คกก.ผู้สูงอายุฯ เคาะมอบเหรียญพระคลังให้ผู้สูงอายุไม่รับเบี้ยชรา 1 ปี

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย-พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2560 ซึ่งมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการให้เงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยคำนึงถึงความเหมาะสม คุ้มค่า และเป็นไปตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 โดยการดำเนินมาตรการดังกล่าวให้ความสำคัญกับการจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเป็นลำดับแรก ซึ่งจากการลงทะเบียนในปี 2560 มีผู้สูงอายุ จำนวน 3,620,301 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี จำนวน 3,069,995 คน และผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/ปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จำนวน 550,315 คน โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจะจ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนแหล่งที่มาของเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจะมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่ 1.ภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุราและยาสูบ ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิตสูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท 2.เงินบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุที่แจ้งความประสงค์บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเต็มจำนวนตามสิทธิเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 12 เดือน (1 ปี) จะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติเป็นเหรียญพระคลังชนิดทองแดงชุบทอง สลักข้อความ “เหรียญพระคลัง เชิดชูเกียรติ ผู้บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” โดยผู้บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และหากไม่ยกเลิกการบริจาคจะถือว่ามีความประสงค์บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อเนื่อง

สำหรับผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สามารถแจ้งความประสงค์บริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 เป็นต้นไป ณ สถานที่ลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ ที่อบต. 5,334 แห่ง เทศบาล 2,441 แห่ง เมืองพัทยา สำนักงานเขต กรุงเทพมหานคร 50 เขต และสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในกรุงเทพมหานครแต่มีทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัดสามารถยื่นเรื่องได้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image