วิกฤต ราคา มาตรการ ‘รัฐบาล’ กรณี ‘ยาง’

ทั้งๆ ที่มีความพยายามตัดไฟแต่ต้นลมจากจังหวัดตรังไปยังจังหวัดพัทลุงด้วยมาตรการ “ตัดไม้ข่มนาม” ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง

แต่ก็ยังเกิดปรากฏการณ์ขึ้นอีกที่จังหวัดชุมพร

แสดงว่าพลานุภาพแห่ง “ค่ายรัษฎานุประดิษฐ์” ก็ดี พลานุภาพแห่ง “ค่ายอภัยบริรักษ์” ไม่เป็นผล จึงจำเป็นต้องเปิดค่าย “ชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ขึ้น

“ปรากฏการณ์” เช่นนี้ “สะท้อน” อะไร

Advertisement

1 เท่ากับชี้ว่าการเชิญเข้าค่ายทหาร “ปรับทัศนคติ” อาจได้ผลใน “กทม.” ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่ไม่แน่ว่าจะได้ผลใน “ภาคใต้”

ขณะเดียวกัน 1 เท่ากับชี้ให้เห็นว่า มาตรการเดียวกันอาจได้ผลใน กทม. ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ในภาคใต้อาจไม่เวิร์ก

Advertisement

นี่คือปมเงื่อนที่ต้องขบคิด พิจารณา

หากฟังจากบทสรุปของนักการเมืองในพื้นที่ ไม่ว่าจะมาจากตรัง ไม่ว่าจะมาจากพัทลุง ไม่ว่าจะมาจากสงขลา เห็นตรงกัน

ที่ “ทหาร” กำลังทำเป็นมาตรการ “การเมือง”

แต่ที่เกษตรกรชาวสวนยางประสบ เป็นปัญหาในทาง “เศรษฐกิจ” เกี่ยวพันกับรายได้ เกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่

เรียกตามสำนวน 66/23 ก็ต้องว่าเป็น “ความยากไร้ทางวัตถุ”

เท่ากับทหารนำ “มาตรการ” หรือ “เครื่องมือ” อย่างไม่สอดรับกับตัวปัญหา ตัวความเดือดร้อนที่เป็นจริงของชาวบ้าน

จึงเสี่ยงและล่อแหลมอย่างยิ่ง

ล่อแหลมและเสี่ยงที่จะทำให้ปัญหาอันระหว่าง “ความคับแค้นทางจิตใจ” กับ “ความยากไร้ทางวัตถุ” กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

หากย้อนไปอ่าน 66/23 ก็จะเข้าใจ

จึงมิได้เป็นเรื่องแปลกที่แม้จะมีการเรียกตัวเข้าค่าย “ปรับทัศนคติ” ที่จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุงมาหมาดๆ แต่ก็มีความจำเป็นต้องเกิดขึ้นอีกที่จังหวัดชุมพร

หากฟังและสัมผัส “ปฏิกิริยา” ข้างเคียง

ก็พอจะอ่านออกว่า แนวโน้มและความเป็นไปได้อาจปะทุขึ้นที่ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา สงขลา และสุราษฎร์ธานี ด้วย

และก็มาจาก “ปัญหา” และความเดือดร้อนเดียวกัน

เพราะนับแต่เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มออกมาเคลื่อนไหวก็แทบไม่มี “มาตรการ” ในทางเศรษฐกิจหรือในเชิง “นโยบาย” ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากเสียงเตือนอย่าทำให้เป็นเรื่อง “การเมือง”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง กรณีของจังหวัดตรัง กรณีของจังหวัดพัทลุง กรณีของจังหวัดชุมพร มาตรการของทหารสะท้อนลักษณะ “การเมือง” อย่างเด่นชัด

เกษตรกรชาวสวนยางต่างหากที่ยึดกุมปัญหา “เศรษฐกิจ”

หากปัญหาและความเดือดร้อนยังไม่ได้รับแก้ไข สะสางอย่างสอดรับกับตัวปัญหาและความเดือดร้อนก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะจบ

หากมองจากสถานการณ์ก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็น่าที่จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราเกิดความสงสัย ไม่แน่ใจ

ก็พวกเขาเห็นด้วยกับ “รัฐประหาร”

ก็ผู้นำที่เคยนำพวกเขาต่อสู้ก็ออกมาให้คำรับรองว่า รัฐบาลหลังรัฐประหารเป็น “รัฐบาลของพวกเรา” แล้วเหตุใดรัฐบาลของ “พวกเรา” จึงทำกับ “พวกเรา” แบบนี้

3 ปีราคายางมีแต่เสื่อม มีแต่ทรุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image