‘เอนก’เชิญนักการเมืองให้ความเห็น มั่นใจ 5 ปีปฏิรูปการเมืองเห็นผล ขรก.ไม่ทำตามมีโทษ

“เอนก”มั่นใจ 5 ปีปฏิรูปการเมืองเห็นผล เผยเชิญนักการเมืองให้ความเห็นเพราะเป็นฝ่ายบริหารในอนาคต ด้าน “นิกร” คอมเมนต์ 5 ประเด็นปฏิรูปยังไม่เพียงพอ ย้ำต้องปรองดองก่อนเลือกตั้ง

เมื่อ‪เวลา 13.00 น.‬ ที่สภาพัฒนาการการเมือง มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน โดยวันนี้เป็นวันแรกที่มีการเชิญนักการเมืองมาให้ความคิดเห็น ทั้งนี้ นายเอนกให้สัมภาษณ์ถึงการเชิญนักการเมืองมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองว่า การเชิญนักการเมืองมาเพราะไม่ใช่คนที่ต้องทำตามแผน แต่วันข้างหน้าจะเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง การปฏิรูปการเมืองไม่ได้สิ้นสุดแค่วันเลือกตั้ง โดยการจัดทำแผนไม่ได้เริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะรัฐบาลทำมาแล้วส่วนหนึ่ง สนช.ออกกฎหมายแล้วหลายฉบับ กรธ.มีการยกร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายฉบับ ดังนั้น การปฏิรูปในร่างแรกคาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม หลังจากนั้นจะส่งให้กับคณะกรรมการปฏิรูปทุกชุดให้พิจารณาว่าเนื้อหาขัดกับแผนปฏิรูปด้านอื่นหรือไม่ แล้วจะนำมาปรับ ก่อนส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติฯ ครม.และสภาพิจารณา ทุกอย่างจะเรียบร้อยภายในเดือนเมษายน ส่วนการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมตามแผนจะเขียนผูกมัดให้หน่วยราชการ โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการติดตามว่าหน่วยงานของรัฐทำตามแผนหรือไม่ หากไม่ทำอาจจะต้องถูกลงโทษ ส่วนหน่วยงานอื่นจะประสานให้ดำเนินการเช่นกัน รัฐบาลมีหน้าที่จัดงบประมาณให้เพียงพอ คณะกรรมการชุดนี้จะใช้งบประมาณที่เหมาะสม และจะคอยติดตามและประเมินผลด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่า 5 ปีจะเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม หลายเรื่องอาจใช้เวลาในการปฏิรูป ไม่สามารถทำสำเร็จได้ในครั้งแรกอย่างเรื่องการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชน แต่บางเรื่องสามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วอย่างไรไพรมารีโหวตในการเลือกตั้ง เราอยากทำให้การเลือกตั้งครั้งที่ 1 ที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นการเลือกตั้งเพี่อปฏิรูปการเมือง

ขณะที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ก่อนที่จะให้ความเห็นต่อคณะกรรมการปฏิรูปฯคงต้องหารือว่าการปฏิบัติตามแผนที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องทำภายใน 5 ปี ซึ่ง 5 ปีนี้เป็น 5 ปีของการเปลี่ยนผ่าน แต่การเมืองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหลังจาก 5 ปีนี้ การจะนับความสัมฤทธิ์ตามแผนจะนับอย่างไร รวมทั้ง 5 ประเด็นปฏิรูปของคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง เป็นเป้าหมายที่เพียงพอต่อการปฏิรูปหรือไม่ ตนมองว่ายังไม่พอ อย่างเรื่องการกระจายอำนาจ ซึ่งไม่อยู่หมวดปฏิรูป แต่ควรทำ เพราะเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถ้าทำแล้วจะเกิดความทับซ้อนกับการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่ นอกจากนี้ เรื่องการทำงานที่ควรทำเรื่องใดก่อน ต้องหารือกันก่อน เช่น การเลือกตั้งกับการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือรัฐกับธรรมาธิปไตย ซึ่งตนเห็นว่าควรให้สำคัญกับประชาชนมีส่วนร่วมก่อนเพราะจะทำให้เกิดการเลือกตั้งสุจริต ไม่ซื้อเสียง แต่หากทำเรื่องการเลือกตั้งที่สุจริตก่อนจะกลายการทำจากหลังไปหน้า หรือเรื่องการสร้างรัฐธรรมาธิปไตย ตนก็ยังไม่เข้าใจ ขณะเดียวกันเรื่องปรองดองควรทำก่อนการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีการปรองดอง การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเลือกตั้งมีปัญหา การฟอร์มรัฐบาลมีปัญหา ประชาชนจะมีความรู้สึกที่ดีต่อการเมืองได้อย่างไร ทุกอย่างเหมือนโดมิโน ถ้าล้มไปข้างหลังก็ทับกลับหลัง ซึ่งการปรองดองมีสองประเด็นคือปรองดองอย่างไร และปรองดองเมื่อไหร่ แต่ไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองจะปะทะกันตอนเลือกตั้ง ความปรองดองจึงต้องทำก่อน

นายนิกรกล่าวถึงเรื่องการปลดล็อกให้พรรคการเมืองว่า ขณะนี้พรรครอหนังสือตอบกลับจาก กกต.ในส่วนที่พรรคสอบถามไป เบื้องต้นให้รอง ผอ.สรุปคำตอบที่ กกต.ตอบพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ที่เป็นห่วงขณะนี้คือระยะเวลาที่มาตรา 141 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองซึ่งกำหนดให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคภายใน 90 วัน ใกล้จะครบกำหนด‪ในวันที่ 5 มกราคม ‬61 แต่มีการพูดถึงการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งตนไม่อยากให้มีการแก้ เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในกฎหมาย 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ขณะนี้เหลือ 2 ฉบับที่อยู่ในชั้นการพิจารณา หากแก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จะหมายความว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่เสร็จ 1 ฉบับ ก็มีความเป็นไปได้ที่ทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป ดังนั้น ปลดล็อกช้าหรือเร็วมีผลต่อพรรคการเมือง

Advertisement

เมื่อถามว่าห่วงหรือไม่ที่ คสช.อาจจะให้มีการรีเซตสมาชิกพรรคว่า เรื่องรีเซตเคยคุยกันแล้วตอนร่างกฎหมายว่าสมาชิกพรรคไม่ได้มีความผิด จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการรีเซต เพราะถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งก็เห็นตรงกันหมดทุกฝ่าย แล้วมาวันนี้จะย้อนไปตรงนั้นทำไม แล้วถ้าทำก็จะเป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองวางกรอบไว้ประกอบด้วยประเด็นในการปฏิรูป 5 เรื่อง คือ 1.การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ 2.การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย 3.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 4.กลไกการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย และ 5.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image