เอดส์ไทยในอนาคต : เฉลิมพล พลมุข

สังคมไทยได้เรียนรู้และมีประสบการณ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์มามากกว่าสามทศวรรษ ในช่วงแรกของการมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเมืองไทยเรา ประชาชนชาวบ้าน บุคลากรในวิชาชีพด้านสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ พระสงฆ์ แม้กระทั่งนักการเมืองของประเทศ ก็ยังมิได้เตรียมความพร้อมในการรับต่อปัญหาทั้งการดูแลรักษา การอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์กันอย่างสันติสุข แม้นกาลเวลาผ่านมาถึงในวันนี้ สถานการณ์ด้านเอดส์ยังคงมีปัญหาอีกหลากหลายด้านที่ยังคงอยู่ เพียงแต่ว่าความสนใจทั้งผู้คนทั้งหลายอาจจะให้ความสำคัญน้อยลงไปบ้างในบางช่วงขณะ

องค์การสหประชาชาติได้มีการสำรวจข้อมูลของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ทั่วโลก ขณะนี้มีจำนวน 36.7 ล้านคน ประเทศรัสเซียมีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวและมีการพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีแล้ว 1,087,399 ราย ประเทศอินเดียมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณสองล้านคนเศษ และประเทศจีนซึ่งมีประชากรมากกว่า 1.36 พันล้านคน มีผู้ติดเชื้อที่พบแล้ว 810,000 คน ขณะเดียวกันก็มีแนวทางนโยบายลดการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ของแต่ละประเทศก็ถูกตั้งเป้าไว้ปีละไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตจากการเป็นเอดส์ปีละไม่เกิน 4,000 คน และลดการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี การป่วยด้วยโรคเอดส์ และเพศภาวะลงในร้อยละ 90

ข้อมูลหนึ่งที่ผ่านมา ในปี ค.ศ.2000 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสไม่ถึงหนึ่งล้านคน ในปี 2015 มีผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัส 77 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2016 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกได้รับยาต้านไวรัส 18.6 ล้านคน และคาดว่าในปี ค.ศ.2020 จะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับยาต้านไวรัสประมาณ 30 ล้านคน สำหรับตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในปี ค.ศ.2015 มีจำนวน 2.1 ล้านคน และคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีร้อยละ 40 หรือประมาณ 14 ล้านคน ยังไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี มิได้รับยาต้านไวรัสและเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาสุขภาพ

สำหรับเมืองไทยเราเมื่อปีที่แล้ว พ.ศ.2559 พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่ 6,304 คน ขณะเดียวกันก็พบว่าทุกๆ 1 ชั่วโมง จะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 1 คน มีคนเสียชีวิตจากโรคเอดส์ 2 คน และพบว่ามีผู้ป่วยเอดส์เสียชีวิตปีละ 1.5 หมื่นคน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่พบในกลุ่มชายรักชายร้อยละ 53 เป็นการติดเชื้อของคู่สามี-ภรรยา ร้อยละ 30 และในกลุ่มผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกันพบร้อยละ 5 โดยกรมควบคุมโรคเอดส์ฯ กระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายในปี พ.ศ.2579 หรืออีก 18 ปีข้างหน้า จะต้องมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ปีละไม่เกินหนึ่งพันคน…

Advertisement

ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเมืองไทยเรา เมื่อสิ้นปี พ.ศ.2559 พบว่ามี 427,332 คน เป็นผู้ชาย 249,025 คน ผู้หญิง 178,307 คน อายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 424,111 คน ผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสที่มีข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อมูลถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 มีจำนวน 265,525 คน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ยังมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทยยังไม่เข้าสู่ระบบยาต้านไวรัส หรือมิได้เข้ากระบวนการดูแลรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะมีคำถามที่ว่า เหตุใดผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ หรือว่าเขาเหล่านั้นมีวิถีชีวิตเป็นเช่นไร…

ข้อเท็จจริงหนึ่งในตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในระดับโลกก็ยังคงมิได้ลดลงไปตามเป้าหมายที่หน่วยงานระดับโลกได้ตั้งตามความคาดหมายเอาไว้ ทั้งๆ ที่สถานการณ์เอดส์ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือการเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ถูกค้นพบมามากกว่าสี่ทศวรรษ บุคลากร ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการแพทย์สมัยใหม่ หน่วยงานทั้งองค์กรระดับประเทศและระดับโลกต่างก็พยายามกันทุกวิถีทางเพื่อที่จะยุติปัญหาเอดส์ให้หมดไปจากโลก วันเวลาที่ผ่านมาต่างก็มีคำถามมากมายที่ว่าเหตุใดยังไม่มียาหรือวัคซีนที่หยุดการแพร่กระจายของโรคเอดส์ให้หายหรือหมดไปจากโลกได้

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนาเอดส์ระดับชาติ หรือเอดส์ระดับโลก สิ่งที่พบเห็นก็คือแต่ละหน่วยงาน องค์กร สถาบันต่างก็นำเสนอตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ทั้งในระดับประเทศของตนและระดับโลก การแพร่ระบาดด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ การรณรงค์ป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย การรวมตัวของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการทำกิจกรรมช่วงประชุมสัมมนา การดูแลรักษาทั้งการแพทย์สมัยใหม่และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เท่าที่แต่ละประเทศมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อที่จะช่วยชีวิตเขาเหล่านั้นให้บรรเทาความทุกข์จากโรคที่ป่วย หรือความวิตกกังวลของญาติและครอบครัว

Advertisement

หลังเสร็จสิ้นการประชุมสัมมนาในหลายครั้งครา ข่าวหรือข้อมูลในแวดวงเอดส์ก็จะไม่ถูกนำเสนอในสังคมอีกเป็นเวลานาน ผู้คนในสังคมบางคนถึงกับมีคำถามที่ว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ยังคงมีอยู่ทั้งในสังคมไทยหรือในสังคมโลกต่อไปอีกหรือไม่ หรือว่าเขาเหล่านั้นมีวิธีการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร…

เมืองไทยเราได้มีการค้นพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายแรกในปี พ.ศ.2527 หลังจากนั้นมาสังคมไทยก็ได้เรียนรู้ ใกล้ชิด สัมผัสกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเอดส์ หน่วยงานทั้งของรัฐ เอกชน รวมไปถึงรัฐบาลก็ต่างให้ความสนใจในปัญหาดังกล่าวอยู่ในระดับหนึ่ง ในรอบปีหนึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้เข้าถึงระบบการดูแลรักษาพยาบาล อาทิ มีการกำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (Voluntary Counselling and Testing Day : VCT Day) โดยมีกิจกรรมให้คำปรึกษา ประเมินพฤติกรรมเสี่ยง ตรวจรับทราบผลเลือด ทักษะในการป้องกัน โดยมีคำขวัญในการรณรงค์ว่า “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์”

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) โดยมีสัญลักษณ์เป็นโบว์สีแดง (Red Ribbon) ที่แสดงถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยมีคำขวัญวันเอดส์โลกในปีแรกคือ พ.ศ.2531 ที่ว่า (Communication about AIDS : เอดส์ป้องกันได้ หากร่วมใจกันทั่วโลก) และปี พ.ศ.2557 มีคำขวัญวันเอดส์โลกที่ว่า “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา : ร่วมยุติปัญหา เอดส์และเพศสัมพันธ์” โดยมีหน่วยงานทั้งขององค์กรเอกชน รัฐบาลทั้งระดับประเทศและระดับโลกต่างก็ให้ความสำคัญในวันดังกล่าว ซึ่งมีกิจกรรมทั้งการให้ความรู้ การรณรงค์ป้องกัน การดูแลรักษา การอยู่ร่วมกันในครอบครัวและสังคม

ตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเมืองไทยเราและระดับโลก ยังคงเพิ่มขึ้นในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงชายรักชาย ทั้งในสังคมปกติและสังคมที่มีความซับซ้อน อาทิ ในเรือนจำหรือสถานที่คุมขังต้องโทษ นักบวชบางคนในศาสนา ไม่รวมพฤติกรรมที่ถูกนำเสนอในสื่อของรอบปี อาทิ การเป็นกิ๊กหรือชู้ การนอกใจของคู่สมรส การนิยมมีเพศสัมพันธ์แบบสวิงกิ้ง การตรวจจับสถานที่บริการทางเพศ และอายุของผู้ขายบริการที่ผิดกฎหมาย การมีชาวต่างด้าวทั้งลาว เขมร พม่า จีน ฝรั่งบางชาติเข้ามาขายบริการแทบทุกจังหวัดของเมืองไทย อาจจะรวมไปถึงพฤติกรรมที่เสพสารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นในผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือรับเชื้อจากวิธีการอี่น…

ในแวดวงของแพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วเมืองไทยเราขณะนี้ระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์อยู่ในระดับดีถึงดีมาก ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับอุบัติเหตุทางการแพทย์ทั้งการฉีดยา ผ่าตัดทั้งมะเร็ง สมอง หัวใจ โรคทางช่องท้องและอุบัติเหตุในผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมไปถึงการรับเชื้ออื่นๆ ไปด้วย เช่น วัณโรคปอด เชื้อราบางประเภท ที่บุคลากรเหล่านั้นต้องพักดูแลรักษาตนเองก่อนในอันดับแรก

ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเมืองไทยเรายังคงมีความสลับซับซ้อนทั้งในแวดวงการใช้แรงงาน ข้อเท็จจริงหนึ่งของสังคมไทยในขณะนี้แรงงานระดับล่างส่วนใหญ่มาจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงบ้านเรา เขาเหล่านั้นมาตั้งชุมชน มีแหล่งธุรกิจทำมาค้าขายของตนเอง พฤติกรรมทางเพศก็ยังคงเดิม ก็คือบางคนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย บางคนนิยมชีวิตคู่ในเพศเดียวกัน การใช้สารเสพติดยังคงมีการแพร่กระจายกันอย่างกว้างขวาง ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีการจับกุมในจำนวนที่มากมายในรอบปี…

การขายบริการทางเพศอย่างหลากหลายยังคงอยู่ในสังคมไทยทั้ง ซ่อง บาร์ คาราโอเกะ ผับ เธค การขายบริการของบาร์เกย์ ไซด์ไลน์ทางโทรศัพท์ ไม่อาจจะนับรวมในการขายบริการของนักศึกษาบางคนที่กำลังศึกษาเล่าเรียน เพื่อตอบสนองในวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม การตั้งท้องของนักศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาชีวะและมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า คุณแม่วัยใส ยังคงมีตัวเลขที่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลบางยุคสมัยก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว

วัยรุ่นไทยยุคนี้ทั้งชายและหญิงบางคนนิยมทำศัลยกรรมใบหน้า หน้าอก อวัยวะเพศ บางคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีก็อาจจะไปใช้บริการยังต่างประเทศที่นิยมกัน บางคนมีเงินทองจำนวนจำกัดก็อาจจะใช้บริการในเมืองไทยเรา ข่าวที่ถูกนำเสนอที่ผ่านมาก็มีการผ่าตัดแล้วเสียชีวิตจากสถานบริการที่ผิดกฎหมาย ไม่อาจจะนับรวมที่ได้รับพฤติกรรมเสี่ยงจากการผ่าตัดโดยอาจจะรับเลือดที่มิได้มีการคัดกรองด้วยระบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ดี…

รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายที่จะปฏิรูปประเทศในประเด็นต่างๆ ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่มีมากกว่าสามล้านคนนอกจากการใช้แรงงานในอาชีพที่ถูกกฎหมายแล้วบางคนยังแฝงมาในรูปแบบของการขายบริการทางเพศและยาเสพติดที่ผิดกฎหมายร้ายแรงของประเทศ การใช้มาตรา 44 ของรัฐบาลหลากหลายปัญหาดูเสมือนว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันปัญหาของผู้ขายบริการทั้งชายหญิงดูเสมือนว่าจะถูกละเลย ความเสี่ยงของการแพร่กระจายของเชื้อโรค การเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ยังคงเป็นปัญหาการรักษาพยาบาลในแวดวงของกระทรวงสาธารณสุขทั้งงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลจากภาษีของประชาชน จำนวนบุคลากรเจ้าหน้าที่ที่ต้องจัดไปดูแลเขาเหล่านั้น รัฐบาลมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวมีความชัดเจนแค่ไหนเพียงไร…

คณะกรรมการเอดส์ระดับชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการฯ โดยตำแหน่งหากจะใช้โอกาสและวาระนี้ในการปฏิรูปองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มิอาจจะสายไป โดยบุคลากรในรัฐบาลที่มีความเชี่ยวชาญและรอบรู้ในเรื่องของตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ระดับประเทศมีจำนวนหนึ่งแล้ว การที่ประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีอนาคตเพื่อส่งต่อลูกหลานต่อไป ผู้นำจะต้องไม่ละเลยปัญหาที่เป็นหญ้าปากคอกเนื่องด้วยผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์บางคนมีศักยภาพความรู้ ความสามารถในชีวิตในการช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจของชาติและการพัฒนาชาติบ้านเมือง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เป็นองค์อุปถัมภ์ของศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ครั้งหนึ่งในงานประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ได้บรรยายพิเศษหัวข้อเรื่อง “20 ปีกับการทรงงานด้านเอดส์” ณ ห้องประชุมตรีเพ็ชร อาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 15 โรงพยาบาลศิริราช ตอนหนึ่งว่า…

“เริ่มจากเมื่อปี พ.ศ.2535 ข้าพเจ้าได้ไปยัง รพ.ราชวิถี เพื่อไปพบแพทย์ที่ช่วยงานด้านเอชไอวี ก็ได้พบหญิงตั้งครรภ์ 6 เดือน ซึ่งติดเชื้อเอดส์ หมอบอกว่าต้องทำแท้ง ผู้หญิงคนนั้นเสียใจมาก ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกเศร้าเสียใจเพราะข้าพเจ้าเคยมีลูก เข้าใจหัวอกของคนเป็นแม่ที่ตั้งครรภ์ดี แต่สมัยนั้นยังไม่มียารักษาโรคเอดส์ ต้องทำแท้งอย่างเดียว…”

จากนั้นก็ได้ริเริ่มโครงการเทียนส่องใจในปี พ.ศ.2535 มีโครงการลดการติดเอดส์จากแม่สู่ลูก มีการให้ยาเอเซดทีแก่หญิงที่ตั้งครรภ์ มีโครงการคืนชีวิตให้พ่อแม่เพื่อลูกน้อยที่ปลอดเอดส์ กองทุนนมสำหรับเด็กที่คลอดจากแม่ที่ติดเชื้อ และได้ฝากข้อคิดที่ว่า “อยากให้คนไทยกล้าที่จะไปตรวจสุขภาพว่าตนเองเป็นเอดส์หรือไม่ จะได้รักษาอย่างถูกต้องและไม่ไปแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น…”

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image