สสอท.ชงแก้พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หลังใช้นาน 14 ปี ล้าสมัย

น.ส.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน ในฐานะนายกสมาคมผู้ได้รับเลือกของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (สสอท.) เปิดเผยว่า  จากปัญหาจำนวนประชากรเกิดใหม่ของไทยลดลง ส่งผลต่อจำนวนผู้เรียนระดับประถม มัธยม จนถึงอุดมศึกษา ซึ่งทำให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชน มีผู้เข้าเรียนน้อยลงเรื่อยๆ และปิดการเรียนการสอนไปแล้ว 2 แห่ง รวมทั้งสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัล ส่วนประเทศไทยก็ได้กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ทำให้สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ต้องปรับเปลี่ยนตนเองค่อนข้างมากเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ  โดย สสอท. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อหารือถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่จะต้องทำคู่ขนานไปกับการปฏิรูปการศึกษาภาครัฐ

น.ส.จันทร์จิรา กล่าวต่อว่า จากการหารือคณะทำงานฯ พบว่า จำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ซึ่งถือว่าไม่ทันต่อเหตุการณ์เพราะใช้มานานกว่า 14 ปีแล้ว  โดยประเด็นที่ควรแก้ไขได้แก่ เรื่องการรับรองวิทยฐานะ ซึ่งเดิมเมื่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับรองวิทยฐานะระดับสถาบันแล้วสถาบันอุดมศึกษาเอกชนก็สามารถเปิดหลักสูตรใหม่ได้ แต่ล่าสุดมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ให้ สกอ.ต้องรับรองวิทยฐานะระดับหลักสูตร ทำให้เกิดความไม่คล่องตัว เป็นต้น

“การแก้ไข พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 ก็เพื่อให้มหาวิทยาลัยเอกชน มีความคล่องตัว ให้สมกับการที่จะก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้คณะทำงานฯ ได้มีการนำเสนอร่างแก้ไขกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา , สกอ. และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รวมทั้งอนุกรรมาธิการการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คาดว่า ร่างแก้ไขนี้จะสามารถนำเสนอเข้า ที่ประชุม สนช. ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้” น.ส.จันทร์จิรา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image