สื่อ โฆษณาชวนเชื่อ กับการทำลายประชาธิปไตยในพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อหลายเดือนที่แล้วเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ชาวพม่าเคยชวนผู้เขียนคุยเรื่องโฆษณาชวนเชื่อกับสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ ในฐานะที่เพื่อนของผู้เขียนเป็นนักข่าวสาย “ลิเบอรัล” ที่ยืนยันหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งออกจะหายากอยู่สักหน่อยในสังคมพม่าในปัจจุบัน เขาจึงรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของสื่อในพม่า ซึ่งหากกล่าวเฉพาะการทำข่าวในประเด็นชาวโรฮีนจา ก็จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มชัดเจน คือกลุ่มที่เลือกอยู่ฝั่งรัฐบาลพม่า ประณามชาวโรฮีนจา และสนับสนุนวาทกรรมหรือความเชื่อที่ว่าชาวโรฮีนจาไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐพม่า และอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่มองว่ากองทัพหรือแม้แต่สังคมชาวพุทธในพม่าเองได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง เมื่อกล่าวถึงสื่อหรือสำนักข่าวชื่อดังในพม่า ซึ่งยืนหยัดต่อสู้กับขบวนการ
ประชาธิปไตยและ ด่อ ออง ซาน ซูจี มาโดยตลอด คงจะมีชื่อของสำนักข่าวอิรวดี (The Irrawaddy) โผล่ขึ้นมาเป็นชื่อแรก

อิรวดีเป็นสำนักข่าวอิสระของพม่า ก่อตั้งขึ้นในปี 1990 ที่เชียงใหม่ ก่อตั้งโดย อ่อง ซอ (Aung Zaw) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและอดีตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง จุดกำเนิดของอิรวดีและสำนักข่าวพลัดถิ่นอีกหลายแห่งล้วนมาจากการชุมนุมประท้วงกองทัพของนักศึกษาและประชาชนในปี 1988 (พ.ศ.2531) ซึ่งบานปลายจนเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของพม่า อิรวดีตีพิมพ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาพม่า และเป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่ายประชาธิปไตยมายาวนานเกือบ 3 ทศวรรษ และยังเคยได้รับรางวัลด้านสื่อและสิทธิมนุษยชนอีกหลายรางวัล ในปี 2014 (พ.ศ.2557) จ่อ ซวา โม (Kyaw Zwa Moe) บรรณาธิการของอิรวดีอีกคนหนึ่งเคยย้ำอีกครั้งว่าพม่าต้องการสื่อที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสื่อพม่าที่ถูกเซ็นเซอร์มายาวนานตั้งแต่รัฐประหารของ นายพลเน วิน ในปี 1962 (พ.ศ.2505) และหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 1988 จ่อ ซวา โมกล่าวเองว่า “นักหนังสือพิมพ์ที่มีใจเป็นอิสระเป็นสมบัติที่ทรงคุณค่ากับสังคมประชาธิปไตยทุกแห่ง”

อย่างไรก็ดี ด้วยท่าทีของอิรวดีต่อปัญหาโรฮีนจา ทำให้สำนักข่าวแห่งนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในบทความของ Joshua Carroll ชื่อ “Why Is the U.S. Government Funding Anti-Rohingya Propaganda?” (ทำไมรัฐบาลสหรัฐยังให้การสนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านโรฮีนจา?) แครอลล์ตั้งข้อ
สังเกตว่า อิรวดีเป็นสื่อที่มีอคติต่อชาวโรฮีนจา อยู่เคียงข้างชาวพุทธ เหยียดเชื้อชาติ (racist) และกลายเป็น
กระบอกเสียงให้กับขบวนการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลพม่าเพื่อกวาดล้างชาวโรฮีนจา

ข้อหานี้รุนแรงมาก สำหรับสื่อที่ขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบของสื่ออิสระที่สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยมาโดยตลอด

Advertisement

แม้ข้อสังเกตของแครอลล์อาจจะฟังดู “สุดโต่ง” และยากที่จะเชื่อไปสักหน่อย แต่แครอลล์กล่าวว่าเขารวบรวมข้อมูลทั้งหมดมาจากนักหนังสือพิมพ์ที่เคยทำงานให้อิรวดี ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา มีนักหนังสือพิมพ์จากอิรวดีลาออกไปแล้ว 3 คน เพราะไม่เห็นด้วยกับจุดยืนการทำข่าวเรื่องโรฮีนจาของอิรวดี โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงใช้คำว่า “โรฮีนจา” ซึ่งกลายเป็นของแสลงในพม่า เพราะเกรงว่าจะถูกสังคมพม่า (ที่เป็นกลุ่ม “ลูกค้า” หลักของอิรวดี) มองในแง่ลบ และยังหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “เบงกาลี” ซึ่งก็เป็นของแสลงขององค์กรสิทธิฯทั่วโลก และของชาวโรฮีนจาเอง อิรวดีเลือกใช้คำว่า “ผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็นโรฮีนจา” (self-identifying Rohingya) แทนคำว่า “โรฮีนจา” ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้น แครอลล์มองว่าทัศนคตินี้ชี้ให้เห็นจุดยืนของอิรวดีที่ปฏิเสธการมีอยู่ของชาวโรฮีนจาในฐานะที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง และในอิรวดีฉบับภาษาพม่า กองบรรณาธิการยังเลือกใช้คำว่า “เบงกาลี” โดยให้เหตุผลว่าชาวพม่าส่วนใหญ่เรียกโรฮีนจาแบบนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ลดระดับความน่าเชื่อถือของสื่อทางเลือกอย่างอิรวดี

ประเด็นเหล่านี้ทำให้แครอลล์ตั้งคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาและองค์กรอื่นๆ ยังควรให้เงินบริจาคกับอิรวดี ที่มีมูลค่านับแสนเหรียญในแต่ละปี อยู่หรือไม่ ก่อนหน้านี้ก็มีองค์กรการกุศลบางแห่งที่ยกเลิกการให้เงินสนับสนุนอิรวดีไปแล้ว แครอลล์เปรียบเทียบอ่อง ซอ บรรณาธิการอิรวดีกับออง ซาน ซูจี เพราะเขามองว่าวีรบุรุษ/วีรสตรีประชาธิปไตยในพม่าทั้ง 2 คนมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือต่างเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เคารพในสังคมพม่าจากการทำงานหนักเพื่อส่งเสริมการสร้างประชาธิปไตยในพม่า แต่เมื่อมีประเด็นเรื่องโรฮีนจาขึ้นมา พวกเขาเหล่านี้กลับนิ่งเฉย และร่วมกันโหมโฆษณาชวนเชื่อที่ว่าชาวโรฮีนจามิใช่ชนกลุ่มน้อยในผืนแผ่นดินพม่า และมองว่าชาวโรฮีนจาเป็นตัวการทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลพม่าภายใต้ออง ซาน ซูจีต้องแปดเปื้อน

Jason Nelson เพิ่งยื่นใบลาออกจากอิรวดี หลังจากอยู่กับสำนักข่าวนี้มา 10 ปี โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของอ่อง ซอในเรื่องโรฮีนจา และกล่าวว่า อิรวดีกำลังพยายามเข้าหาแหล่งเงินบริจาคจากภายในประเทศมากขึ้น ภายหลังองค์กรจากภายนอกประเทศหลายแห่งเพิ่งยกเลิกให้การสนับสนุนตน จึงไม่แปลกที่อ่อง ซอจะต้องปรับทัศนคติและปรับภาพลักษณ์ของอิรวดีเพื่อดึงดูดองค์กรและบริษัทเอกชนภายในพม่า ที่ล้วนแต่มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับกองทัพ แนวทางของอ่อง ซอทำให้ผู้เขียนนึกถึงจุดยืนของหนังสือพิมพ์ Myanmar Times หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษกระแสหลักในพม่า เมื่อเร็วๆ มานี้ คุณกวี จงกิจถาวร บรรณาธิการและผู้บริหารของ Myanmar Times ออกมาให้สัมภาษณ์ในเชิงว่าสื่อในพม่าปัจจุบันต้องสร้าง “เรื่องเล่าของพม่าเอง” (Myanmar Narrative) โดยอ้างถึงความสำเร็จของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ทำให้สื่อเป็นกระบอกเสียงของตนและสร้าง “เรื่องเล่า” เวอร์ชั่นของตนเองขึ้นมาให้คนในประเทศเชื่อได้

Advertisement

คุณกวีอาจจะหลงลืมไปว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่จำกัดเสรีภาพของสื่ออย่างหนัก และถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 151 ในดัชนีชี้วัดเสรีภาพของสื่อโลก (World Press Freedom Index) ซึ่งจัดโดย Reporters Without Borders ซึ่งต่ำกว่าทั้งไทย (อันดับที่ 142) และพม่า (อันดับที่ 131) ก่อนหน้านี้ Myanmar Times ยังถูกกดดันให้ไล่ Fiona MacGregor ออก หลังเธอเข้าไปทำข่าวสืบสวนในรัฐยะไข่ และเปิดโปงว่ากองทัพพม่ามีส่วนในการข่มขืนกระทำชำเราสตรีชาวโรฮีนจาอย่างเป็นระบบ (systematic rape) จริง Myanmar Times
ไล่แมคเกรเกอร์ออกในเดือนตุลาคม 2016 โดยให้เหตุผลว่าเธอละเมิดกฎของบริษัท ทำลายชื่อเสียง Myanmar Times และพยายามดิสเครดิตกระบวนการปรองดองในพม่า

ทั้งอิรวดีและ Myanmar Times เป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นวิกฤตเสรีภาพของสื่อในพม่า และสถานการณ์ดูจะร้ายแรงขึ้นภายใต้กระบวนการปรองดองและสร้างสันติภาพแห่งชาติ ซึ่งทำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้เลยว่าการปรองดองในแบบพม่าไม่ต่างกับการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการลอยนวลพ้นผิด (impunity) การสร้างความชอบธรรมให้กับกองทัพและบรรดานักธุรกิจที่มีส่วนแบ่งจากกองทัพทั้งหลาย และการซุกปัญหาและความเน่าเฟะทั้งหลายไว้ใต้ผืนพรมที่สวยหรู ผ่านการเซ็นเซอร์สื่อ หรือแม้แต่การโน้มน้าวให้สื่อเซ็นเซอร์
ตัวเอง

เพราะหากสื่อที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยกันมาไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง ก็อาจจะถูกหาว่าเห็นแก่ตัวและทำลายแผนการปรองดองและสร้างสันติภาพ อย่างที่ Fiona MacGregor โดนมาแล้วก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image