อัยการยื่นศาลฎีกานักการเมืองฟื้นคดีทักษิณ เหตุ ป.วิอาญานักการเมืองเเก้ไขใหม่พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ถนนเเจ้งวัฒนะ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เดินทางมายื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองดำเนินการพิจารณาคดี ที่กล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยกับกลุ่มกฤษดามหานคร เเละสำนวนที่กล่าวหาทุจริตการออกกฎหมาย เเปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เเละมือถือ เป็นภาษีสรรพสามิต ที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจากไม่มีตัวจำเลย

นายชาติพงษ์ จีระพันธุ ขณะยื่นคำร้อง

นายชาติพงษ์กล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองได้มีการเเก้ไขบทบัญญัติให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลย (ลับหลัง) ได้ เมื่อออกหมายจับ 3 เดือนเเล้วยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ตนในฐานะอัยการคดีพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด จึงเดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลดังกล่าว โดยคำร้องดังกล่าวมีความยาวประมาณ 5-6 หน้า บรรยายถึงเหตุผลในการร้องขอให้มีการพิจารณาคดีจากที่ถูกจำหน่ายไว้ชั่วคราวเนื่องจากมีการเเก้ไขกฎหมายใหม่

ต่อมา เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 303 สำนักงานอัยการสูงสุด นายวันชาติ สันติกุญชร โฆษกอัยการสูงสุด แถลงมติรื้อคดีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลัง พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 (วิ อม.) ได้มีการเเก้ไขบทบัญญัติให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลย (ลับหลัง) มีผลบังคับใช้แล้ว คณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี ที่ดำเนินการโดย คตส. และ ป.ป.ช. ที่มีนายพรศักดิ์ ศรีณรงค์ รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะทำงาน จึงได้ตรวจสอบคดีของอดีตนักการเมืองที่อยู่ในคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วพบว่ามีคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลไว้แล้วสองสำนวน คือคดีหมายเลขดำ อม.9/2551 ที่กล่าวหาทุจริตออกกฎหมายแปลงสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดี อม. 3/2555 ที่กล่าวหาร่วมทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทย ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งทั้งสองคดีศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยหลบหนี โดยคณะทำงานได้มีความเห็นเสนอต่อนายเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดได้เห็นพ้องกับคณะทำงาน ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ เพื่อขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวทั้งสองสำนวนดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้านายทักษิณ จำเลย ตาม วิ อม.มาตรา 28, 69, 70 ซึ่งวันนี้ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้ยื่นคำร้องแล้ว หลังจากนี้ต้องรอฟังคำสั่งของศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร

ส่วนการติดตามตัวนายทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งสองที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดีที่ศาลพิพากษาแล้วนั้น ยังไม่มีข้อมูลระบุว่าอยู่ที่ใด

Advertisement

อย่างไรก็ตาม หลังจากอัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังต่อไปนั้น นายทักษิณสามารถแต่งตั้งทนายเข้ามาร่วมการพิจารณาในครั้งนี้ได้ ส่วนเรื่องพยานหลักฐานที่จะไต่สวนนั้นเป็นเรื่องในสำนวนคดี พร้อมย้ำว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปตาม วิ อม. ใหม่ ซึ่งไม่ได้พุ่งเป้าว่าจะดำเนินการเฉพาะเจาะจงกับนายทักษิณ

ส่วนประเด็นในเรื่องอายุความ ทางคดีศาลก็เป็นประเด็นที่ศาลจะพิจารณาต่อไปด้วย

นายวันชาติกล่าวภายหลังอีกว่า สำหรับคดีของนายทักษิณ ถือเป็นคดีเเรกหลังจากมีการเเก้ไขบทบัญญัติของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมืองให้สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่มีตัวจำเลยหรือลับหลังได้ ก็ต้องดูว่าศาลจะมีการพิจารณาอย่างไรเพราะเป็นข้อกฎหมายที่ศาลจะมีอำนาจพิจารณา แต่การที่อัยการได้ยื่นคำร้องไปเนื่องจากพิจารณาเเล้วเห็นว่าเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยไม่ใช่หลักสาระบัญญัติ เเละเห็นว่ากระทำได้ตามกฎหมายจึงยื่นคำร้องไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image