หวั่นตปท.วิจารณ์! สมคิดแจงเหตุ ไม่รีเซตศาลรธน. ยันวิจารณ์คำพิพากษาได้ แต่ต้องสุจริตใจ

“สมคิด” ยัน สนช.ไม่เซตซีโร่ศาลรธน. เหตุหวั่นต่างชาติมองแทรกแซงศาล ยัน สังคมวิจารณ์คำพิพากษาได้แต่ต้องทำโดยสุจริต

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน เวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวว่า คณะกมธ.วิสามัญฯได้พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว โดยจะเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ‪ในวันที่ 23 พฤศจิกายน‬นี้ สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการดำรงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในชุดปัจจุบันนั้นคณะกมธ.วิสามัญฯได้แก้ไขเนื้อหาในบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้ามาดำรงตำแหน่งก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ต่อไป โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ 1.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คนที่ยังเหลือวาระการดำรงตำแหน่ง คณะกมธ.วิสามัญฯได้มีมติเสียงข้างให้ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ และ 2.ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 5 คน ที่เดิมต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะหมดวาระ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ดำรงตำแหน่งต่อไป ซึ่งในส่วนนี้คณะกมธ.วิสามัญฯมีมติเสียงข้างมากให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปเช่นกัน แต่ให้อยู่ไปจนกว่าจะมีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่

นานสมคิด กล่าวว่า การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คน อยู่ต่อไปจนครบวาระ โดยไม่ดูคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 เพราะเป็นการเข้ามาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มีคุณสมบัติครบทุกอย่าง อีกทั้งยังเป็นผู้พิพากษาและศาล ไม่ใช่องค์กรอิสระ ถ้าเอาศาลพ้นจากตำแหน่งทันที จะเป็นเรื่องใหญ่มาก ต่างประเทศจะวิพากษ์วิจารณ์ทันที เพราะศาลต้องมีอิสระ ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 5 คนก็จะอยู่ในตำแหน่งจนถึงการสรรหาใหม่เท่านั้น แม้ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนจะไม่ได้มาจากการเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือศาลปกครอง แต่องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากศาลฎีกาหรือศาลปกครองเท่านั้น เพราะยังมาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ด้วย และเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้ถูกเลือกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

“ดังนั้น การปลดเขาออกจากตำแหน่งย่อมเท่ากับการปลดศาลและเอาศาลออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมขอย้ำอีกกรณีนี้ไม่เหมือนกับกับการเซตซีโร่องค์กรอื่น ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่อยู่ในหมวดว่าด้วยศาลในรัฐธรรมนูญ ไม่เคยเป็นองค์กรอิสระแต่อย่างใด” นายสมคิด กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้ห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาดใช่หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ในกฎหมายไม่มีเรื่องนี้ โดยอดีตที่ผ่านมาสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เหมือนกับการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลปกครอง แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นมาตลอด คือ การละเมิดอำนาจศาล ที่ผ่านมาศาลฎีกาและศาลปกครองมีอำนาจตัดสินคดีคนละเมิดอำนาจศาล แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มี ซึ่งต่อมาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินคดีคนละเมิดอำนาจศาล เพราะคดีละเมิดอำนาจศาลปกติไม่ได้ใช้กับกรณีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาล แต่ใช้กับกรณีอย่างการปิดล้อมศาลเพื่อไม่ให้ศาลเข้าไปนั่งพิจารณาคดี การวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาศาลสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image