หมอพรทิพย์เผยไร้ข้อกำหนดนำอวัยวะตรวจต้องแจ้งญาติ แต่กรณีตายในรร.ตท.คำนึงถึงสิทธิควรแจ้ง

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ อาคารธารทิพย์ ชั้น 5 โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึงหลักการชันสูตรศพ กรณีการเสียชีวิตที่โรงเรียนเตรียมทหารของ นายภคพงศ์ หรือเมย ตัญกาญจน์ นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมว่า ว่าหากมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น หลักการชันสูตรศพนั้นมีแนวทางการดำเนินการที่ไม่ค่อยเหมือนกัน ถ้าเป็นพยาธิแพทย์ที่เป็นการตรวจวินิจฉัยโรค จะผ่าและตัดบางส่วนไปตรวจ ซึ่งส่วนที่เหลือก็จะมีการเก็บแช่ฟอร์มาลินเอาไว้ เพื่อว่าถ้าไปนำบางส่วนไปตรวจแล้วไม่ได้ข้อสรุปก็จะนำกลับไปตรวจใหม่ จะมีการตรวจเพิ่มได้ ส่วนใหญ่การตรวจดังกล่าวจะต้องแจ้งญาติ ส่วนการผ่าทางนิติเวช เบื้องต้นจะเหมือนกันกับทางพยาธิแพทย์ คือตรวจอวัยวะเหมือนกันแต่อวัยวะทั้งหมดจะต้องถูกเก็บห่อคืนกลับเข้าไป เผื่อว่าจะมีการตรวจซ้ำ แต่ในเรื่องการนำอวัยวะออกมาแล้วต้องแจ้งญาติ ในประเทศไทยเองยังไม่มีเกณฑ์กำหนดในการดำเนินการดังกล่าว ตรงนี้จึงควรเป็นหนึ่งในข้อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มีการนำเสนอแล้ว ทั้งเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานการตรวจพยานหลักฐาน จะต้องมีรูปถ่ายซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ที่เป็นจุดสนใจมากที่สุด ทำให้สามารถหาสาเหตุการตายโดยสมบูรณ์และจะสามารถบอกได้ในระดับหนึ่ง

ในเรื่องการชันสูตรพลิกศพส่วนที่สำคัญที่สุดคือการตรวจศพโดยสมบูรณ์ซึ่งต้องตรวจศพทั้งตัวทั้งสมอง ตับ ไต อาการแบบนี้อาจจะมีอาการที่อื่นอีกก็ได้ นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องตรวจหมด ที่ต้องตรวจสมองด้วยก็เพราะไม่ใช่ ว่าเราเป็นอาการแต่หัวใจแล้ว จะต้องตรวจแต่หัวใจอย่างเดียว เพราะโดยหลักการ แล้วการตรวจตามพยาธิแพทย์หรือพยาธินิติเวช จะต้องตรวจทั้งตัว เพื่อจะตอบโจทย์ได้ว่าเกิดจากอะไร จึงไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปเอาสมองเขาออก

“เพียงแต่ว่าการเอาอวัยวะไปดำเนินการบางหน่วยงานก็อธิบายบางหน่วยงานก็ไม่ได้อธิบาย แต่สำหรับหมอตอนทำงานอยู่ รพ.รามาธิบดีจะอธิบายตลอด และถ้าเป็นนิติเวชเราก็จะคืนอวัยวะเพราะโดยระบบมันต้องคืน เผื่อจะนำไปตรวจซ้ำ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว

เมื่อถามว่า มองกรณีน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตอย่างไร พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า จากชื่อหน่วยงานที่ทำการตรวจศพ ฟังได้ว่าเป็นพยาธิแพทย์ เพราะนั้นตามหลักการ ก็จะมีการนำอวัยวะส่วนที่เหลือไปแช่ในฟอร์มาลิน ไว้จนกว่าจะมีการตรวจพิสูจน์ แต่ตนยังไม่ได้เห็นกรณีนี้ด้วยตนเอง เพราะเป็นความรับผิดชอบของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไปแล้ว ถ้าเขาไม่ได้ปรึกษามา ก็ไม่ได้เข้าไปดู แต่พยายามที่จะทำความเข้าใจกันก่อนว่าสำหรับเรื่องการนำอวัยวะไป ถ้าเป็นการตรวจพยาธิแพทย์เขามักจะเก็บอวัยวะไว้

Advertisement

เมื่อถามว่า การตรวจแบบพยาธิแพทย์แบบนี้มักจะมีการบอกญาติด้วยหรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ต้องบอกว่าประเทศไทยยังไม่เคยมีข้อกำหนดกลางในเรื่องนี้ ตนก็พยายามที่จะผลักดันให้มีข้อกำหนดกลาง เช่น ศพควรบันทึกถ่ายรูป แต่หลักสากลนั้นมีข้อกำหนดไว้ ถามต่อว่า ก่อนการผ่าแบบพยาธิแพทย์จะต้องมีการติดต่อแจ้งญาติและลงลายลักษณ์อักษรหรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ตอนแรกจะต้องมีการเซ็นยินยอมในการผ่าศพซึ่งจะอธิบายญาติ ซึ่งส่วนมากเขาก็จะบอกความจำนงไม่เอาอวัยวะกลับไปเพราะจะทำให้ศพเน่าเร็ว แต่ถ้าเป็นแบบนิติเวช แม้จะมีการตรวจแบบพยาธิ ก็จะดำเนินการเอาอวัยวะคืนกลับมาทั้งหมด แต่ทั้งนี้แล้วแต่หน่วยเพราะประเทศไทยยังไม่มีข้อตกลง

ถามต่อว่าการผ่าแบบใดก็ตามจะมีเรื่องข้อกฎหมายเรื่องการนำอวัยวะออกนอกศพโดยไม่แจ้งญาติเข้ามาควบคุม และมองเห็นความผิดปกติในกรณีนี้หรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า เป็นแนวปฏิบัติแต่ต้องคำนึงถึงสิทธิที่ต้องคุยกับญาติว่าญาติจะเอาหรือไม่ แต่ตนจะตอบได้ในเฉพาะโรงพยาบาลที่เคยทำงานมา ทุกครั้งเราก็ถามญาติว่าจะเอาอวัยวะกลับไปหรือไม่ส่วนใหญ่ญาติก็จะไม่เอา ซึ่งการตรวจพยาธิแพทย์จะดองอวัยวะเอาไว้จนกว่าจะหาสาเหตุได้ ส่วนกรณีนี้ตนยังไม่เห็นความผิดปกติที่ชัดเจน

“ตัวหมอไม่ได้ลงไปในเนื้อคดี แต่แพทย์ผู้ผ่าจะทราบประเด็นที่สังคมสงสัยควรจะถูกอธิบายโดยแพทย์ที่ดำเนินการแต่เขาอาจจะติดเรื่องตำแหน่งหน้าที่ ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าอวัยวะหายคือเขาเป็นอะไรตาย”

Advertisement

ถามอีกว่า ทำไมเมื่อผลตรวจทางพยาธิแพทย์ยังไม่ออกมาแต่กลับมีการแจ้งสาเหตุการตายกลับญาติน้องไปก่อนหน้านี้ผิดปกติหรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงเพียงปรากฏจากสื่อ โดยหลักแล้วการแจ้งเหตุการตายแล้วแปลว่า แพทย์ที่ทำการผ่าน่าจะสรุปได้แล้ว แต่กรณีนี้เราไม่รู้ว่าแพทย์สรุปแล้วหรือยัง ตนไม่รู้จริงๆ เราไม่รู้ความจริงคืออะไร กรณีของน้อง เมย ถือเป็นการตายผิดธรรมชาติแน่นอน เพราะเป็นการตายโดยกะทันหันไม่ปรากฏเหตุ

เมื่อถามว่า เป็นจะต้องเป็นการผ่าแบบไหน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า จะต้องผ่าแบบสมบูรณ์ ทั้งพยาธิ และนิติเวช ซึ่งที่ผ่านมาที่ในสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จะต้องแจ้งญาติ ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน เป็นการตายผิดธรรมชาติเพราะตายกะทันหัน แต่ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากโรคหรือไม่ใช่ก็ได้
“การตายในโรงเรียนเตรียมทหารจะต้องตรวจทั้งตัว ตรวจภายนอกก่อนว่ามีรอยช้ำหรือไม่ ทุกคนจะต้องนึกถึงสิทธิของคนตายต้องระวังเรืองนี้ จากนั้นค่อยตรวจภายใน และตรวจชิ้นเนื้อ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาเคยมีเคสเสียชีวิตในเขตทหารตรงนี้ในฐานะคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมีแนวคิดแก้ไขอย่างไรบ้าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ สหประชาชาติมีการกำหนดเอาไว้ และประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการในเรื่องการตายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐจะต้องมีหน่วยงานกลางเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมีการผลักดันเข้าไปด้วย ในส่วนตนคิดว่าหลักการชันสูตรพลิกศพที่มีเจ้าหน้าที่ 4 ฝ่าย (พนักงานสอบสวน แพทย์ พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง) ยังไม่เพียงพอ ส่วนเรื่องที่ควรจะขึ้นศาลทหารหรือศาลยุติธรรมนั้น ตนไม่ค่อยติดใจ แต่ติดใจว่าผู้ที่ดำเนินการทุกภาคส่วนจะสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระเต็มที่หรือไม่ ถ้าขึ้นต้นด้วยกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานที่ไม่อิสระ ศาลอะไรก็ไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้ ขึ้นต้นต้องอิสระก่อนจะได้อยู่ในฐานะที่คนละสังกัดกันจะได้ไม่มีข้อจำกัดและเป็นอิสระของความเป็นวิชาชีพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image