นายกฯลงพื้นที่ ตรวจเยี่ยม EEC อาชีวะ สร้างคนตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษ จ.ชลบุรี ณ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยมีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้บริหารสถานประกอบการ ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า นักเรียน และนักศึกษา จ.ชลบุรีร่วมให้การต้อนรับกว่า 3,000 คน โดยนายสุเทพ เลขาธิการ กอศ.กล่าวรายงานผลการดำเนินงานจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ตอนหนึ่งว่า สอศ.เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพ ทั้งในระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี ได้จัดทำแผนแม่บท คือ แผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ.2560-2579 โดยวิเคราะห์ สังเคราะห์ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560-2579 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและขับเคลื่อนการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาของประเทศ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนากำลังคนตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน โดยมีวิสัยทัศน์ คือ “ผู้สำเร็จการศึกษาจากอาชีวศึกษาและผ่านการฝึกอบรมวิชาชีพ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรม คุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ” ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้จัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาต่างๆ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC โดย สอศ.ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 หน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) ต่อมาได้นำแผนพัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ.2560-2564) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และได้มีมติเห็นชอบแผนงานและวงเงินงบประมาณ จำนวน 619.4 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา

เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอศ.ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา จำนวนรวม 13 ศูนย์ ร่วมกันวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคน ซึ่งจะทำงานแบบบูรณาการ ประสานพลังประชารัฐ ทำงานร่วมกับสถานประกอบการ ร่วมกันสร้างเด็กอาชีวะที่มีคุณภาพ มีความสามารถด้านวิชาชีพ ส่วนการผลิตและพัฒนากำลังคนนั้น มีการกำหนดแผนระยะเวลา 5 ปี คือ ปี 2560-2564 โดยมีเป้าหมายการผลิตกำลังคน จำนวน 194,675 คน เน้นการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย First S-Curve และ New S-Curve เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลและท้องถิ่น ซึ่งเป็นความต้องการของตลาดแรงงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image