“กสทช.”ชี้ไลน์โมบายไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่แต่ต้องให้ชัดเจนว่าเป็นของดีแทค

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กสทช. ว่า ที่ประชุมได้บรรจุเรื่องไลน์ โมบาย เข้ามาในระยะกระชั้นชิดทำให้ต้องยกไปพิจารณาในวันที่ 6 ธันวาคมแทน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของกสทช. ด้านโทรคมนาคม ที่เห็นว่า 1.การให้บริการไลน์ โมบาย เป็นการให้บริการของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ภายใต้ใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ไม่ใช่การให้บริการของผู้ประกอบการรายอื่นหรือ บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด จึงไม่ถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง(เอ็มวีเอ็นโอ) 2.มอบหมายให้ กสทช. มีหนังสือแจ้งให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการให้บริการไลน์โมบายให้เป็นไปตามที่ กสทช. กำหนด ได้แก่ การลงทะเบียนซิมการ์ดตามกระบวนการพิสูจน์ยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน สำหรับการโอนย้ายเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ไปยังไลน์โมบาย ให้มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแพ็คเก็จภายในบริษัทเดียวกันมิใช่การย้ายค่ายเบอร์เดิม และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ต้องมีการปรับปรุงพฤติกรรมการให้บริการเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจโดยชัดแจ้งว่าบริการ ไลน์โมบายเป็นช่องทางการให้บริการของ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เช่น การโฆษณาผ่านช่องทางเว็บไซต์ที่เป็นช่องทางการซื้อซิมการ์ด ต้องทำภายใต้ดีแทคไตรเน็ต และติดต่อบริการใช้ชื่อโครงข่าย เป็นต้น

“หากบริษัทดีแทคไตรเน็ตไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ก็ให้ดำเนินมาตรการบังคับปกครองแก่บริษัทต่อไป และมอบหมายให้กสทช. ติดตามและรายงานผลต่อบอร์ดเป็นระยะทุกๆ 1 เดือน ทั้งนี้ ให้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงการให้บริการ ไลน์โมบายอย่างใกล้ชิด หากปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเป็นการให้บริการเข้าข่ายในลักษณะเอ็มวีเอ็นโอ ให้รีบรายงานบอร์ดเพื่อพิจารณาต่อไป” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า บอร์ดยังได้พิจารณาเรื่อง การประมูลโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ซึ่งใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ยูโซ) ในพื้นที่โซน ซี ซึ่งอยู่ในพื้นที่แนวเดียวกับที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) บอร์ดมีมติให้ดำเนินการตามแนวทาวที่ทีโอทีดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เพื่อติดตั้งใน 15,732 จุดตามหมู่บ้าน คาดใช้วงเงิน 3,283.155 ล้านบาท รับประกัน 1 ปี กสทช. จะมอบหมายให้ดีอีดำเนินงาน โดยกสทช. จะโอนเงินเข้ากองทุนดีอีเพื่อให้ดำเนินงาน ตามข้อสังเกตของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กรณีที่หากกองทุนดีอีไม่รับให้ กสทช. เร่งดำเนินการประกวดราคาเพื่อหาผู้รับเหมามาดำเนินการตามแนวทางของทีโอที ให้บริการในพื้นที่โซน ซี ตามวงเงิน 3,283.155 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการประชุมของดีอีและนำเสนอบอร์ดกองทุนดีอี ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไปในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้

ส่วนกรณีการพิจารณาร่างสัญญาการดำเนินงานคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่าง ทีโอที กับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด นั้น คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานฯ ได้ขอให้ทีโอทีชี้แจงข้อมมูลเพิ่มเติม ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ ก่อนจะนำเสนอต่อบอร์ดกสทช. ต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image