กรมศิลป์เร่งทำข้อมูล ชง ‘กต.’ ทวงคืนโบราณวัตถุ ไม่มั่นใจได้คืนทันงานครบรอบสัมพันธ์ ‘200ปีไทย-สหรัฐ’

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ไทย เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยภายหลังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐ ประสานงานขอความร่วมมือให้ทางประเทศไทยตรวจสอบรายการโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย จำนวน 17 รายการว่าเป็นของที่มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ โดยจากการตรวจสอบ พิสูจน์และวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่ามีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 14 รายการนั้น ว่า ขณะนี้ทางกรมศิลปากร อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำรายละเอียด แจ้งผลการตรวจสอบโบราณวัตถุของประเทศไทยในต่างประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น กลุ่มประโคนชัย(กลุ่มปลายบัด)จ.บุรีรมย์ 22 รายการ และทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว รวม 24 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าเป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีรายการโบราณวัตถุ 133 รายการ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และสถาบันการศึกษาในสหรัฐอเมริกา และโบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่ใน พิพิธภัณฑ์ศิลปะโฮโนลูลู รัฐฮาวาย จำนวน 17 รายการ ซึ่งทางสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ สหรัฐ ประสานงานขอความร่วมมือให้ ทางประเทศไทยตรวจสอบ โดยพบว่าจากการตรวจสอบ พิสูจน์และวิเคราะห์เบื้องต้น พบว่าเป็นวัตถุโบราณที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย 14 รายการ เช่น กระดึงสำริด พบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 1,500-2,000 ปี, พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย, พระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิบนฐาน 3 ขา เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการจัดทำรายละเอียดต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว จะส่งให้อนุกรรมการด้านกฎหมายฯ ที่มีนายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นประธาน ดูข้อกฎหมาย ก่อนที่ตนจะลงนามส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ส่งไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิต่อไป

“ส่วนจะได้โบราณวัตถุกลับคืนสู่ประเทศไทย ก่อนที่จะฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 200 ปี ไทย-สหรัฐอเมริกา ในปี 2561 หรือทันฉลองปีใหม่นี้หรือไม่นั้น เรื่องระยะเวลา คงไม่สามารถกำหนดได้ เพราะการจัดทำเอกสารต่าง ๆ ต้องเป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบทุกขั้นตอน แต่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด” นายอนันต์ กล่าว และว่า ส่วนการตรวจพิสูจน์โบราณวัตถุในรายการอื่น ๆ พบว่าเป็นของไทยเพิ่มหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจพิสูจน์ทางวิชาการ ซึ่งกรมศิลปากรเองต้องใช้ความรอบคอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจ หากรายการใดแน่ใจแล้ว จะรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ที่มีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานรับทราบและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image