คอลัมน์ Think Tank: เส้นแบ่งความยากจนใหม่

จิม ยอง คิม ประธานเวิลด์แบงก์ / REUTERS/Yuri Gripas

อ้างอิงจากข้อมูลของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) หากคุณใช้ชีวิตโดยมีเงินเพียง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 62 บาท) ต่อวัน หรือน้อยกว่า ถือว่าคุณยากจนสุดขีด

มี 767 ล้านคนบนโลกที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยพวกเขาต้องใช้เงิน 1.90 ดอลลาร์หรือน้อยกว่านั้นในการเติมเต็มความต้องการของชีวิตในแต่ละวัน

เงินส่วนใหญ่ใช้สำหรับการซื้อหาอาหาร และไม่เพียงพอต่อการได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนหรือพอที่จะทำให้อิ่มได้ โดยหลายร้อยล้านคนที่อยู่ในกลุ่มยากจนสุดขีดขาดสารอาหาร

ที่พักของพวกเขาอาจมีคุณภาพต่ำ และอาจไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน (การศึกษาระดับประถมไม่ฟรีเสมอไปในหลายๆ ประเทศ) หรือค่ารักษาพยาบาล

Advertisement

หลายล้านคนที่ยากจนสุดขีดอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างอินเดีย ไนจีเรีย และจีน

และอีกจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ คุณอาจมีเงินใช้มากกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวันเพื่อใช้จ่ายในการซื้อสิ่งที่จำเป็น แต่ยังถือว่าใช้ชีวิตอย่างค่อนข้างยากจน เหมือนที่ธนาคารโลกระบุไว้ในรายงานฉบับปรับปรุงว่า ไม่น่าแปลกใจ ประเทศร่ำรวยต้องมีเส้นแบ่งความยากจนสูงกว่าประเทศยากจน

ธนาคารโลกเปิดเผยเส้นแบ่งความยากจนใหม่ 2 ชุด นั่นคือ 3.20 ดอลลาร์ (ราว 105 บาท) ต่อวันสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำ (อาทิ อียิปต์ อินเดีย และฟิลิปปินส์) และ 5.50 ดอลลาร์ (181 บาท) ต่อวัน สำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูง (อาทิ บราซิล จาเมกา แอฟริกาใต้ และไทย)

แนวคิดคือตัวเลขใหม่จะเสนอวิธีการที่ดีกว่าในการวัดความยากจนในประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

“ตัวเลขใหม่นี้ใกล้เคียงกับเส้นแบ่งความยากจนในแต่ละประเทศมากกว่า” โฮมี คาราส นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการร่วมของโครงการเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาแห่งสถาบันบรู๊กกิงส์ บอก

ตัวเลขเหล่านี้นำเสนอ “ดัชนีชี้วัดเพื่อกำหนดว่าความยากจนเพิ่มขึ้นหรือลดลงในโลก” และสำหรับดูว่าประเทศที่มีรายได้ปานกลางมีผลงานอย่างไร

แน่นอนว่า เป็นเรื่องสับสนเล็กน้อย สรุปโดยสังเขปก็คือ มีความยากจนสุดขีด และความยากจนธรรมดา

อย่างไรก็ตาม มีข่าวดีในเรื่องความพยายามช่วยเหลือคนยากจนสุดขีดในโลกนี้

ในระหว่างปี 1990 ถึง 2013 จำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตโดยมีเงิน 1.90 ดอลลาร์ลดลงราวๆ ครึ่งหนึ่ง โดยสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้พันธะสัญญาว่าจะขจัดความยากจนสุดขีดให้หมดไป เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจีส์) อันทะเยอทะยาน 17 ข้อที่จะทำให้ได้ภายในปี 2030

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความยากจนจะหมดไป เส้นแบ่งความยากจนใหม่เป็นเรื่องเตือนใจได้อย่างดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image