หมวดเจี๊ยบ จี้ แก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในกองทัพอย่างจริงจัง หวั่นเกิดวิกฤตศรัทธา

วันนี้ (21พ.ย.) ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหาร โดยระบุว่า น่าสังเกตว่า ผู้ปกครองของนักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตและนายทหารเรือที่ได้รับบาดเจ็บขณะเข้ารับการฝึกรีคอนหรือหลักสูตรรบพิเศษของนาวิกโยธินนั้น ทั้งสองครอบครัวเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กัน แต่มีปฏิกิริยาไม่เหมือนกันและเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาแตกต่างกัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะบิดาของของนายทหารเรือ ก็มีอาชีพเป็นทหาร จึงน่าจะเดาออกว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายของตนเอง ก็เลยไม่รอพึ่งกระบวนการยุติธรรมและใช้ศาลเตี้ยตัดสินปัญหา ในลักษณะเกลือจิ้มเกลือ ตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่รอให้ใครมาเมตตา ในขณะที่ นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิต จัดอยู่ในกลุ่มลูกพ่อค้า ไม่ใช่ลูกทหาร แต่พ่อแม่คงหวังเห็นลูกได้เรียนจบเป็นเจ้าคนนายคน แต่พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ครอบครัวก็ไม่รู้จะต่อกรกับผู้มีอำนาจอย่างไร ถึงต้องแอบเอาศพของลูกตัวเองไปชันสูตรอีกครั้งโดยไม่บอกกองทัพ เพราะไม่เชื่อมั่นผลชันสูตรที่กองทัพเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะระยะนี้ คนไทยก็ได้ยินข่าวการทำร้ายร่างกายและการตายปริศนาของทหารเกณฑ์หรือกำลังพลชั้นผู้น้อยอื่นๆ ในกองทัพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสุดท้ายเรื่องก็เงียบไป ไม่มีการทำให้ข้อเท็จจริงปรากฎอย่างชัดเจนต่อสาธารณะ นี่พูดถึงเฉพาะที่เป็นข่าวเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง คงมีกรณีอื่นๆ ที่อาจจะร้ายแรงกว่านี้แต่ไม่เป็นข่าวอีกมาก ดังนั้น อาจถึงเวลาที่ต้องมีการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อกองทัพ

ทั้งนี้ ทหารคนหนึ่ง กว่าจะได้เลื่อนยศแต่ละขั้น ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาทั้งชีวิต และต้องใช้เวลารอคอยนานหลายปี ที่สำคัญ เบื้องหลังของเขายังมีพ่อแม่ลูกเมียที่กำลังเฝ้ารอชื่นชมความสำเร็จของพวกเขาอยู่ ถ้าทหารคนหนึ่งจะต้องตาย ก็ควรตายอย่างมีเหตุผล เช่น เพราะสละชีวิตเพื่อป้องกันประเทศจากข้าศึก ไม่ใช่ว่าตายเพราะถูกกระทืบหนักไปหน่อยระหว่างฝึก เพราะมันทำร้ายจิตใจของครอบครัวกำลังเกินไป นอกจากนี้ ในกองทัพของประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะให้ความสำคัญกับกำลังพลและมองว่าคนมีคุณค่าว่ากว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ ในขณะที่เมืองไทย มีทหารจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ถ้าหากพวกเขาเป็นนักบินของกองทัพแล้วเกิดพลาดทำเครื่องตก ก็ขอยอมตายเสียดีกว่า เพราะถ้ามีชีวิตรอด ก็อาจจะถูกตั้งกรรมการสอบและอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายจนครอบครัวต้องเดือดร้อน แต่ถ้าตายไปเลย ยังอาจได้เลื่อนยศและได้รับการปูนบำเหน็จ ครอบครัวก็จะได้มีเงินก้อนไว้ใช้จ่าย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ใหญ่ในกองทัพจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาชีวิตของกำลังพลในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าอย่าเห็นเป็นเพียงวัตถุที่พร้อมจำหน่ายหรือต้องพร้อมที่จะตายได้โดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่อย่างนั้น อาจกระทบศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกองทัพได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image