ชะตากรรมผู้หญิงถูกกระทำ ความยุติธรรมถูกปิดกั้นตั้งแต่ต้นทาง

จากสถิติต่างๆ ชี้ว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงในไทย นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ทว่าผู้ประสบปัญหามักเลือกจะไม่ไปแจ้งความ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่ที่กล้าบากหน้าไปแจ้งความ เพราะหวังจะให้กระบวนการยุติธรรมช่วยยุติปัญหา ก็ต้องห่อเหี่ยวกลับมา ซึ่งเป็นเพราะอะไรนั้น คำตอบถูกรวบรวมและนำเสนอในงานเสวนา เนื่องในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรี หัวข้อ “การเข้าถึงความยุติธรรมที่ต้นทาง : ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง” จัดโดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ถนนราชปรารภ

นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ปฏิรูปตำรวจอย่างไรให้เป็นมิตรกับผู้หญิงและเด็ก” ตอนหนึ่งว่า กสม.พบปัญหาความล่าช้าในชั้นพนักงานสอบสวน ตั้งแต่ตัวเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนมีทัศนคติต่อคดีความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดา การไม่มีล่ามภาษามือหรือคนช่วยสื่อสาร รองรับผู้เสียหายคดีทางเพศที่เป็นกลุ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ อีกทั้งพบปัญหาผู้เสียหายต้องไปแจ้งโรงพยาบาลว่าตัวเองถูกข่มขืน เพื่อนำไปสู่การตรวจร่องรอยในร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอย่างมาก และพบว่าถ้าเป็นผู้หญิงมุสลิมภาคใต้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ แทบไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย เพราะมักจะส่งไปให้ผู้นำองค์กรศาสนาตัดสิน บางรายถูกบังคับให้แต่งงานกับคนที่ข่มขืนตัวเอง ฉะนั้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาปรับปรุงวิธีการทำงานให้สอดคล้อง เยียวยา และให้ความยุติธรรมกับผู้เสียหาย

อังคณา นีละไพจิตร

ภายในงานยังมีเปิดผลศึกษาเรื่อง “การเข้าถึงความยุติธรรมในชั้นงานสอบสวน : กรณีความรุนแรงต่อผู้หญิง” ซึ่งได้สรุปสาเหตุที่ผู้เสียหายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยาก เนื่องจากตำรวจส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอย่างขาดความรู้ความเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนทางเพศ ความรุนแรงทางเพศและครอบครัว จึงไม่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการผู้เสียหาย ไม่แจ้งสิทธิ อีกทั้งขาดความพร้อมให้บริการ โดยเฉพาะห้องสอบสวนที่เป็นส่วนตัว ล่ามสื่อสารภาษาต่างๆ ขณะที่กลไกพนักงานสอบสวนหญิงที่จะช่วยให้ผู้เสียหายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ก็ยังขาดทั้งปริมาณและคุณภาพ เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะนโยบายองค์กรตำรวจ ไม่ให้ความสำคัญความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และขาดกลไกตรวจสอบการทำงาน จึงทำให้ผู้ประสบปัญหาต้องเผชิญกับบริการไม่ดี คดีไม่คืบหน้า

ในรายงานยกเคสศึกษาคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กหญิง 3 ขวบ ที่มีลุงเป็นผู้กระทำ ซึ่งบากหน้าไปแจ้งความตั้งแต่เวลา 21.00 น. สอบปากคำอยู่ 3 ชั่วโมง ก่อนไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตำรวจ และไปเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนในเวลา 04.00 น. รวมเวลา 7 ชั่วโมง ซึ่งพวกเขาต้องอดทนเพื่อเข้าถึงความยุติธรรม ทว่าบัดนี้คดีก็ยังไม่คืบหน้าไปเท่าที่ควร เวลาผ่านไปแรมสัปดาห์ แรมเดือน ตำรวจก็ยังไม่เรียกไปสอบปากคำ เพราะแจ้งว่าหลักฐานยังไม่เพียงพอ อีกทั้งถามกลับมาอีกว่าเด็กเข้าไปหาอันตรายนั้นเองหรือเปล่า ขณะที่สภาพจิตใจเด็กตอนนี้มีแต่ความกลัว

Advertisement

ขณะที่ นางณัฐิยา ทองศรีเกตุ ผู้อำนวยการบ้านพักฉุกเฉิน ก็ยืนยันถึงอุปสรรคกระบวนการยุติธรรมที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า ยิ่งหากผู้เสียหายหรือภาคเอ็นจีโอที่เข้ามาช่วย ไม่กระตุ้นไม่สอบถามอยู่ตลอด คดีก็แทบไม่คืบหน้า อาทิ บางเคสแจ้งความผ่านไป 3 เดือนถึงจะเริ่มสอบปากคำ ส่วนผลตรวจร่างกายของโรงพยาบาลต้องรออย่างน้อย 1 เดือน เมื่อผลออกไม่โทรแจ้ง ผู้เสียหายต้องติดตามผลเอง

ณัฐิยา ทองศรีเกตุ

“จากการทำงานกับเด็กและผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายมาโดยตรง พวกเขาต้องการบริการที่เป็นมิตร ทำอย่างมีหัวใจ เอาใจใส่กับปัญหา มีห้องพูดคุยเป็นสัดส่วน และไม่มองว่าผู้เสียหายเป็นผู้เข้าไปหาเรื่องเสียเอง” นางณัฐิยากล่าว

ด้าน พ.ต.อ.หญิงชุติมา พันธุ ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า การไปหวังพึ่งพนักงานสอบสวนอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะลำพังก็มีภารกิจรับผิดชอบมากจนแทบเอาตัวเองไม่รอด แต่มองว่าการเอ็มเพาเวอร์กับผู้หญิงก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อาทิ สร้างความรู้ว่าพฤติกรรมใดเรียกว่าความรุนแรง ให้รู้ถึงคุณค่าตัวเอง และรู้กระบวนการเรียกร้อง จะสำคัญและทำให้การเรียกร้องประสบความสำเร็จกว่า

Advertisement
พ.ต.อ.หญิงชุติมา พันธุ

เพราะจะทำให้ผู้เสียหายอยู่ในกระบวนการยุติธรรมตลอดรอดฝั่ง ไม่แป้กเหมือนที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image