ผอ.สนว.คาดสรุปผลชันสูตรศพ ‘น้องเมย’ 30 พ.ย. พรุ่งนี้ จนท.จะนำชิ้นส่วน สมอง-หัวใจมาส่งพิสูจน์

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะโฆษก และพญ.ปานใจ โวหารดี ผอ.กองส่งเสริมและพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ ในฐานะรองโฆษก ร่วมกันแถลงข่าวการผ่าพิสูจน์ชันสูตรศพ นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือ น้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เสียชีวิต หลังพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ ได้ส่งเรื่องให้ทำการผ่าชันสูตรรอบที่ 2

นายสมณ์ เปิดเผยว่า ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับเรื่องจากพนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ วันที่ 25 ต.ค.ให้ตรวจผ่าชันสูตรศพครั้งที่ 2 นตท.ภคพงศ์ ต่อมาวันที่ 27 ต.ค.ทางสถาบันฯรับเรื่องดังกล่าว จากนั้นวันที่ 30 ต.ค.มีการตั้งคณะทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ 3 คน ให้ดำเนินการตรวจผ่าศพ ต่อมาวันที่ 1 พ.ย. ทีมแพทย์ได้ดำเนินการผ่าพิสูจน์ปรากฏว่าไม่พบอวัยวะภายในร่างกายบางส่วน ประกอบด้วย สมอง หัวใจ และกระเพาะอาหาร ถัดมาวันที่ 3 พ.ย. ได้ประสานให้พนักงานสอบสวน สภ.องครักษ์ ดำเนินการติดตามหาอวัยวะเพื่อนำมาตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิต

“ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปผลการผ่าพิสูจน์ได้ เนื่องจากอวัยวะร่างกายยังไม่ครบ เพราะสมองและหัวใจ สามารถบอกโรคการเสียชีวิตได้ จึงต้องรออวัยวะทั้งหมดเพื่อนำมาตรวจสอบ ถึงจะสรุปผลการผ่าพิสูจน์และทราบสาเหตุเสียชีวิตได้ ในการผ่าให้ญาติผู้เสียชีวิตเข้ามาดูการผ่าพิสูจน์ด้วย” นายสมณ์ กล่าว

ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในวันที่ 23 พ.ย.นี้ ทางสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า จะนำอวัยวะทั้ง 3 ชิ้น ส่งกลับมาให้ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจพิสูจน์ และจะทราบผลการตรวจภายใน 1 สัปดาห์ หรือไม่เกินสิ้นเดือนนี้ พ.ย.นี้จะทราบผล โดยไม่ต้องผ่าตรวจร่างกายของนตท.ภัคพงศ์ ซ้ำอีก เพราะได้ผ่าตรวจไปหมดแล้ว ยืนยันให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

Advertisement

นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตมี 2 แบบ คือ 1.การเสียชีวิตตามธรรมชาติโดยป่วยตาย หมอจะวินิจฉัยเพิ่มโดยผ่าชันสูตร ซึ่งต้องมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากญาติ แต่การผ่าพิสูจน์อาจยังวินิจฉัยไม่ได้ในทันที อาจขออวัยวะมาตรวจสอบให้ละเอียด ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอน และ2.การเสียชีวิตโดยไม่ใช่แบบธรรมชาติ เช่น ถูกคนอื่นฆ่าให้ตาย หรือโดยสัตว์ทำ อุบัติเหตุ หรือไม่ปรากฏเหตุ โดยแพทย์สามารถผ่านำชิ้นเนื้ออวัยวะไปตรวจสอบได้ ซึ่งหากอวัยวะใดน่าจะมีประประโยชน์จะต้องมีการขออนุญาตจากญาติเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน ซึ่งแนวทางปฏิบัติของแพทย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน ในความจริงแล้วสามารถนำอวัยวะไปตรวจสอบได้ตามหลักการ

“ขณะเดียวกันทางสถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า เป็นสถาบันที่มีนักเรียนแพทย์ศึกษาอยู่ด้วย เมื่อเกิดกรณีการตายผิดธรรมชาติแบบพิเศษ อาจจะมีการเก็บชิ้นส่วนอวัยวะเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ทำการศึกษาต่อไป”นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า

Advertisement

นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับสภาพร่างกายและอวัยวะของผู้เสียชีวิตนั้นยังเป็นปกติดีในตอนผ่า เพราะมีการแช่ฟอร์มารีน สภาพก็ยังอยู่เหมือนเดิม ส่วนประเด็นการนำอวัยวะของผู้ตายออกไปโดยไม่แจ้งญาตินั้น ตรงนี้ทางสถาบันฯไม่สามารถตัดสินตอบเองได้ แต่จะมีสภาองค์กรวิชาชีพหรือแพทยสภา สามารถบอกได้ว่าผิดจรรยาบรรณหรือไม่

“กรณีที่สื่อมวลชนถามว่ามีการปั๊มหัวใจหรือ CPR ผู้เสียชีวิต 4 ชั่วโมงจนกระดูกซี่โครงหัก นั้นตรงนี้ไม่สามารถตอบได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยโดยจะทำจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นขึ้นมา ซึ่งการทำ CPR มีหลายแบบเช่น การให้ท่ออากาศหายใจ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องปั๊มหัวใจอย่างเดียว” นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า

พญ.ปานใจ กล่าวว่า สำหรับการเก็บชิ้นอวัยวะทางแพทย์สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแจ้งญาติ แต่จะดูความสำคัญในขณะนั้นเป็นอันดับแรกว่าแพทย์จะนำไปตรวจสอบเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ในประเทศไทยยังไม่มีแผนปฏิบัติว่าจะต้องแจ้งญาติทุกครั้ง แต่เพื่อให้สบายใจทุกฝ่ายก็ควรแจ้งให้ญาติทราบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image