เศรษฐีกำลังอดตาย : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ทุกวันนี้มีการถกเถียงกันเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของรองนายกรัฐมนตรีที่จะต้องออกมาพูดว่าเศรษฐกิจของเขากำลังดีวันดีคืน การส่งออกขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าที่คาดเอาไว้ ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 4 อันสืบเนื่องมาจากอัตราการขยายตัวของการส่งออกสูงถึงร้อยละ 8 แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ สามารถผลักดันการส่งออกของเขาให้เพิ่มขึ้นได้ในอัตราตัวเลข 2 หลัก และมีอัตราการขยายตัวสูงถึงกว่าร้อยละ 6-7 ก็ตาม

นอกจากรัฐบาลจะพยายามเน้นให้เห็นตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจส่วนรวม ซึ่งดูดี โดยไม่พยายามขยายความต่อ ส่วนที่ขยายตัวได้สูงซึ่งจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้าและบริการการท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนวัน รวมทั้งการใช้จ่ายต่อหัวต่อวันของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนที่มีทุกระดับ เริ่มจากนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยมีระดับ นักท่องเที่ยวระดับกลางค่อนข้างสูง นักท่องเที่ยวระดับกลางค่อนระดับข้างต่ำ และนักท่องเที่ยวจีนระดับล่าง ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในที่แปลกๆ ที่ไม่ควรจะเห็น นักท่องเที่ยวเดินทางกระจายออกไปทุกเมืองทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หรือภูเก็ต ทุกตรอกซอกซอย ตลาดปกติ ตลาดนัด ที่จตุจักรจะเห็นนักท่องเที่ยวยืนต่อราคาของเป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องเงิน ของเก่า รวมทั้งพระเครื่อง กัลปังหา พืชโตช้าใต้ทะเล ของที่เคยเดินซื้อหลายอย่างกลายเป็นของเทียมทำขึ้นมาใหม่เพื่อขายนักท่องเที่ยวจีน เพราะสามารถนำออกไปนอกประเทศได้

การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ทำรายได้อย่างมหาศาลให้กับเจ้าของกิจการการผลิตสินค้าส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ของที่ระลึก รวมทั้งร้านขายสินค้าที่นำเข้ามาจากเมืองจีนเอง นักท่องเที่ยวจีนก็ซื้อกลับบ้าน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกอยู่ไม่น้อย แต่สำหรับสินค้าประเภทธัญพืช หรือสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย น้ำตาล ยางพาราและอื่นๆ ราคาตกหมด ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ศรีสะเกษ รวมทั้งพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ไพลิน และบันทายมีชัย ราคาดีถึง 13,000 บาทต่อตัน

ส่วนข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ขาวตาแห้ง ข้าวเสาไห้ ราคาเพียง 8,000 บาท

Advertisement

 

ที่น่าสังเกตก็คือ แม้รัฐบาลทหารจะยกเลิกโครงการจำนำข้าวที่มีข่าวการทุจริตกันทุกขั้นตอน มีตัวเลขความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท โดยโรงสีและชาวนาบางส่วนได้ประโยชน์เพียง 6-7 หมื่นล้านบาท แต่ปริมาณข้าวที่ส่งออกก็ยังคงเพิ่มขึ้น เพียง 9 เดือนส่งออกไปแล้วกว่า 9.6 ล้านตัน ทั้งปีคงจะทะลุ 11 ล้านตัน สูงกว่าทุกปี โดยไม่ต้องเอาภาษีอากรของประชาชนไปซื้อข้าวบางส่วนมาเก็บไว้เป็นสต๊อกลมหรือซื้อมาเก็บให้เน่า ได้เวลาก็เอาออกประมูลขายราคาต่ำกว่าความเป็นจริง แต่คราวนี้ผู้เข้าประมูลได้เป็นคนของรัฐบาลทหารชุดนี้ ประชาชนผู้เสียภาษีก็ขาดทุนไปทั้งขึ้นทั้งล่อง

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกคือพ่อค้ารวย เพราะไม่ว่า “ราคาตลาดโลก” จะขึ้นจะลงพ่อค้าก็ได้กำไร ถ้าราคาตลาดขึ้นตนขายได้แพงก็ซื้อสินค้าเกษตรจากท้องไร่ท้องนาจากที่สวนในราคาแพง ถ้าราคาตลาดโลกตกต่ำตนขายสินค้าเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมในราคาต่ำ ก็กลับมาซื้อสินค้าเกษตรสินค้าวัตถุดิบจากเกษตรกรชาวนาชาวไร่ชาวสวนในราคาที่ต่ำ ผู้ที่ต้องรับความผันผวนของราคาสินค้าตลาดโลกก็คือชาวไร่ชาวนา รัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลใดในโลกไม่สามารถกำหนดราคาตลาดโลกของสินค้าใดๆ ได้ แม้แต่น้ำมัน ถ่านหินและพลังงานอย่างอื่น รวมทั้งเชื้อเพลิงปรมาณูด้วย การที่รัฐบาลนี้ยกเลิกนโยบายราคาสินค้าเกษตร แต่ใช้นโยบายรายได้โดยการช่วยเหลือต้นทุน น่าจะเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว ทางที่ดีไม่ต้องมีนโยบายต้นทุนด้วย แต่ใช้นโยบายรายจ่าย เช่น นโยบายสุขภาพดีถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายเรียนไม่ต้องถึงกับฟรี แต่ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำและมีกองทุนให้ทุนนักเรียนที่ครอบครัวยากจน ส่วนคนที่ไม่จนก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายบ้าง

Advertisement

เมื่อมีการลงทะเบียนคนจน จึงทราบว่าคนจนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปี มีจำนวนถึง 11.4 ล้านคน สาเหตุที่สถานการณ์เป็นเช่นนี้ก็เพราะความต้องการสินค้าที่ลงทุนไว้ผลิตเพื่อการส่งออกดีไม่พอ ราคาตลาดโลกตกต่ำ ทำให้รายได้จากการส่งออกที่เคยกระจายลงสู่ประชาชนห้างร้าน ก็พลอยหดหายลงไปด้วย

ในยามที่ราคาสินค้าส่งออกตกต่ำ การส่งออกหดตัว การกระจายรายได้ก็จะเลวร้ายลง เข้าทำนอง “รวยกระจุก จนกระจาย” อย่างที่เรียกขานกัน เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ รัฐบาลควรจะเลิกคิดเรื่องการขึ้นอัตราภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ภาษีทรัพย์สินและภาษีอื่นๆ รัฐบาลชอบที่จะดำเนินนโยบายขาดดุลมากขึ้น ชดเชยการขาดดุลงบประมาณโดยการกู้เงินจากประชาชนมากขึ้น เพราะยอดหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติยังอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือประมาณร้อยละ 45-46 ของรายได้ประชาชาติ เราเคยตั้งเพดานยอดหนี้สาธารณะไม่ควรเกินร้อยละ 60 ของรายได้ประชาชาติ เมื่อรายจ่ายตามงบประมาณแผ่นดินเกินร้อยละ 50 ของรายได้ประชาชาติจึงค่อยมาดูว่าควรจะพิจารณาขึ้นภาษีอากรหรือไม่

ฐานะของประเทศร่ำรวย ดุลการค้าดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกเดือน จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาแทรกแซงตลาดเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อมิให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป อัตราดอกเบี้ยทางการก็ยังกำหนดไว้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของโลกมาก ค่าเงินบาทก็แข็งเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้คนในเมืองที่เป็นผู้ใช้ผู้ซื้อของนำเข้าได้เปรียบ ขณะเดียวกันชาวชนบทที่ผลิตของเพื่อส่งออกเป็นผู้เสียเปรียบโดยไม่รู้ตัว เพราะธุรกิจขนาดเล็กระดับล่างกำลังประสบปัญหาล้มละลายขาดทุน ทยอยกันล้มหายตายจาก ทั้งๆ ที่ประเทศรวยด้วยเงินออมของเรา มีเงินล้นตลาดที่ปล่อยไม่ออกเพราะไม่มีการลงทุนจากภาคเอกชน แต่ไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยการไปซื้อพันธบัตร ดอกเบี้ยแสนถูกของรัฐบาลอเมริกามาถือเป็นทุนสำรองมากเกินความจำเป็น ซึ่งบัดนี้มีจำนวนมากมายกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และที่จะต่อไปจนถึงปีหน้า 2561 ก็คือสถานการณ์ยังคงเหมือนเดิม คือเอกชนยังคงไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะดีขึ้นหรือไม่ ถ้าการใช้กำลังการผลิตยังคงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิต สินเชื่อทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนยังไม่ขยายตัวอย่างชัดเจน นโยบายการเงินที่ไม่ให้ความสำคัญกับอัตราแลกเปลี่ยน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยให้ข่าวอยู่เสมอว่า อัตราแลกเปลี่ยนไม่มีความสำคัญต่ออัตราเงินเฟ้อและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย ซึ่งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญกว่า ดังนั้น การไหลเข้าไหลออกของเงินทุนที่ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนจึงไม่ได้รับการดูแล เป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างมากให้กับผู้ส่งออก ความเสี่ยงดังกล่าวผู้ส่งออกจะแปรออกมาเป็นต้นทุน ในขณะที่ราคาส่งออกถูกกำหนดโดยราคาตลาดโลก

ต้นทุนดังกล่าวจึงถูกแปลออกมาเป็นความห่างระหว่างราคาส่งออกกับราคารับซื้อวัตถุดิบ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ภายในประเทศ

สถานการณ์ดังกล่าวจึงเกิดสภาวะที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คือ สภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” บริษัทนิติบุคคลที่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ทำมาค้าขายกำไรดี แต่ผู้ผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนส่งผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่กำลังจะอดตาย

ขณะเดียวกันผู้ส่งออกรายใหญ่ก็สามารถผูกขาดการผลิตสินค้าที่ตนส่งออกได้เอง แทนที่จะซื้อจากผู้ผลิตรายย่อยที่ผลิตให้ตน supplier หรือผู้ผลิตรายย่อยที่เคยผลิตส่งผู้ส่งออกรายใหญ่ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ

ที่หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ การเกิดขึ้นของร้านสะดวกซื้อที่สามารถขายของได้ทีละมากๆ จึงสามารถผลิตของได้ในราคาถูกกว่าผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายย่อย ถ้าสินค้าที่ผู้ผลิตรายย่อยผลิตเกิดเป็นที่นิยมและขายได้ดี แต่ไม่นานนักห้างสะดวกซื้อก็จะผลิตเลียนแบบขึ้นมาขายเอง แทนที่จะซื้อจากผู้ผลิตรายย่อย

ขณะนี้เราจึงเห็นสถานการณ์ที่แปลก กล่าวคือตัวเลขระดับมหภาค เช่น การส่งออก อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เป็นตัวเลขที่ยังพอไปได้ ขณะเดียวกันก็ได้ยินว่าธุรกิจระดับล่างกำลังพากันปิดกิจการ กำลังจะอดตาย เพราะตัวเลขจุลภาคระดับล่างคงจะไปไม่ถึงรัฐบาล รัฐบาลฟังจากรายงาน น่าจะได้ภาพที่ดีเกินความจริง

โครงการลงทุนใหญ่ๆ ของรัฐบาลทหารเกิดขึ้นได้ยากเมื่อเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องมีผลงานเพื่อการเลือกตั้งคราวต่อไป ส่วนรัฐบาลทหารที่รัฐมนตรีประกอบด้วยข้าราชการทหารและข้าราชการพลเรือน การตัดสินใจจะไม่เกิด รัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการจะไม่ตัดสินใจเพราะไม่ตัดสินใจไม่ผิด ตัดสินใจอาจจะผิดหรืออาจจะถูก ไม่มีใครมากดดัน ส่วนรัฐมนตรีที่เป็นทหารก็มีความรู้ความสามารถไม่พอที่จะตัดสินใจได้ ต้องอาศัยข้าราชการในกระทรวง เมื่อข้าราชการพลเรือนในกระทรวงไม่ตัดสินใจ ทุกอย่างจึงไปตกอยู่กับนายกรัฐมนตรีกับอำนาจในการออกคำสั่ง

มาตรา 44

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image