เลือกตั้งท้องถิ่น…สามปีไม่เสียของ? : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

แม่น้ำสายหลัก คสช. และรัฐบาล ดำริให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศ จะติดตามเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปถึงที่มา
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งฉบับที่ 85/2557 15 ก.ค.57 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยเรียบร้อย จึงประกาศให้กรณีสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระหรือพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ ให้งดจัดการเลือกตั้งไปก่อนจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ส่วนสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีสมาชิกเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกที่เหลืออยู่นั้นเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่จำนวนสมาชิกสภาเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

และเมื่อมีกรณีที่ต้องเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งทำหน้าที่คัดเลือกบุคคล ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ และเมื่อได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นแล้วให้ประธานคณะกรรมการสรรหาประกาศแต่งตั้งภายใน 3 วัน

โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทประกอบด้วยจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นดังต่อไปนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลมีสมาชิกสภาจำนวน 10 คน เทศบาลทุกประเภทมีสมาชิกสภาจำนวน 12 คน องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีจำนวนสมาชิกสภากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้

Advertisement

ขณะที่คุณสมบัติของสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ จบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า รับราชการหรือเคยรับราชการในเขตจังหวัดในระดับตำแหน่งตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป เป็นบุคคลในเขตจังหวัดนั้นและดำรงตำแหน่งประธานหรือหัวหน้าองค์กรภาคเอกชนหรือภาคประชาชนที่จดทะเบียนไว้กับส่วนราชการ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และไม่ให้นำมาตรา 45 (12) (13) และ(14) แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาบังคับใช้

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ วันที่่ 6 เมษายน 2560 ต้องมีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศตามสัญญาจะคืนความสุขให้อีกไม่นาน จึงเป็นแรงผลักดันคณะผู้มีอำนาจคิดให้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเกิดขึ้นก่อน

จะเป็นไปเพื่ออะไรก็แล้วแต่ คืนอำนาจการตัดสินใจกำหนดอนาคตท้องถิ่นจนถึงประเทศให้กับประชาชน หยุดระบบสรรหาประชาธิปไตยครึ่งใบ กลับมาสู่ระบบเลือกตั้งประชาธิปไตยเต็มใบ ชิมลางหรืออะไรก็สุดแท้แต่จะว่ากันไป

Advertisement

สิ่งที่น่าคิดเป็นคำถามอยู่ที่ว่า ต้นทุนเวลาที่เสียไปตั้งแต่ปี 2557 จนถึงขณะนี้ ในเชิงระบบ โครงสร้าง พัฒนาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กับพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
หลายปีที่ผ่านมา กลไก กระบวนการพัฒนาความเป็นสถาบันการบริหารการปกครองระดับท้องถิ่นอย่างมืออาชีพ มีมาตรฐาน มีธรรมาภิบาลทุกด้าน ถูกผลักดันให้ก้าวหน้าไปกว่าเดิมแค่ไหน

ตรงนี้ต่างหากที่แม่น้ำห้าสายและผู้มีส่วนร่วม มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต้องกลับมาร่วมกันคิด

ในขณะที่ข้อเสนอต่างๆ เพื่อพัฒนาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายอำนาจให้กับประชาชนหลายแนวทาง ล้วนถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ไม่ว่าเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยเริ่มจากจังหวัดที่มีความพร้อม, การปรับโครงสร้างท้องถิ่นในรูปจังหวัดจัดการตนเองฯ แม้กระทั่งความก้าวหน้าของการยุบ ควบรวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน, การยุบเลิก เปลี่ยนแปลงวาระการดำรงตำแหน่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่เปลี่ยนสภาพเป็นชุมชนเมืองแล้ว

ฉะนั้น นอกจากการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังเลือกตั้งทั่วประเทศ และผลจะออกมาอย่างไรแล้ว

สิ่งสำคัญคือข้อเสนอการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่น การกระจายอำนาจ ซึ่งแม่น้ำสาย สปช. สปท.จัดทำขึ้น ความเป็นจริงในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นเมื่อไร

เป็นต้นว่า กำหนดภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบให้ชัดเจนว่าภารกิจใดควรเป็นหน้าที่ขององค์กรใด ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ภายใต้เงื่อนไขของการเปิดให้สมัชชาพลเมือง องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น ปฏิรูประบบการบริหารงานบุคคลท้องถิ่นให้มีเอกภาพเหมาะสม และมีความคล่องตัวยิ่งขึ้นอีก

การเลือกตั้งท้องถิ่นภายใต้โครงสร้างอำนาจเดิม ทุกอย่างคงเหมือนเดิม ไม่ถูกปฏิรูปใดๆ เสียของหรือไม่ ก็สุดแท้แต่ดุลพินิจของแต่ละคน

หลักประกันการเลือกตั้งจึงอยู่ที่คุณภาพการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน เมื่อได้รับสิทธิโอกาสกลับมาอีกครั้งหนึ่งจะออกมาอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image