สามารถ แนะเพิ่มขบวนรถแทนถอดเก้าอี้ ชี้ ผดส.3แสน/วัน รถวิ่งแค่19 ขบวน ใช้มาแล้ว13ปี

วันที่ 22 พฤศจิกายน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯกทม. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก แสดงความเห็นกรณีการถอดเก้าอี้ของรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยระบุว่า เร่งเพิ่มรถไฟฟ้าใต้ดินแทนถอดเก้าอี้

การถอดเก้าอี้รถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินโดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา เป็นข่าวที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชนอย่างมากในเวลานี้ และน่าแปลกใจที่การกระทำดังกล่าว เป็นเรื่องที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานแก่บีอีเอ็มไม่ได้รับรายงานมาก่อน

รถไฟฟ้าสายนี้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2547 ถึงวันนี้นับเป็นเวลากว่า 13 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นตามลำดับ จากประมาณ 147,000 คนต่อวันในปี พ.ศ.2547 เป็นประมาณ 300,000 คนต่อวันในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม บีอีเอ็มยังคงใช้จำนวนรถไฟฟ้า 19 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ เท่าเดิมตลอดเวลากว่า 13 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนมีผู้โดยสารแน่น และผู้โดยสารต้องรอรถนาน บีอีเอ็มได้แก้ปัญหาดังกล่าวดังนี้

1.บีอีเอ็มทดลองถอดเก้าอี้ช่วงกลางของตู้โดยสารตู้กลางออกทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งละ 1 แถว ทำให้จำนวนผู้โดยสารนั่งลดลง 14 คน (ฝั่งละ 7 คน) จากการคำนวณของผมพบว่า การถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกจะทำให้ได้พื้นที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 6 ตารางเมตร ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารยืนได้ประมาณ 36 คน (คิดความหนาแน่นของผู้โดยสาร 6 คน/ตารางเมตร) นั่นคือจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 22 คนต่อตู้ แต่ถ้าบีอีเอ็มถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกทุกตู้ตามที่มีข่าว ตู้ละ 2 แถว รวมทั้งหมด 6 แถว (1 ขบวน มี 3 ตู้) จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น 66 คนต่อ 1 ขบวน

Advertisement

จากข้อมูลของ รฟม. พบว่า ในปัจจุบันรถไฟฟ้าใต้ดินมีความจุผู้โดยสาร 885 คนต่อขบวน ประกอบด้วยจำนวนผู้โดยสารนั่ง 126 คน และผู้โดยสารยืน 759 คน ดังนั้น หลังจากถอดเก้าอี้ช่วงกลางออกทุกตู้ จะทำให้มีความจุผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 951 คนต่อขบวน ประกอบด้วยผู้โดยสารนั่ง 84 คน และผู้โดยสารยืน 867 คน หรือคิดเป็นจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 7.5%

2.ผมได้รับการบอกเล่าจากผู้โดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินคนหนึ่งว่า ในช่วงเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เขาต้องรอรถไฟฟ้าที่สถานีสวนจตุจักร (หมอชิต) เพื่อเดินทางไปสถานีเตาปูนนานผิดปกติ กล่าวคือ ต้องรอนานถึงประมาณ 15 นาที จากปกติที่รอไม่เกิน 5 นาที ซึ่งสอดคล้องกับเว็บไซต์ของบีอีเอ็มที่ระบุว่า ในชั่วโมงเร่งด่วนเวลา 06.00-09.00 น. และ 16.30-19.30 น. จะปล่อยรถไม่เกิน 5 นาทีต่อขบวน ผู้โดยสารคนดังกล่าวจึงสอบถามพนักงานประจำสถานีถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น ได้ความว่าในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า บีอีเอ็มตัดการเดินรถจากสถานีหัวลำโพงถึงเตาปูน เหลือสิ้นสุดแค่สถานีสวนจตุจักร ไม่วิ่งต่อไปถึงสถานีเตาปูน แล้วกลับไปรับผู้โดยสารที่สถานีพหลโยธิน (ห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว) เพื่อขนผู้โดยสารเข้าเมือง โดยจะทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน 3 ขบวน พอถึงขบวนที่ 4 จึงจะวิ่งไปจนถึงสถานีเตาปูน

การตัดช่วงการวิ่งให้บริการเช่นนี้ ทำให้ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าผู้โดยสารที่สถานีสวนจตุจักรต้องรอรถไฟฟ้าเป็นเวลานานประมาณ 15 นาที จึงจะสามารถเดินทางไปสถานีกำแพงเพชร บางซื่อ หรือเตาปูนได้ เป็นผลให้มีผู้โดยสารเต็มชานชาลา ในทิศทางกลับกัน ผู้โดยสารที่สถานีเตาปูนที่เดินทางมากับรถไฟฟ้าสายสีม่วงก็ต้องรอรถไฟฟ้าใต้ดินนานประมาณ 15 นาที จึงจะสามารถเดินทางไปสถานีบางซื่อ กำแพงเพชร หรือสวนจตุจักรได้ ทำให้มีผู้โดยสารเต็มชานชาลาเช่นเดียวกัน

Advertisement

การกระทำดังกล่าวของบีอีเอ็มทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย และต้องเสียเวลา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอให้ รฟม. รีบดำเนินการดังนี้

1.ตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม.กับบีอีเอ็มว่า มีการกำหนดจำนวนผู้โดยสารนั่งและผู้โดยสารยืนต่อขบวนไว้หรือไม่ อย่างไร
2.ตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง รฟม.กับบีอีเอ็มว่า มีการกำหนดความถี่ในการปล่อยขบวนรถไฟฟ้าในช่วงเวลาต่างๆ ไว้หรือไม่ อย่างไร
3.เร่งรัดให้บีอีเอ็มเพิ่มตู้หรือขบวนรถไฟฟ้า โดยในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น ควรเพิ่มจำนวนตู้จาก 3 ตู้ เป็น 4 ตู้ต่อขบวน อนึ่ง ในขณะที่รถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถไฟฟ้า

สายสีน้ำเงินมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 300,000 คนต่อวัน ในปัจจุบัน แต่บีอีเอ็มก็ยังคงใช้จำนวนขบวนรถไฟฟ้าเท่าเดิมคือ 19 ขบวน ต่างกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงซึ่งมีผู้โดยสารน้อยกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินมาก กล่าวคือ มีประมาณ 50,000 คนต่อวัน แต่บีอีเอ็มใช้รถไฟฟ้าถึง 23 ขบวน

ทั้งหมดนี้ หวังว่า รฟม.จะรีบสั่งการให้บีอีเอ็มเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อทำให้ผู้โดยสารเดินทางสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image