นักสิทธิฯแนะรัฐรื้อฟื้นการละเมิดสิทธิหลังประกาศวาระแห่งชาติ ชี้ต้องเปิดกระบวนการจับคนเห็นต่าง

วันที่ 23 พฤศจิกายน ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล และอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านชุมชนและทรัพยากร แสดงความเห็นต่อกรณีที่รัฐบาลประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติว่า เป็นสิ่งที่มีนัยยะในแง่บวกค่อนข้างมากเนื่องจากกว่า 3 ปีที่ผ่านมามีปัญหามาก เช่น แรงงานทาส ผู้หญิง และเด็ก ซึ่งแก้ไขไม่ได้ การเป็นวาระแห่งชาติ หมายถึง จะต้องมีนโยบาย มีโครงสร้าง มีองค์กร งบประมาณ กฎหมายรองรับที่ชัดเจน สะท้อนความตั้งใจที่จะทำตามหลักการสิทธิมนุษยชน ถือว่ามีเจตนาดี

ส่วนประเด็นทึ่คนมองว่า รัฐบาลมีการทำงานไม่ลงรอยกับคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนนั้น มีความรู้สึกว่าพฤติกรรมของรัฐในด้านสิทธิมนุษยชน เรื่อง การแก้กฎหมายมีการ”เซ็ตซีโร่” และปรับปรุงหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน ทำให้เกิดคำถามมากมาย ความพยายามเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งในทางสากล องค์กรสิทธิฯ ต้องเป็นองค์กรอิสระ ที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สะท้อนการเคารพในสิทธิมนุษยชนที่มีการลงนามในอนุสัญญาต่างๆ เมื่อรัฐต้องการควบคุมและรายงานต่อรัฐ สื่อเจตนาว่ากลไกถูกคุมโดยรัฐซึ่งเป็นแง่ลบมากๆ

“พอรัฐบาลให้เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ สิ่งแรกต้องพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน ฉะนั้นรัฐบาลต้องยอมรับเรื่องนี้ ต้องรื้อฟื้น ทบทวนว่าการกระทำใดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การนำคนมาปรับพฤติกรรม การจัดการผู้เห็นต่าง ออกหมายจับจนต้องหนี ไม่มีโอกาสต่อสู้ กระบวนการแบบนี้ต้องเปิดเผยออกมา ต้องนำมาทบทวน ถือโอกาสปรับปรุงแก้ไข”ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image