เลือกตั้ง พิสดาร ทอนกำลัง การเมือง หัวใจ รธน.60

ไม่ได้เป็นเรื่องปิดบังซ่อนเร้นอะไร

ว่า คสช. และแม่น้ำทั้ง 5 สาย ไม่ต้องการให้พรรคและนักการเมือง “แบบเดิม” กลับเข้ามามีอำนาจอีกในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ดังนั้น จึงมีกฎหมาย กติกา และข้อกำหนดมากมาย

ที่จำกัดอำนาจ ขอบเขต และบทบาทการทำงานของรัฐบาลและ ส.ส. ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

Advertisement

แต่เพื่อความมั่นใจ แม้แต่กติกาการเลือกตั้งก็ต้องกำหนดให้ “พิสดาร” เข้าไว้

ทอนกำลังและจำนวนของพรรคการเมืองใหญ่

เปลี่ยนการเมืองจากก้อนซีเมนต์ให้กลายเป็นกองทราย

Advertisement

และถ้าเป็นไปได้คือต้องไม่ทำให้เกิด “รัฐบาลพรรคเดียว” ขึ้นอีกแล้วในอนาคต

พึงสดับ

 

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมอาคารรัฐสภา

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

นางสมิหรา เหล็กพรหม รอง ผอ.สำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

และ น.ส.สง่า ทาทอง ผอ.ฝ่ายบริหารการเลือกตั้ง และการออกเสียงฝ่ายประชามติ กกต.

ร่วมกันแถลงความคืบหน้าการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และหลักเกณฑ์การคิดคำนวณ การประกาศผลการเลือกตั้งว่า

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนได้ 1 ใบ ในบัตรสำหรับเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน

บัตรใบนี้จะถูกนำไปใช้คิดคะแนนหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 150 คนด้วย

1.หาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ด้วยการนำคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือก ส.ส.ทุกพรรคมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมดคือ 500

เช่น ผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคได้คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกัน 29.5 ล้านเสียง เมื่อนำไปหารจำนวน ส.ส. 500 คน ผลลัพธ์ที่ได้คือทุก 59,000 เสียง พรรคนั้นจะมี ส.ส. 1 คน

2.การหาจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ให้นำผลลัพธ์จากข้อ 1 หารด้วยคะแนนที่ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต ได้รับ

เช่น พรรค ก. มีคะแนนเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ 13.1 ล้านเสียง เมื่อหารกับ 59,000 เสียง จะได้ผลลัพธ์ 222.03 ดังนั้น จำนวนที่พรรค ก. พึงมี ส.ส. คือ 222 คน

3.การหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นำจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี ลบด้วยจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือก

เช่น พรรค ก. พึงมี ส.ส. 222 คน ลบจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่ได้รับเลือกแบบไปแล้ว 187 คน

จะมีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับเลือกอีก 35 คน

หากมีพรรคการเมืองไหน ได้จำนวน ส.ส.เขต มากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมี

พรรคนั้นจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก

2.กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 หรือคิดเป็น 333 เขต

การจะคำนวณหาจำนวน ส.ส. ก็ต้องใช้เลขที่เป็นฐานคิดจาก ส.ส.ร้อยละ 95 คือ จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี 475 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบเขต 333 คน แบบบัญชีรายชื่อ 142 คน

แต่เมื่อได้ครบทุกเขตแล้ว จะทำการคำนวณคะแนนใหม่จากฐาน ส.ส. 500 คน

และภายใน 1 ปี กกต.จะคำนวณคะแนนใหม่ทุกครั้ง

เมื่อถามว่า การเลือกตั้งแบบนี้ มีโอกาสที่พรรคการเมืองจะได้เสียงเกิน 250 ที่นั่งหรือไม่

น.ส.สง่ากล่าวว่า ในการนำคะแนนของ ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

จะทำให้เขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉลี่ยประมาณ 1.8 แสนคน

ดังนั้น การที่จะมีพรรคการเมืองใดได้คะแนนโดดไปถึง 250 ที่นั่ง

ก็คงเป็นเรื่องที่ยาก

 

แต่ถ้ายังคิดว่าพิสดารไม่พอ

ข้อเสนอล่าสุดของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็คือ

หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบ่งเขต 350 เขต ต้องจับสลากเลือกทุกเขต

350 เขต 350 คน 350 เบอร์

ถ้าผู้ลงคะแนนเลือกตั้งเดินทางบ่อย ข้ามเขตเลือกตั้งไปทำมาหากินก็ดี หรือด้วยเหตุอื่นก็ดี

จนจำไม่ได้ จำผิด หรือสับสน

ก็เป็น “ความซวย” ของพรรคและนักการเมืองไป

การเมืองแข็งแรงไม่ได้

พรรคการเมืองแข็งแรงไม่ได้

นี่คือหัวใจของรัฐธรรมนูญ 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image