ซี.พี.หนุนประชารัฐ ร่วมมือชาวนาตั้งแต่ต้นน้ำ รับซื้อข้าวเปลือกราคาสูงกว่าตลาด เกษตรกรดีใจร่วมรำวง (คลิป)

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. ที่ ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ทางบริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด นำโดยนายฐิติ ลุจินตานนท์ และนายไตรรัตน์ อุดมศรีโยธิน รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด ได้นำคณะสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐ พร้อมด้วยตัวแทนและเกษตรกรสมาชิก โดยได้รับความร่วมมือภาครัฐ ภาคเกษตรกรชาวนา และภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการบริโภคข้าวหอมมะลิจากชาวนาไทยในราคาทุน

นายฐิติกล่าวว่า ซีพีมุ่งสร้างกลไกราคาตลาดที่เหมาะสม โดยการรับซื้อข้าวเปลือกตรงจากชาวนาสมาชิกทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ซึ่งเป็นต้นฤดูกาลที่ข้าวเปลือกชื้นจะออกผลผลิตมา อีกทั้ง บริษัทได้จัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และมีนักวิชาการให้ความรู้แก่ชาวนาสมาชิกทุกขั้นตอนตามมาตรฐาน GAP ตั้งแต่การเตรียมดิน ใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยที่เหมาะสม การบำรุงรักษา ไปจนถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นการควบคุมคุณภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้เปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกตรงจากชาวนา รวม 29 จุด 12 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี ยโสธร สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร สุพรรณบุรี และนครสวรรค์ เพิ่มจากปี พ.ศ.2559 ที่มี 18 จุดทั่วประเทศ และปีต่อไปจะเพิ่มขึ้นอีก

Advertisement

นายไตรรัตน์กล่าวว่า ข้าวเปลือกที่รับซื้อจากชาวนา เราให้ราคาสูงกว่าตลาดอย่างน้อย 300 บาทต่อตัน ซึ่งเราจะนำข้าวมาสี พร้อมบรรจุถุง ภายใต้โครงการ “ข้าวชาวนาไทย” จัดจำหน่ายในราคาต้นทุน ที่สำคัญยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ข้าวมีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัยกว่ารายอื่นที่ไม่ได้ควบคุมด้วยมาตรฐาน GAP แน่นอน

นายไตรรัตน์กล่าวเสริมอีกว่า ในปี 2561 จะขยายพื้นที่โครงการนาแปลงใหญ่ประชารัฐ ในแถบภาคอีสานเพิ่มเติมโดยคาดว่าจะเพิ่มพื้นที่โครงการเป็น 100,000 ไร่ จากเดิม 73,000 กว่าไร่ และจะมีเกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิก จำนวน 5,000 ราย จากเดิม 3,500 กว่าราย เพื่อรองรับปริมาณข้าวหอมมะลิเพิ่มเติมจากเกษตรกรอีกด้วย

Advertisement

นายอาจ พรรษา เกษตรกรสมาชิก กล่าวว่า ตนรู้สึกปลื้มใจมากที่ผลผลิตของตนมีผู้รับซื้อ ในอดีตกว่าจะขายได้ใช้เวลานานถึง 3 เดือน แต่ในขณะนี้สามารถขายได้ในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น

“ปลื้มใจมาก รายได้ดีขึ้น เพราะเราผลิตแล้วมีคนรับซื้อ เมื่อก่อนข้าวออกมา 3 เดือนกว่าจะขายได้ แต่ตอนนี้เดือนเดียวก็ขายหมด นักวิชาการเข้ามาช่วยควบคุมคุณภาพ ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าอร่อยสดใหม่แน่นอน” นายอาจกล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังการร่วมพูดคุย ทางผู้จัดงานได้เชิญชวนกลุ่มเกษตรกรสมาชิกขึ้นมาเต้นรำบนเวทีเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image