‘อธิบดีสถ.’ติวเข้มยุทธศาสตร์จัดการขยะ ชูคลัสเตอร์แปลงขยะผลิตเป็นพลังงาน

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการรับฟังความคิดเห็น ต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ว่าด้วยการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 1 ว่า สภาพปัญหาขยะมูลฝอยที่ทวีความรุนแรงขึ้น และเป็นประเด็นวาระเร่งด่วนของประเทศและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจและหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ามีอปท.ถึงร้อยละ 39 ที่ไม่ได้จัดให้มีบริการเก็บขนขยะเพื่อนำไปกำจัดตามที่ระบุในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีปริมาณขยะที่ชุมชนต้องหาวิธีกำจัดเองถึง 5.67 ล้านตันในปี 2559

นอกจากนี้แม้ในพื้นที่ของอปท.ที่มีการเก็บขนขยะยังมีปัญหาของการกำจัดขยะ ผลการสำรวจสถานที่กำจัดขยะของกรมควบคุมมลพิษในพ.ศ.2559 พบว่าทั่วประเทศมีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ยังดำเนินการอยู่ทั้งหมด 2,810 แห่ง และสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอย 14 แห่ง ในจำนวนนี้มีเพียง 328 แห่งที่พอนับได้ว่ามีวิธีการกำจัดแบบถูกต้อง แต่ที่เหลือ 2,468 แห่งถูกจัดเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้อง ได้แก่การเทกอง การเผากลางแจ้ง หรือการเผาทำลายด้วยเตาเผาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามให้มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่จัดการที่เรียกว่า คลัสเตอร์ และส่งเสริมการนำขยะไปผลิตเป็นพลังงาน (waste to energy) แต่เมื่อดำเนินการในเรื่องนี้มากขึ้น กลับกลายเป็นว่าอปท. หลายแห่งเข้าใจประเด็นการจัดการขยะคลาดเคลื่อน แทนที่จะมุ่งเน้น “การจัดการขยะ” (waste management) กลับไปเน้น “การแปลงขยะเป็นพลังงาน” (waste to energy) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีในการกำจัดขยะ แต่ยังมีรูปแบบการจัดการขยะอีกหลายประเภท เช่น การฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาลการผลิตขยะเชื้อเพลิง (RDF) การทำปุ๋ยหมัก การทำไบโอแก๊ส เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการจัดการขยะควรเลือกให้เหมาะสมกับขนาดและศักยภาพของพื้นที่ และไม่ว่าจะเลือกรูปแบบ

อธิบดีสถ. กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนช่วยกันลดและแยกขยะที่ต้นทางเป็นการจัดการขยะอย่างยั่งยืน อาจจะต้องหามาตรการแกมบังคับและส่งเสริม เพราะหากทำเชิงสมัครใจเพียงอย่างเดียวก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ขยะก็ยังมีหลายประเภททั้งขยะมูลฝอย ขยะอันตราย มูลฝอยติดเชื้อและสิ่งปฏิกูล ยังขาดระบบการจัดการแทบทั้งสิ้นหรือแม้แต่ข้อมูลพื้นฐาน เช่น ปริมาณและองค์ประกอบก็ยังไม่ได้มีการสำรวจและเก็บข้อมูลเป็นระบบ และจากที่พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอย และมาตรา 34/4 บัญญัติให้สถ. มีหน้าที่เสนอแนะ แนะนำ และช่วยเหลืออปท. ในการจัดทำแผนงาน โครงการในการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด รวมทั้งเสนอความเห็นในการจัดตั้งงบประมาณแผ่นดินเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้กรมฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน

“ขอฝากถึงผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย ร่วมกันสร้างจิตสำนึกที่ดีในการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต่อยอดพัฒนาให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและขยายผลให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ด้วย รวมถึงขอให้ร่วมมือกันให้ข้อคิดเห็นต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯในครั้งนี้ เพื่อคณะผู้วิจัยจะได้รวบรวมความคิดเห็นที่ได้รับจากการประชุมไปปรับปรุง และจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่มีความเหมาะสม ครบถ้วน และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้จริง”นายสุทธิพงษ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image