‘ชาญวิทย์’ ชี้ญี่ปุ่นอึดอัดการเมืองไทย แนะควรหนุนปชต.เพื่อผลประโยชน์ญี่ปุ่นเอง

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สมาคมไทย-ญี่ปุ่น ร่วมกับ โตโยต้า จัดงานสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาส ครบรอบ 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น หัวข้อ “เส้นทางไมตรี 130 ปี ไทย – ญี่ปุ่น ว่าด้วยเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง” เพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่าง ไทย – ญี่ปุ่น รวมถึงการสร้างความเข้าใจเส้นทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ

ในช่วงต้นของการสัมมนา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต: สยาม/ประเทศไทย กับ ญี่ปุ่น และอาเซียน 2430-2560” ว่า สยามกับญี่ปุ่น มีลักษณะ Same same, but different กล่าวคือ แม้ทั้งสยามและญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจาก “การทูตเรือปืน” เหมือนกัน ซึ่งคือการรุกรานจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก จนทำให้ทั้งสองประเทศต้องเปิดประเทศและมีการปฏิรูป

“ในญี่ปุ่นเกิดการปฏิรูปเมจิ ส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (Nation State) เกิดรัฐธรรมนูญ พัฒนาเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรม และเกิดลัทธิทหาร ในขณะที่สยามตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 มิได้เกิดการพัฒนาไปสู่รัฐชาติ แต่กลายเป็นรัฐราชการที่พัฒนาเศรษฐกิจด้วยเกษตรกรรม ต่อมาในยุคสงครามเย็น ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นไปแบบ “ทั้งรักและทั้งชัง” ผลจากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตขึ้นในช่วงสงคราม ทำให้เกิดชนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดชาตินิยมเอียงซ้าย ต่อต้านมหาอำนาจและทุนนิยม ทำให้ญี่ปุ่นถูกนิยามว่า “ภัยเหลือง” เหตุเพราะญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจในไทยอย่างรวดเร็ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นในช่วงดังกล่าวจึงไม่ราบรื่นเช่นที่เคยเป็นมา”

Advertisement

ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อว่า ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงจาก “การเมืองของชนชั้นนำ” กลายเป็น “การเมืองแบบมวลชน” และจนถึงปัจจุบัน ไทยยังคงมีประชาธิปไตยที่ขรุขระ ยอกย้อน และวิกฤติยาว มองเผินๆอาจเห็นว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง แต่ตัวเองคิดว่า เป็นความขัดแย้งระหว่าง “อำนาจเดิม บารมี เงิน/ทุนเดิม” กับ “อำนาจใหม่ บารมี เงิน/ทุนใหม่”

กระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ซึ่ง ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ มองว่า ญี่ปุ่นมีความอึดอัดต่อสถานการณ์ประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน แต่ด้วยบทบาทของจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ญี่ปุ่นกังวลต่อผลประโยชน์ของตัวเองที่อยู่ในประเทศไทย และไม่กล้าเล่นเกมประชาธิปไตยกับไทยเช่นที่ประเทศตะวันตกทำ

ในช่วงท้ายของปาฐกถา ศ.พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เสนอว่า ญี่ปุ่นควรสร้างสมดุลระหว่าง ประชาธิปไตยไทย กับ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควรมองไทยในฐานะเพื่อนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาค ไม่ใช่มองเพียงว่าต้องแข่งกับจีน และควรสนับสนุนประชาธิปไตยในไทยเพื่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่นเองในระยะยาว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image