‘กรมชลฯ’เร่งระบายน้ำจากทุ่งลุ่มต่ำเร็วกว่าแผนเตรียมพร้อมให้เกษตรกรเพาะปลูกช่วง ธ.ค.

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวให้เร็วขึ้นจากเดิม เพื่อป้องกันความเสียหายของผลผลิตที่อาจเกิดจากปัญหาน้ำท่วม และพื้นที่ทุ่งลุ่มต่ำที่เก็บเกี่ยวแล้วเสร็จยังสามารถใช้เป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำส่วนเกินเพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำได้อีกทางหนึ่ง โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 13 ทุ่งทั้งพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พื้นที่ทุ่งบางระกำ ตามแผนงานโครงการบางระกำโมเดล 60 ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 มีพื้นที่น้ำท่วม 240,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่อยู่ในคลองส่งน้ำและทุ่งนา จำนวน 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มีแผนการระบายน้ำออกจากทุ่งจำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. และเก็บกักไว้ในระดับเก็บกักของคลองส่งน้ำ 100 ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นต้นทุนน้ำในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบันพื้นที่น้ำท่วมลดลง เหลือประมาณ 80,000 ไร่ ปริมาณน้ำค้างทุ่งจำนวน 152 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำแล้ว 348 ล้าน ลบ.ม หรือคิดเป็น 87% เหลือปริมาณน้ำที่รอระบายน้ำอีก 52 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13% คาดว่าอีก 4 วัน จะสามารถระบายน้ำปริมาณดังกล่าวได้ทั้งหมด ซึ่งเร็วกว่าแผนการระบายน้ำที่วางไว้ให้แล้วเสร็จในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560

นายทองเปลวกล่าวว่า ส่วนการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำในพื้นที่ตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็มีความก้าวหน้ากว่าแผนงานเช่นกัน โดยมี 2 ทุ่งที่ดำเนินการระบายน้ำออกจากทุ่งแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเร็วกว่าแผนมาก ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท-ป่าสัก ในพื้นที่อ.บ้านหมี่ และอ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งใช้เป็นพื้นที่รับน้ำจำนวน 72,680 ไร่ (ตามแผนงานแล้วเสร็จวันที่ 5 ธันวาคม) และทุ่งท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง และ อ.เมือง จ.ลพบุรี จำนวน 45,700 ไร่ (ตามแผนงานแล้วเสร็จวันที่ 10 ธันวาคม) หลังจากนี้จะเร่งระบายน้ำออกจาก 10 ทุ่งที่เหลือ คือ ทุ่งเชียงราก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้มากที่สุด โดยพื้นที่ทั้ง 13 ทุ่งทั้งตอนบนและตอนล่าง จะยังคงมีปริมาณน้ำที่เหลือไว้เพื่อให้เกษตรกรเตรียมแปลงเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและจะเริ่มให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป ตามแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งประจำปี 2560/61 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image