คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ศึกษาบทเรียนก่อนบุกตลาดจีน!

กรณีเคที เพร์รี กับธงชาติไต้หวัน (เอเอฟพี)

“เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” เป็นสุภาษิตที่ไม่มีวันล้าสมัย และยิ่งใช้ได้ดีกับ “จีน” มหาอำนาจแห่งโลกสังคมนิยมที่มีตลาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นเบอร์ต้นๆของโลก ที่นักธุรกิจนักลงทุนไม่เพียงต้องศึกษาข้อกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ของการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจในจีนให้ดีแล้วเท่านั้น หากยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงและตระหนักให้มากคือ ความรู้สึกอ่อนไหวทางการเมืองและศีลธรรมในจีน

กรณีล่าสุดของ “จีจี้ ฮาดิด” นางแบบสาวชาวอเมริกัน ที่ต้องยกเลิกการจะได้ร่วมเป็นหนึ่งในกองทัพนางฟ้าของ “วิคตอเรีย ซีเคร็ท” ผู้ผลิตชุดชั้นในสตรีสุดเซ็กซี่แบรนด์ระดับโลก มาเดินโชว์ในงาน วิคตอเรีย ซีเคร็ท แฟชั่นโชว์ 2017 ที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีนเมื่อวันก่อน เป็นอีกกรณีตัวอย่างที่นักธุรกิจนักลงทุนจะได้เรียนรู้ในการจะเข้ามาในตลาดจีน

แฟ้มภาพ จีจี้ ฮาดิด (เอเอฟพี)

การถอนตัวของจีจี้เป็นประเด็นขึ้นหลังจากเธอถูกทั้งสื่อและสังคมออนไลน์ในจีนต่อต้านวิจารณ์หนักต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเธอ หลังจากมีคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นว่าจีจี้ทำตาหยีเลียนแบบรูปปั้นพระพุทธรูปขนาดเล็กที่เธอเอามาเล่นกับหมู่เพื่อนฝูง หลุดออกมาในโลกออนไลน์ จนจีจี้ต้องโร่ออกมาทวีตข้อความบอกว่าเธอจะไม่มาร่วมโชว์นี้แล้ว แน่นอนว่ากรณีของจีจีส่งผลกระทบอย่างจังต่อเจ้าของแบรนด์ที่เพิ่งเข้ามาเจาะตลาดเปิดสาขาในจีนเมื่อปีที่ผ่านมา

ขณะที่การขึ้นเวทีคอนเสิร์ตที่ไต้หวันในปี 2558 ของ เคที เพร์รี นักร้องสาวชาวอเมริกัน ที่เธอนำธงชาติไต้หวันขึ้นมาคลุมไหล่ เป็นการแสดงถึงการสนับสนุนไต้หวัน ที่จีนถือเป็นจังหวัดหนึ่งของตนเอง ยังเป็นสาเหตุให้ เคที ถูกทางการจีนปฏิเสธที่จะออกวีซ่าให้นักร้องสาวรายนี้ที่จะขอเข้ามาร่วมในงานโชว์ของวิคตอเรีย ซีเคร็ทด้วยเช่นกัน

Advertisement

ยังมีอีกหลายกรณีศึกษาที่เกิดกับศิลปินคนดังอย่าง จัสติน บีเบอร์ เลดี้กาก้า บียอร์ก และ บอง โจวี ที่ถูกจีนแบนห้ามเข้ามาจัดคอนเสิร์ต เพราะมีพฤติกรรมหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องทิเบตและไต้หวัน ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวยิ่งต่อความรู้สึกของจีน

หรือกรณีของศิลปินนักร้อง ละครซีรีส์และภาพยนตร์ของเกาหลีก็ถูกเตะสกัดเข้ามาจีนในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ผลจากความไม่พอใจของจีนที่มีต่อการที่เกาหลีใต้ยอมให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธทาดในดินแดนของตนเอง

เบน คาเวนเดอร์ นักวิเคราะห์จากไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป ให้ความเห็นต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่า แบรนด์สินค้าต่างๆจะต้องตระหนักให้ดีว่าอะไรเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและศีลธรรมในจีน หากจะคิดจะบุกเข้ามาทำตลาดที่นี่ เพราะที่นี่มีบรรยากาศแวดล้อมทางการเมืองที่แตกต่างไปไม่เหมือนใคร

Advertisement

หากไม่ศึกษาหาข้อมูลถึงสิ่งท้าทายเหล่านี้ให้ดี แบรนด์เหล่านั้นก็อาจจะชวดการได้แบ่งเค้กก้อนโตในตลาดจีนไปได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image