ่ายอักษะในช่วงสงครามแต่ด้วยเหตุผลและรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้ดำเนินการคล้ายกันในการเปลี่ยนรัฐบาลเพื่อพยายามตีตัวออกห่างจากฝ่ายอักษะ ในกรณีของฟินแลนด์ ประธานาธิบดีริสโต รุติ (Risto Ryti) ผู้ที่นำประเทศเข้าร่วมมือกับนาซีเยอรมนี ประเทศฝ่ายอักษะและประกาศสงครามต่อสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2484 ได้ ลาออก จากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 เพื่อเปิดทางให้ประธานาธิบดีคนใหม่สามารถนำพาประเทศตีตัวออกห่างจากนาซีเยอรมนี และเปิดการเจรจาสงบศึกกับสหภาพโซเวียตต่อไป

ในวันเดียวกันนั้น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไทยหลังการ ลาออก ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่นำประเทศเข้าร่วมมือกับญี่ปุ่นในยามคับขันเมื่อปี 2484 และประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐ ในปีต่อมา รัฐบาลชุดใหม่ยังจำเป็นต้องคงความร่วมมือกับญี่ปุ่นไว้ต่อไปท่ามกลางสงครามที่ยังไม่สิ้นสุด แต่ในขณะเดียวกันได้มีการเตรียมการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกแก่ภารกิจของขบวนการเสรีไทยในการส่งบุคคลเข้า-ออกประเทศเพื่อติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น การส่งคณะของนายดิเรก เพื่อประสานท่าทีกับฝ่ายสัมพันธมิตร เป็นต้น

ประธานาธิบดีริสโต รุติ และนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ที่นำประเทศเข้าร่วมมือกับประเทศฝ่ายอักษะเมื่อปี 2484 และลาออกเมื่อปี 2487 [wikimedia.org]
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2488 คณะจากขบวนการเสรีไทยได้ให้ข้อมูลกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่า นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยภายในประเทศ (รหัสนาม Ruth) มีแผนจะให้รัฐบาลของ พันตรีควง อภัยวงศ์ ที่ให้การร่วมมือกับญี่ปุ่น ลาออก ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อที่รัฐบาลใหม่จะสามารถนำพาประเทศเข้าร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อไป ในท้ายสุด การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตรี ควง อภัยวงศ์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2488 ภายหลังการพ่ายแพ้สงครามของญี่ปุ่น ส่งผลให้ นายทวี บุณยเกตุ รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลและสมาชิกขบวนการเสรีไทย ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ก่อนเปิดทางให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเมื่อเดือนกันยายน 2488 เพื่อต่อยอดการเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรเกี่ยวกับสถานภาพของประเทศภายหลังสงคราม

Advertisement

ประธานาธิบดีกุสตาฟ แมนเนอร์ไฮม์และนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ยกเลิกความตกลงที่ผูกมัดประเทศไว้ข้างฝ่ายอักษะ [wikimedia.org/wiki.kpi.ac.th]
ประการที่สอง ทั้งฟินแลนด์และไทยได้ดำเนินการคล้ายกันในการยกเลิกความตกลงที่ผูกมัดประเทศไว้ข้างฝ่ายอักษะ เมื่อเดือนสิงหาคม 2487 รัฐบาลใหม่ของฟินแลนด์ภายใต้ ประธานาธิบดีกุสตาฟ แมนเนอร์ไฮม์ (Gustaf Mannerheim) ได้ยกเลิกความตกลงรุติ-ริบเบนทรอพ (Ryti-Ribbentrop Agreement) ที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2487 ระหว่างรัฐบาลรุติกับนาซีเยอรมนี โดยถือว่าความตกลงดังกล่าวที่มีเนื้อหาผูกมัดไม่ให้ฟินแลนด์ทำความตกลงสงบศึกแยกจากนาซีเยอรมนี และมีลักษณะคล้ายกับการประกาศเป็นพันธมิตรระหว่างกัน เป็น โมฆะ เนื่องจากไม่ได้ผ่านกระบวนการเห็นชอบจากรัฐสภาของฟินแลนด์ จึงนับเป็นความตกลงที่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และนับเป็นเพียงความตกลงระหว่างบุคคลที่ไม่มีผลผูกพันต่อรัฐ การยกเลิกความตกลงดังกล่าวได้เปิดทางให้ฟินแลนด์สามารถลงนามในสัญญาสงบศึกมอสโก (Moscow Armistice) กับสหภาพโซเวียตและสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2487 ท่ามกลางสงครามในยุโรปที่ยังดำเนินต่อไป

ความตกลงรุติ-ริบเบนทรอพ ระหว่างฟินแลนด์กับนาซีเยอรมนี และประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐ ของไทย [personal.inet.fi/2.bp.blogspot.com]
ข้อสังเกตของเซอร์แอนโทนี อีเดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เมื่อเดือนเมษายน 2488 เอกสาร The National Archives (TNA): CAB 66/64/49 หรือ WP (45) 249 หน้าที่ 3

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2488 คณะจากขบวนการเสรีไทยได้ให้ข้อมูลกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่า นายปรีดีมีแผนจะให้ไทยยกเลิกความตกลงทั้งหมดที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยจัดทำขึ้นกับญี่ปุ่น รวมถึงจะให้การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐของไทยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะด้วย โดยต่อมา การประกาศสันติภาพไทยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2488 ได้ระบุให้การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐ เป็น โมฆะ เนื่องจากขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยการประกาศสงครามไม่ได้ถูกลงนามโดยสมบูรณ์ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2488 ได้มีการยกเลิกกติกาสัญญาพันธไมตรีไทย-ญี่ปุ่นที่ลงนามเมื่อเดือนธันวาคม 2484 ด้วย

ประการที่สาม ไทยได้มีแผนการขับไล่กำลังทหารฝ่ายอักษะออกจากประเทศคล้ายกับที่ฟินแลนด์ได้มีปฏิบัติการขับไล่กำลังทหารนาซีเยอรมนีตามข้อบังคับของสัญญาสงบศึกมอสโก โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2488 คณะจากขบวนการเสรีไทยได้ให้ข้อมูลกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่า นายปรีดีมีแผนจะให้ประชาชนและทหารร่วมสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขับไล่กำลังทหารญี่ปุ่นออกจากประเทศ แต่ในการหารือกันต่อมา ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ขอให้ขบวนการเสรีไทยชะลอแผนการลุกขึ้นต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผย เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนยุทธการของฝ่ายสัมพันธมิตรในเขตการรบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในท้ายสุด ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามและไทยไม่ได้มีปฏิบัติการสู้รบต่อต้านญี่ปุ่น

ประการที่สี่ ไทยได้มีแผนการประกาศสงครามต่อประเทศฝ่ายอักษะคล้ายกับที่ฟินแลนด์ได้ประกาศสงครามต่อนาซีเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2488 โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2488 ก่อนหน้านั้น คณะจากขบวนการเสรีไทยได้ให้ข้อมูลกับฝ่ายสัมพันธมิตรว่า นายปรีดีมีแผนจะให้ไทยประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น

ในท้ายสุด การหารือระหว่างขบวนการเสรีไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรไม่ได้มีผลให้ไทยประกาศสงคราม

การดำเนินการของฟินแลนด์และไทยในการเปลี่ยนรัฐบาลและยกเลิกความตกลงที่รัฐบาลก่อนเคยจัดทำไว้กับประเทศฝ่ายอักษะได้ช่วยลบล้างพันธกรณีที่ผูกมัดประเทศไว้ ส่วนแผนการขับไล่กำลังทหารและประกาศสงครามต่อประเทศฝ่ายอักษะของไทยที่คล้ายกับขั้นตอนของฟินแลนด์เป็นการเปิดทางสู่ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนี้ ท่าทีของสหรัฐที่มีต่อฟินแลนด์และไทยยังมีความคล้ายคลึงกันด้วย เช่น การงดประกาศสงครามถึงแม้ว่าทั้งสองประเทศนั้นมีสถานะสงครามกับอังกฤษด้วยก็ตาม และการพยายามช่วยรักษาสถานะเอกราชของทั้งสองประเทศไว้ตามกฎบัตรแอตแลนติก เป็นต้น

ถึงแม้ว่าแผนการที่คณะจากขบวนการเสรีไทยได้แจ้งฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2488 อาจดูเหมือนเป็นเจตนารมณ์ที่มีขึ้นภายหลังการดำเนินการของฟินแลนด์ หากแต่แนวคิดของขบวนการเสรีไทยเคยมีขึ้นก่อนหน้าแล้ว ยกตัวอย่างเช่น (1) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2486 ได้มีแผนการให้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังที่มีข่าวว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความประสงค์จะลาออก (2) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2486 นายปรีดีได้มอบหมายให้คณะของ นายจำกัด พลางกูร ลักลอบเดินทางไปนครจุงกิงเพื่อแจ้งฝ่ายจีน ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ว่าสัญญาร่วมรบไทย-ญี่ปุ่นที่จัดทำเมื่อเดือนธันวาคม 2484 เป็นโมฆะ พร้อมกับแจ้งประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นด้วยว่าการประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐเป็นโมฆะ โดยการหารือระหว่างนายจำกัดกับ จอมพลเจียง ไคเช็ก ผู้นำจีน เมื่อเดือนมิถุนายน 2486 ได้มีส่วนช่วยเสริมท่าทีร่วมของจีนและสหรัฐ ต่อการช่วยรับรองสถานะเอกราชของไทยภายหลังสงคราม (3) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2486 นายปรีดีได้มอบหมายให้คณะของนายสงวน ตุลารักษ์ ลักลอบเดินทางไปนครจุงกิงเพื่อติดต่อกับคณะของนายจำกัด โดยได้รับมอบหมายให้ยืนยันความประสงค์ของไทยในการร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามขับไล่กำลังทหารญี่ปุ่นออกจากประเทศด้วย

คำกล่าวเปรียบเทียบว่าไทยเป็น “ฟินแลนด์แห่งตะวันออก” เมื่อปี 2488 จึงอาจเป็นข้อสังเกตที่ชี้ถึงความเข้าใจของอังกฤษเกี่ยวกับความคล้ายคลึงกันระหว่างแผนการยุติความร่วมมือกับฝ่ายอักษะของไทยและฟินแลนด์ รวมถึงการดำเนินนโยบายที่คล้ายคลึงของสหรัฐต่อทั้งสองประเทศด้วย แผนการที่คล้ายคลึงกันดังกล่าวได้ช่วยให้ไทยและฟินแลนด์เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถรักษาเอกราชไว้ได้ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ถึงแม้ว่าเคยให้ความร่วมมือกับฝ่ายอักษะมาก่อนก็ตาม โดยได้เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองความตกลงเลิกสถานะสงครามกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย สำหรับไทย การดำเนินการของขบวนการเสรีไทยได้ช่วยให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นผู้แพ้สงครามในทางนิตินัย และเป็นผลดีต่อการเจรจาต่อรองสถานภาพของประเทศภายหลังสงคราม ตลอดจนช่วยปูทางให้ไทยสามารถเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติได้ในปี 2489 เป็นประเทศแรกจากบรรดาประเทศที่เคยมีสถานะสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร สำหรับฟินแลนด์ ถึงแม้ว่าได้ถูกปรับให้เป็นหนึ่งในผู้แพ้สงครามตามสนธิสัญญาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร (Paris Peace Treaties) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2490

แต่การดำเนินการดังกล่าวได้ช่วยลดหย่อนค่าปฏิกรรมสงคราม และช่วยคงเอกราชของฟินแลนด์ไว้จนครบรอบ 100 ปีในปีนี้

สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างฟินแลนด์กับฝ่ายสัมพันธมิตร และความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงครามระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลบริเตนใหญ่ฯ และอินเดีย [treaties.fco.gov.uk]
มานากรณ์ เมฆประยูรทอง ผู้ค้นพบข้อความในบันทึกลับ

เอกสารอ้างอิง (ฉบับย่อ)

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. (2549). เพื่อชาติ เพื่อ humanity : ภารกิจของวีรบุรุษเสรีไทย จำกัด พลางกูร ในการเจรจากับสัมพันธมิตร. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2549). ประวัติการเมืองไทย 2475-2500. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ดิเรก ชัยนาม. (2560). ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 5. นนทบุรี : ศรีปัญญา.

ทศ พันธุมเสน และ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร. (2544). จากมหาสงครามสู่สันติภาพ. กรุงเทพฯ : ธนาเพรส แอนด์ กราฟฟิค.

“นายฉันทนา”. (2544). X.O.Group เรื่องภายในขบวนเสรีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 4. [กรุงเทพฯ] : กระท่อม ป.ล.

ปรีดี พนมยงค์, 2443-2526. (2558). โมฆสงคราม : บันทึกสัจจะประวัติศาสตร์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิปรีดี พนมยงค์.

ภูริ ฟูวงศ์เจริญ. (บรรณาธิการ). (2558). 70 ปี วันสันติภาพไทย : ความรู้ ความทรงจำ ประวัติศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร และเริงไชย พุทธาโร. (2546). ตำนานเสรีไทย. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

ศรัญญู เทพสงเคราะห์. (2555). คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระบอบใหม่ พ.ศ. 2475-2494 : ที่มา แบบแผน และการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 33. หน้าที่ 72-101.

ศรศักร ชูสวัสดิ์. (2556). เบื้องหลังคำแนะนำของอังกฤษให้ไทยประกาศสันติภาพ. ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, ไทยกับนานาชาติ, หน้าที่ 144-184. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์.
สมยศ เพชรา. (2547). เสรีไทย (2484-2488) ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตยของชาติ : การศึกษาภาพรวมของขบวนการ ด้วยทัศนะทางประวัติศาตร์สังคม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : เมฆขาว.

สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ. (2555). ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวของการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สันติสุข โสภณสิริ. (บรรณาธิการ). (2543). เอกราชได้มาด้วยการต่อสู้. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ภาคเอกชน.

Aldrich, R. (1993). The Key to the South : Britain, the United States, and Thailand during the Approach of the Pacific War, 1929-1942. Kuala Lumpur ; Oxford ; New York : Oxford University Press.

Allison, R. (1985). Finland’s Relations with the Soviet Union, 1944-84. London : Macmillan in association with St Antony’s College, Oxford.

Hanhimäki, J. (1997). Containing Coexistence : America, Russia and the “Finnish Solution”. Kent, Ohio ; London: Kent State University Press.

Kinnunen, T., & Kivimäki, Ville. (2011). Finland in World War II : History, Memory, Interpretations. Leiden : Biggleswade : Brill ; Extenza Turpin.

Lunde, H. (2011). Finland’s War of Choice : The Troubled German-Finnish Coalition in WWII. Havertown, Pa. : Casemate.

Nenye, V., Munter, Peter, Wirtanen, Toni, & Birks, Chris. (2016). Finland at War : The Continuation and Lapland Wars 1941-45.

Österberg, M., Östling, Johan, & Stenius, Henrik. (2011). Nordic Narratives of the Second World War : National Historiographies Revisited. Lund, Sweden : Nordic Academic Press.

Penttilä, R. (1991). Finland’s Search for Security through Defence, 1944-89. Basingstoke : Macmillan.

Polvinen, T., Kirby, D. G, & Herring, Peter. (1986). Between East and West : Finland in International Politics, 1944-1947. Minneapolis : University of Minnesota Press.

Reynolds, E. (2005). Thailand’s Secret War : The Free Thai, OSS and SOE during World War II. Cambridge ; New York : Cambridge University Press.

Tarling, N. (1998). Britain, Southeast Asia and the Onset of the Cold War, 1945-1950. Cambridge : Cambridge University Press.

Vehviläinen, O. (2002). Finland in the Second World War : Between Germany and Russia. Basingstoke : Palgrave.

Wuorinen, J. (1983). Finland and World War II, 1939-1944. Westport, Conn. : Greenwood Press.

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image