กรมศิลป์แจ้ง กต.ทำหนังสือถึงสหรัฐ ยันวัตถุโบราณ 14 รายการในพิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลูเป็นของไทย

 

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (พช.) พระนคร นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ว่า อนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ไทย ที่มีนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีที่สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐอเมริกา ประสานงานขอความร่วมมือให้ทางประเทศไทยตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย จำนวน 17 รายการ ว่าเป็นของที่มีต้นกำเนิดอยู่ในไทยหรือไม่

นายวีระกล่าวว่า จากการตรวจสอบ พิสูจน์ และวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าใน 17 รายการ เป็นวัตถุโบราณที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 14 รายการ อาทิ 1.กระดึงสำริด พบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 1,500-2,000 ปี โดยได้นำมาเทียบกับกระดึงสำริดยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่พบในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่นที่ จ.ลพบุรี และ จ.อุบลราชธานี 2.พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย เป็นลักษณะเฉพาะที่นิยมทำในศิลปะไทยสมัยอยุธยาตอนกลาง สกุลช่างกำแพงเพชร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 เทียบได้กับพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา และเมืองในพระราชอาณาจักร เช่น กำแพงเพชร 3.พระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิบนฐาน 3 ขา อันเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะไทยสมัยอยุธยา สกุลช่างกำแพงเพชร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 เทียบกับพระพุทธรูปประทับบนฐาน 3 ขาที่พบใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.กำแพงเพชร และ 4.พระพุทธรูปนาคปรก จัดอยู่ในศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18 เทียบได้กับพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะลพบุรี พบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย เช่น จ.สุพรรณบุรี จ.นครราชสีมา เป็นต้น

นายวีระกล่าวอีกว่า ส่วนโบราณวัตถุที่เหลืออีก 3 รายการ ที่ไม่พบว่ามีแหล่งกำเนิดไทย ได้แก่ 1.พระคเณศ 2.เศียรพระพุทธรูป และ 3.ประติมากรรมรูปบุรุษ โดยที่ประชุมมอบให้กรมศิลปากรจัดทำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อนำส่งไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิฯ ต่อไป

Advertisement

นายวีระกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าการศึกษาข้อมูลการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ในกลุ่มประโคนชัย (กลุ่มปลายบัด) จ.บุรีรมย์ 22 รายการ พบว่า เป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในไทย และส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีรายการโบราณวัตถุ 133 รายการ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ และสถาบันการศึกษาในสหรัฐ ซึ่งไทยจะประสานเพื่อติดตามกลับคืน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ องค์ประกอบโบราณสถาน 6 รายการ ได้แก่ 1.ทับหลังรูปพระอินทร์ประทับนั่งเหนือหน้ากาล 2.เสาติดกับผนัง 3.เสาติดกับผนัง 4.ทับหลังแสดงภาพเล่าเรื่องรามายณะ ตอนกุมภกรรณเข้าสู่สนามรบ 5.ประติมากรรมรูปม้า และ 6.ทับหลังแสดงรูปภาพบุคคลเหนือแนวหงส์ ส่วนที่ 2 คือ กลุ่มประโคนชัย 16 รายการ เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์ไมเตรย พระพุทธรูปยืน เป็นต้น นอกจากนี้ อนุกรรมการด้านกฎหมายฯ เสนอให้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการจากรัฐบาลไทยไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิฯ เพื่อติดตามวัตถุโบราณของไทยในสหรัฐกลับคืนสู่ไทย คือ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว

“ล่าสุดสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิฯ ยังประสานให้ไทยตรวจสอบภาพถ่ายโบราณวัตถุที่สงสัยว่าเป็นของไทยเพิ่มอีก 69 รายการ เป็นโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ทั้งหมดที่จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ เช่น กำไรสำริด ลูกกระพรวนสำริด กระดึงสำริด ขวานสำริด ภาชนะดินเผ่าลายเขียนสี เป็นต้น จากนี้จะมอบให้อนุกรรมการด้านวิชาการฯ ตรวจสอบโบราณวัตถุเหล่านี้ว่ามีถิ่นกำเนิดในไทยหรือไม่ และแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบต่อไป การดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ เป็นไปตามหลักความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และหลังจากการประชุมครั้งนี้ ทางคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ จะสรุปผลการประชุมเพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป” นายวีระ กล่าว

นายวีระกล่าวอีกว่า ขณะนี้ถือว่าอยู่ในกระบวนการตรวจพิสูจน์ หากมีความชัดเจนแล้วจะเข้าสู่การส่งมอบต่อไป อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องส่งมอบภายในเมื่อใด แต่คิดว่าทางสหรัฐจะเร่งดำเนินการ เพราะปี 2561 จะครบรอบฉลองความสัมพันธ์ 200 ปี ไทย-สหรัฐ อีกทั้ง เรายังเห็นความจริงใจของสหรัฐ เพราะเป็นคนส่งรายละเอียดมาให้ไทยได้ยืนยัน ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบจัดทำหลักเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญในการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยมีหลักคือเป็นโบราณวัตถุที่มีการลักลอบนำออกจากไทยโดยผิดกฎหมาย เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และเป็นโบราณวัตถุที่มีผลกระทบต่างความเชื่อ ความศรัทธาของประชาชนชาวไทย

นายอนันต์ กล่าวว่า กระบวนการพิสูจน์ว่าเป็นโบราณวัตถุของไทย คือจะต้องตรวจสอบในเชิงวิชาการให้ได้ว่าโบราณวัตถุที่ได้รับแจ้งมามีแหล่งกำเนิดในไทยหรือไม่ จากนั้นต้องส่งข้อมูลชี้แจงให้ทางสหรัฐเห็นว่าโบราณวัตถุนั้นมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และถูกนำออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย จากนี้อนุกรรมการด้านวิชาการฯ จะเร่งจัดทำรายละเอียด 24 รายการ คือ กลุ่มประโคนชัย (กลุ่มปลายบัด) จ.บุรีรัมย์ 22 รายการ และทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ ทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว เพื่อส่งให้ กต.ส่งไปยังสหรัฐ ว่าโบราณวัตถุเหล่านี้มีแหล่งกำเนิดในไทย และถูกส่งออกนอกประเทศอย่างผิดกฎหมาย เข้าสู่ขั้นตอนการส่งมอบคืนต่อไป ส่วนจะส่งคืนได้เมื่อใดนั้น ไม่สามารถบอกระยะเวลาที่ชัดเจนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image