ทหารไทยเมืองละโว้ สวนสนามที่ปราสาทนครวัด โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ขบวนเกียรติยศจากบ้านเมืองเครือญาติสนิทของกษัตริย์กัมพูชา ภาพสลักราว พ.ศ. 1650 บนระเบียงปราสาทนครวัด (ขวา) ขบวนเสียมกุก (ชาวสยาม) เจ้านายและไพร่พลนุ่งถุงเหมือนโสร่ง ไม่นุ่งแบบเขมร นำหน้าขบวนละโว้ (ซ้าย) ขบวนละโว้ อยู่ตามหลังขบวนเสียมกุก เครื่องแต่งกายและกิริยาท่าทางของเจ้านายบนหลังช้างกับไพร่พลในขบวน มีลักษณะอย่างเดียวกับประเพณีเขมรยุคนั้น (ภาพและคำบรรยายจากหนังสือ ขอมอยู่ไหน ไทยอยู่นั่น ขอมกับไทย ไม่พรากจากกัน กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2557)

ความรู้ใหม่ไม่เหมือนใครในโลก เกี่ยวกับภาพสลักที่ปราสาทนครวัด พบในประวัติศาสตร์จากหนังสือเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

(1.) ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด เป็นขบวนทหารเดินสวนสนาม (2.) ทหารเดินสนามถวายความเคารพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ขณะประทับนั่งห้อยพระบาท (3.) มีทหารไทยจากเมืองละโว้อยู่ในการสวนสนามที่ปราสาทนครวัด

ขอคัดข้อความในหนังสือเรียนมาด้วย ดังนี้

ทหารไทยสวนสนามที่นครวัด

Advertisement

“หลักฐานที่แสดงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ก็คือภาพสลักที่นครวัด เป็นภาพทหารที่เดินสวนสนามผ่านหน้าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ขณะประทับรับการเคารพจากทหาร สันนิษฐานว่าทหารไทยที่มาสวนสนามนั้นน่าจะมาจากเมืองละโว้ และละโว้อาจจะเป็นเมืองที่อยู่ใต้อำนาจเขมร”
[
หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557 หน้า 100-101]

ทักท้วง

ภาพสลักที่ปราสาทนครวัด มีคำอธิบายหลายหลากจากนักปราชญ์นานาชาติและนักค้นคว้า นักคิด นักเขียน ฯลฯ สรุปโดยย่อได้ต่อไปนี้

Advertisement

1. นักปราชญ์ฝรั่งเศส (ยุคล่าอาณานิคม) อธิบายว่าเป็นกองทัพเมืองขึ้นของกัมพูชา

แต่มีผู้อธิบายต่างไปว่าเป็นขบวนแห่เกียรติยศของบ้านเมืองเครือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา ไม่ใช่เมืองขึ้น (เหมือนการเมืองสมัยใหม่ยุคล่าเมืองขึ้น)

2. นักปราชญ์ฝรั่งเศสอธิบายว่าเป็นกองทหารเมืองขึ้นของกัมพูชา ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบกับจามปา

แต่มีผู้อธิบายต่างไปว่าเป็นขบวนแห่ของบ้านเมืองเครือญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดของกษัตริย์กัมพูชา ในพิธีถือน้ำพระพัทธ์สัตยา และสรรเสริญพระเกียรติยศของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ไม่ใช่กองทัพยกไปร่วมรบในสงคราม

3. ยุคนั้นไม่เคยพบหลักฐานชาวละโว้เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย แต่เอกสารไทยเรียกชาวละโว้ว่า ขอม

ขบวนแห่เกียรติยศจากละโว้ (ที่เชื่อว่าปัจจุบันคือลพบุรี) ซึ่งเจ้านายและคนชั้นนำพูดภาษาเขมร เป็นรัฐเครือญาติใกล้ชิดกษัตริย์กัมพูชา

ภาพสลักยังมีขบวนแห่อยู่หน้าละโว้เป็นพวกสยาม (หรือ เสียมกุก) ก็ไม่เรียกตัวเองว่า ไทย, คนไทย จึงไม่ควรเหมารวมเอาเองว่าละโว้เป็นทหารไทยหรือคนไทย

มีอีกมาก

ผมอ่านหนังสือเรียนชุดนี้อย่างกลุ้มใจสุดๆ เพราะเห็นอกเห็นใจนักเรียนที่ต้องทนทุกข์ทรมานเรียนตามตำราที่มีปัญหาโดยตัวเองไม่รู้ หรือรู้ก็ทำอะไรไม่ได้

ขณะเดียวกันก็เป็นทุกข์แทนครูผู้สอน ที่ต้องสอนตามหนังสือเรียนของกระทรวงฯ ซึ่งผมว่าอ่านยาก เข้าใจยาก เหมือนหนังสือวิชาการของนักโบราณคดีแบบอาณานิคม

ไม่มีเจตนาจับผิดหนังสือเรียนอย่างนี้ แต่พรรคพวกจากเมืองสุพรรณบอกกล่าวมา ผมเลยฝากซื้อชั้น ม.1, 2, 3, และ 4-6 จากศึกษาภัณฑ์ราชดำเนิน เมื่อวันจันทร์ 20 พฤศจิกายน นี้เอง แล้วลุยอ่าน จึงพบข้อทักท้วง ซึ่งมีอีกมากในหลายเล่ม

แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเขียนบอกอีก หรือพอแค่นี้?

เพราะบอกไปก็เท่านั้น วิธีคิดทางประวัติศาสตร์แบบอาณานิคมต้องเป็นอย่างนี้ แก้ไขไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image