สำนักศิลปากรที่ 1 เผยแผนบูรณะเรือโบราณพนม-สุรินทร์ สมัยทวารวดี หลังชาวบ้านร้องถูกปล่อยทิ้ง

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 1 จังหวัดราชบุรี เปิดเผยแผนบูรณะและพัฒนาเรือ พนม-สุรินทร์ ซึ่งมีอายุราวสมัยทวารวดี ที่ได้ขุดพบบริเวณบ่อกุ้งของนายสุรินทร์ และนางพนม ศรีงามดี ในบ้าน หมู่ 6 ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.2556 ว่าได้มีแผนอนุรักษ์และพัฒนาเรือโบราณโดยมีแผนประมาณ 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2564

สำหรับแผนปี 2562 ได้ตั้งไว้ที่สำคัญคือ การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำเข้ามายังตัวเรือ เพื่อทำการขุดค้นเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการตั้งงบประมาณปี 2562 จำนวน 16 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ประมาณ 6 ล้านบาทเศษ ปี 2564 ประมาณ 7 ล้านบาทเศษ โดยหลังสร้างเขื่อนเสร็จแล้วจะทำการอนุรักษ์เรือต่อเนื่องถึงปี 2564

สำหรับการดำเนินการได้ทำมาตั้งแต่ปี 2557-2559 พอมาปี 2561 ได้มีแผนดำเนินการอนุรักษ์จำพวกโบราณวัตถุ ซึ่งคงต้องใช้เวลาเนื่องจากได้ถูกแช่น้ำเค็มมานาน ดังนั้น กระบวนการทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประวัติเรือโบราณลำนี้ จากข้อมูลเป็นเรือที่ค่อนข้างมีความสำคัญที่เชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างเปอร์เชีย แถบตะวันออกกลาง อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน หลังจากที่ขุดค้นพบเรือได้พบโบราณวัตถุ เช่น เครื่องถ้วยจีนช่วงระหว่างราชวงศ์ถัง เครื่องถ้วยของเปอร์เซีย และอยู่ในช่วงสมัยทวารวดีของไทย รวมถึงเทคโนโลยีการต่อเรือก็ยังเป็นแบบเปอร์เซีย เมื่อนำมาประมวลกันทำให้เห็นภาพของการค้าในสมัยโบราณในช่วงประมาณกว่า 1,000 ปีที่ผ่านมาได้ดี

Advertisement

ลักษณะของเรือยาวประมาณ 17.65 เมตร เป็นตัวไม้ทับกระดูกงูของเรือ แต่เหนือจากตัวทับกระดูกงูไปยังมีส่วนหัวและส่วนหางอยู่อีก คาดว่าจะมีความยาวของตัวเรือประมาณ 20 เมตร มีเสากระโดงคล้ายๆ เรือใบ โดยกราบเรือทั้งสองข้างล้มทับไปทางทิศตะวันออก กงเรือและไม้เปลือกเรือ ด้านทิศตะวันออกหักครึ่งอาจเนื่องจากดินกดทับ กราบเรือหรือเปลือกเรือมีรูเจาะเพื่อเย็บร้อยรัดแผ่นไม้ด้วยเชือกสีดำ

“เทคนิคการเย็บร้อยนี้ เป็นเทคนิควิธีเดียวกับการต่อเรืออาหรับโบราณ แต่เรือพวกนี้จะเป็นเรือที่วิ่งเลาะชายฝั่ง จะไม่วิ่งตัดมหาสมุทร ซึ่งยังไม่เคยพบเรือนี้ที่ไหนมาก่อน แต่พบที่นี่เป็นแห่งแรก ที่ใกล้เคียงกันนี้จะอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่ของที่พบนี้ค่อนข้างสมบูรณ์กว่า เท่าที่ดูอาจจะยังไม่ระบุได้ว่าเป็นเรือของใคร แต่รู้ว่าเรือลำนี้ น่าจะมีเส้นทางการค้าอยู่แถบประเทศไทย เพราะสินค้าต่างๆ ที่ขุดค้นพบ เช่น หมาก พวกพืชพันธุ์บางอย่างจะพบอยู่ในประเทศไทย ขณะนี้ได้นำเก็บไว้ที่แหล่ง ซึ่งมีอาคารเก็บโบราณวัตถุไว้ จำพวกเครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเปอร์เซีย และพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น เม็ดหมาก เมล็ดข้าว เชือก ยางไม้ เมล็ดพืช ก้างปลา และกระดูกสัตว์ หลักฐานบางอย่างบ่งบอกความหมายเกี่ยวกับบทบาทของเรือลำนี้ในเรื่องราวความสัมพันธ์ติดต่อข้ามมหาสมุทร

Advertisement

“ส่วนภาชนะดินเผาที่พบในเรืออับปางลำนี้ มี 3 ประเภท ได้แก่ ภาชนะดินเผาเนื้อดินแบบพื้นถิ่น ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ และภาชนะเคลือบแบบจีน โดยภาชนะดินเผาเนื้อดินแบบพื้นถิ่น พบเศษภาชนะจำนวนมาก แต่ที่มีลักษณะโดดเด่นที่บ่งบอกรูปทรงชัดเจน คือ หม้อมีสัน ลักษณะคือก้นกลมมีลายเชือกทาบและขูดขีด เป็นภาชนะดินเผาพื้นถิ่นที่ปรากฏในแหล่งวัฒนธรรมทวารวดีทั่วไป ช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-16 ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง จำแนกได้ 2 ประเภท ได้แก่ ไหทรงตอร์ปิโด เศษภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ที่พบทำให้ทราบว่า มีไหแบบนี้ 9 ใบ จากการเปรียบเทียบกับไหแบบแอมฟอรา เป็นรูปแบบที่นิยมเรียกกันว่า ไหตอร์ปิโด ซึ่งแหล่งผลิตไหลักษณะนี้มีอยู่ที่ตะวันออกกลาง อาจเป็นแหล่งใดแหล่งหนึ่งบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ช่วงอายุที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 แล้ว ลักษณะเฉพาะของไหแบบนี้คือ มีขนาดใหญ่ หนา ทรงยาวรี ลำตัวป่อง ส่วนก้นกลม มีปุ่มแหลมยื่นที่ปลายก้น ส่วนปากภาชนะแคบกว่าส่วนลำตัว เศษภาชนะของไหประเภทนี้บางชิ้นเจาะรู 4-6 รูในส่วนใต้ปากภาชนะลงมาสันนิษฐานว่าขนาดของไหแบบตอร์ปิโดที่พบนี้ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 45-50 เซนติเมตร สูง 70-80 เซนติเมตร หนา 1.5 เซนติเมตร ดินปั้นมีเนื้อละเอียดและผิวเรียบ ด้านในของไหบางใบมีน้ำยางสีดำหนาติดอยู่ มีกลิ่นเหม็นฉุนคล้ายน้ำมันอย่างหนึ่ง ซึ่งยังไม่ทราบผลวิเคราะห์ว่าเป็นอย่างไร

“นอกจากนี้ ยังพบไหเคลือบสีดำ ไหแตก 2 ใบ ที่เกือบสมบูรณ์ แสดงลักษณะว่ามีเนื้อละเอียดสีขาว เคลือบสีดำใส มีหูจับ 4 หู เป็นรูปห่วงขนาดใหญ่ ส่วนขอบปากผายตั้งสูง ส่วนก้นมีเชิงบริเวณไหล่ภาชนะตกแต่งด้วยการยกเป็นสันและกดลงไปเป็นจุดๆ ลักษณะของไหแบบนี้บ่งบอกว่าน่าจะมีแหล่งที่มาจากเปอร์เซีย นอกจากนี้ ยังพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเนื้อบาง มีสีเทาหรือสีน้ำตาล อีกจำนวนไม่น้อยแต่ยังไม่อาจทราบได้ว่ามาจากแหล่งผลิตใด ส่วนไหเคลือบสีเขียว หรือเซลาดอน เป็นไหขนาดใหญ่สำหรับเป็นบรรจุภัณฑ์มีลักษณะขอบปากตรง ส่วนคอสั้นและก้นแบน ที่ส่วนไหล่มีหูห่วง 4 หรือ 6 อยู่ในแนวนอน ขนานไปกับตัวไห ส่วนที่ไม่เคลือบคือส่วนขอบปากและก้นเคลือบสีเขียวใส ไหรูปแบบนี้มาจากแหล่งผลิต จากแหล่งเตาชินหุ้ย เมืองเจียงเหมิน มณฑลกว่างตง ภาคใต้ของจีน ไหจีนแบบนี้ผลิตในสมัยราชวงศ์ถัง ช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 ส่วนไหไม่เคลือบ เป็นไหขนาดย่อม มีสีน้ำตาลเข้ม มีหูห่วง 6 หู ติดที่ตัวไหบริเวณไหล่ทั้งแนวนอนและแนวตั้ง การขัดผิวมันด้านนอก ทำให้ดูแวววาวคล้ายเคลือบ ที่สำคัญไหใบหนึ่งพบเชือกสีดำร้อยอยู่ที่หู แสดงถึงการใช้เชือกช่วยในการยกหิ้ว ไหแบบเดียวกันนี้มาจากแหล่งผลิตจากแหล่งผลิตจากแหล่งเตาเฟิงไค เมืองเจ้าฉิ้ง มณฑลกว่างตง ภาคใต้ของจีน ไหจีนแบบนี้ผลิตในสมัยราชวงศ์ถัง ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 14 และยังพบอินทรีย์วัตถุอีกหลายอย่าง โดยไหที่กล่าวถึงนี้มีหลายใบใช้เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอินทรีย์วัตถุหลายชนิด เช่น มะพร้าว ข้าวสาร เมล็ดพืชหรือผลไม้ หมาก ชัน กระดูกสัตว์ และก้างปลา เมล็ดของผลไม้ที่ยังไม่ทราบชนิด ที่น่าสนใจคือ กะลามะพร้าวเจาะรู จึงถือเป็นการค้นพบหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดในเรื่องพาณิชย์นาวีโบราณของไทยที่ปรากฏ ณ ขณะนี้ ทั้งยังเป็นแหล่งที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการต่อเรือเดินสมุทรตามแบบอาหรับสมัยโบราณในช่วงเริ่มสมัยประวัติศาสตร์รัฐโบราณในประเทศไทย ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้จึงนับเป็นหลักฐานที่เข้ามาเพิ่มเติมช่องว่างทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้ที่สัมพันธ์กับเส้นทางการค้าโบราณระหว่างภูมิภาคทะเลอาหรับและภูมิภาคทะเลจีนใต้”

อย่างไรก็ตาม แผนการบูรณะอนุรักษ์และพัฒนาเรือโบราณลำนี้ จะได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างเต็มรูปแบบหรือไม่ ก็ต้องรอดูกันจนกว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image