แอมเนสตี้เปิดรายงานอาชญากรรมแบ่งเชื้อชาติ ‘โรฮีนจา’ ในยะไข่ จี้ประชาคมโลกงดซื้อขายอาวุธ-คว่ำบาตรพม่า

เมื่อวันที่ 21พฤศจิกายน ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮีนจาในพม่า เรื่องกรงขังที่ไร้หลังคา (Caged without a Roof)

อันย่า นีสตัต ผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิจัย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า แอมเนสตี้ติดตามความน่ากลัวที่เกิดขึ้นในประเทศพม่าอย่างใกล้ชิด ชาวโรฮีนจาจำนวนมากลี้ภัยเข้าบังกลาเทศ หนีการฆาตกรรม ข่มขืน ถูกเผาบ้านเรือน โดยได้ติดตามสืบสวนทำงานวิจัยและสัมภาษณ์ผู้คนมาเป็นเวลาสองปี พบว่าเจ้าหน้าที่พม่าใช้นโยบายเลือกปฏิบัติแบ่งแยกทางเชื้อชาติกับชาวโรฮีนจาในทุกมิติของชีวิต ในทุกๆวัน นับได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“นี่ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ แต่เป็นคำจำกัดความทางกฎหมายที่มาอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น อาชญากรรมแบ่งแยกทางเชื้อชาติถูกระบุไว้ในอนุสัญญากรุงโรม ก่อนทำการสืบสวนเราไม่ได้ตัดสินล่วงหน้าว่าจะเจออะไรบ้าง และพบว่าข้อสรุปในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มโรฮีนจานับได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รัฐยะไข่ถูกเปลี่ยนให้เป็นคุกกลางแจ้ง มีนโยบายและกฎหมายถูกเอามาใช้ให้ชีวิตประจำวันของชาวโรฮีนจาย่ำแย่ ถูกจำกัดสิทธิการเดินทางให้อยู่ภายในหมู่บ้าน ค่ายหรือเมืองที่อยู่ ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้ารับการรักษาพยาบาล เด็กโรฮีนจาถูกปฏิเสธไม่ให้รับสิทธิการศึกษา เพราะครูถูกห้ามเข้าพื้นที่มุสลิม ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้พวกเขาลำบากมากในการทำมาหากินไม่สามารถเดินทางไปสวนไร่นาได้ ถูกจำกัดสิทธิการชุมนุม ใช้เสรีภาพทางกฎหมายไม่ไ่ด้ และถูกยึดเอกสารเพียงน้อยนิดที่จะระบุสถานะได้

“ระบบดังกล่าวดูเหมือนถูกออกแบบมาเพื่อทำให้ชาวโรฮีนจาสิ้นหวังกับชีวิตและรู้สึกอับอายมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปฏิบัติการทางทหารที่โหดร้ายในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วงสามเดือนที่ผ่านมาของกองกำลังความมั่นคง เป็นเพียงภาพสะท้อนสุดโต่งอีกครั้งหนึ่งของทัศนคติที่น่ารังเกียจ ต้องมีการระบุรากเหง้าของวิกฤตการณ์ปัจจุบันเพื่อยุติวงจรการปฏิบัติโดยมิชอบ และต้องสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาสามารถกลับเข้าประเทศที่่มีการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของพวกเขา

Advertisement

“เราพยายามผลักดันทางออกให้เกิดข้อยุติจากสถานการณ์ ไมมีอะไรเป็นข้ออ้างจากการแบ่งแยกชาติพันธุ์ได้ ไม่ว่าการอ้างเรื่องความมั่นคงหรือการก่อการร้าย พม่าต้องออกนโยบายยุติการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นทั้งเชิงนโยบายและกฎหมายที่เลือกปฏิบัติทางชาติพันธุ์ โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ หากไม่สามารถทำให้เกิดความรับผิดได้ เราเรียกร้องให้มีมาตรการจำกัดการซื้อขายอาวุธของรัฐบาลพม่า และมีการคว่ำบาตร ถ้าระบบในประเทศไม่สามารถจัดการอาชญากรรมนี้ได้ ระบบในต่างประเทศต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือจัดการอาชญากรรมนี้” อันย่ากล่าว

ลอร่า เฮห์ นักวิจัยแอมเนสตี้ฯ กล่าวว่ายะไข่เป็นพื้นที่ซึ่งเดินทางเข้าได้ยากมาก โรฮีนจาในรัฐยะไข่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีความเป็นพลเมือง ต้องพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามาจากไหนเป็นใคร หลายครั้งถูกยึดเอกสารประจำตัว ไม่สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆได้ และมีสิทธิถูกลบชื่ออกจากสำเนาทะเบียน หากไม่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ก็อาจเสียสิทธินั้นตลอดไป เด็กที่เกิดมาก็ไม่สามารถลงทะเบียนการเกิดได้ การไม่มีเอกสารทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆในชีวิตประจำวันได้ ต้องขออนุญาตเพื่อเดินทางระหว่างหมู่บ้าน ถูกหยุดตรวจด้วยการคุกคามข่มขู่ให้จ่ายสินบน เมื่อเดินทางไม่ได้ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ เด็กโรฮีนจาไม่สามารถเข้าโรงเรียนทั่วไปได้ต่างจากเมื่อก่อนส่งผลกระทบเลวร้ายมากต่อภาพรวม คนต่างเชื้อชาติไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันไ้ด้อีกต่อไป ครูหวาดกลัวจนไม่ไปสอนในพื้นที่มุสลิม เมื่อมีอันตายเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ก็ไม่ตามสืบสวน

Advertisement

“ชาวโรฮีนจาไม่สามารถรวมตัวเรียกร้องอะไรได้ ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ ไม่มีส่วนร่วมต่อชีวิตสาธารณะ หน่วยงานต่างๆในรัฐยะไข่ล้วนเกี่ยวข้องกับการจำกัดสิทธิชาวโรฮีนจา แอมเนสตี้จึงเรียกร้องอย่างชัดเจนว่าการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นต้องจบลง

“เราประณามรัฐบาลพม่าหลายครั้งแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แอมเนสตี้จึงเรียกร้องให้ระงับการซื้อขายอาวุธกับรัฐบาลพม่า และเรียกร้องให้ยูเอ็นส่งตัวแทนเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่รัฐบาลต่างๆกำลังลงทุนในพม่า และคำนวณว่าจะวางท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราต้องมองข้ามและหาแนวทางปฏิบัติเพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้น ประชาคมโลกต้องหารือร่วมกัน” ลอร่ากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image