‘นักวิชาการชี้’คนรวยรับเต็มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-ส่วนรัฐต้องสูญรายได้กว่าแสนล.

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงงานวิจัยเรื่องการวิเคราะห์รายจ่ายภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นผลงานในชุดโครงการแนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า จำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยมีไม่มากนัก คิดเป็นเพียง 10% ของกำลังแรงงานของประเทศ ที่มีอยู่ 39.41 ล้านคน โดยมียอดผู้เสียภาษีเพียง 3.28 ล้านคน จากผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษี 9.75 ล้านคน โดยมีข้อน่ากังวล คือ อัตราภาษีเฉลี่ย ซึ่งคำนวณจากภาระภาษีหารด้วยเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย อยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับอัตราขั้นบันไดตามกฎหมาย โดยในปี 2555 อัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 4.7%

นายอธิภัทรกล่าวว่า อัตราภาษีเฉลี่ยที่ต่ำนี้เป็นผลจากนโยบายการให้สิทธิหักค่าลดหย่อนและหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การอนุญาตให้นำเงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) มาตรการช้อปช่วยชาติที่รัฐบาลทำมาในช่วง 3 ปี มาหักลดหย่อนภาษี การให้สิทธิลดหย่อนภาษีต่างๆ ส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ลดลง ซึ่งเรียกรายได้ของรัฐที่ลดลงนี้ว่า รายจ่ายภาษี ซึ่งมีขนาดรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท หรือ 0.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2560 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งหมดในปี 2560 โดยเฉพาะการหักลดหย่อนที่เกี่ยวกับการออมและการลงทุน เช่น แอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ และเบี้ยประกันชีวิต มีขนาดรวม 5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 45% ของรายจ่ายภาษีทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการลดหย่อนดังกล่าวกระจุกตัวที่คนรวย โดย 67% ของรายจ่ายภาษี เป็นของผู้เสียภาษีในกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเกิน 91,620 บาท/เดือน และ 30% ของรายจ่ายภาษีทั้งหมด เป็นของผู้มีรายได้สูงสุด 5%

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image