ม.หอการค้าฯเปิดตัว “หลักสูตรวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม” แห่งแรกในไทย

ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล

IDE Center by UTCC เปิด “วิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE 101)” ครั้งแรกในประเทศไทย บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนแก่นักศึกษาปีละ 5,000 ราย ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่

ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ IDE Center by UTCC ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในรายวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 เป็นแห่งแรกในประเทศไทย บรรจุเป็นรายวิชาสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1ทุกคนผ่านการสร้างแนวคิด (Mindset) ทางการประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงกระบวนการของการเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม และทราบถึงกระบวนการ 24 ขั้นตอนของการสร้างธุรกิจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีละ 5,000 ราย ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมของประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการ และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งนี้จากการที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MITประเทศสหรัฐอเมริกา ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการปรับแนวทางการเรียนการสอนจาก Lecture Based เป็น Projected Based ที่มุ่งเน้นทำจริงตามหลักการและกระบวนการเรียนรู้แบบMIT มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย”

Advertisement

วิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 เป็นวิชาที่นำแนวคิดกระบวนการ 24 Steps Disciplined Entrepreneurship จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นวิชาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชั้นปีที่ 1 ทุกคน โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนในภาคปฏิบัติ (Projected Based Learning) เพื่อให้นักศึกษาได้มีการลงมือทำจริง ซึ่งนักศึกษาจะต้องคิดหาไอเดียทางธุรกิจจากการค้นหาปัญหาจากพื้นที่ในเขตห้วยขวางและดินแดง ประกอบกับต้องคิดหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือเข้าใจถึงผู้ที่ได้รับปัญหาซึ่งจะเป็นลูกค้าของธุรกิจในอนาคต ตั้งแต่ การทำการสอบถามลูกค้า และสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อทอดสอบจริง และจะต้องนำเสนอเพื่อแข่งขันกัน โดยคาดหวังว่าจะพัฒนาไอเดียทางธุรกิจร่วมกับชุมชนห้วยขวางและดินแดง

“กลุ่มเป้าหมายหลักของวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101  คือนักศึกษาทุกคนและทุกคณะในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้บรรจุวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 ให้เป็นรายวิชา General Education ที่นักศึกษาทุกคนจะต้องลงทะเบียนเรียน เพื่อสร้างแนวคิด (Mindset) ทางการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจถึงกระบวนการ และจิตวิญญาณของการประกอบการ เพราะมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเชื่อว่าการประกอบการไม่ใช่องค์ความรู้ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ ซึ่งนักศึกษาสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับรายวิชาอื่น ๆ ได้ต่อไป และสำหรับในภาคการศึกษาที่ 1 นี้มีนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าเรียนในวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ  IDE 101 แล้วรวมกว่า 25 กลุ่ม หรือประมาณ​ 1,500 คน โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยตั้งเป้าจะให้ความรู้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยปีละ 5,000 คน” รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริม

ทางด้าน อาจารย์​ ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (IDE Center by UTCC) เปิดเผยว่า “การเรียนการสอนในวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ  IDE 101 เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย โดยการเรียนรู้ เข้าใจ จากการปฏิบัติจริงและไม่มุ่งเน้นให้ท่องจำไปสอบ หาแต่เข้าใจกระบวนการ และสร้างมายเซ็ตทางการประกอบการซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาทุกคนสามารถนำไปใช้ได้เมื่อจบออกไป ไม่ว่าจะสร้างองค์กรธุรกิจของตนเอง หรืออยู่ในองค์กรธุรกิจที่ตั้งอยู่ ทั้งนี้การเรียนการสอนได้มีการวางแผนการสอน การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) รวมไปถึงการสอดแทรกแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันของทีมสอนที่ได้รับผ่านการอบรมจาก MIT ซึ่งเป็นทีมผู้สอนที่ไม่ใช่เฉพาะอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการสมัยใหม่จากหลากหลายธุรกิจ ไปจนถึงนักวิจัยที่สามารถถ่ายทอดประสบการณ์จริง และในอนาคตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีแผนที่จะร่วมมือกับองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐบาลและภาคธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เริ่มลงมือใน Step 0 ในการเรียนการสอนแบบใหม่นี้”

Advertisement

การเรียนการสอนในวิชาการประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม หรือ IDE 101 จะมีการเรียนการสอนทั้งส่วนของขั้นตอนที่ 0 หรือ Step Zero โดยเริ่มตั้งแต่การสำรวจค้นหา (Exploration) และการทดลอง (Experiment) และการลงมือทำ (Execute) ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่จริง ๆ เพื่อที่จะเข้าไปข้อมูลปัญหา พูดคุยกับคนในชุมชน เพื่อที่จะสามารถค้นหาโอกาสในการประกอบการ จากนั้นจึงมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในห้องเรียน โดยการเรียนการสอนจะเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จะต้องทำจริง เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวของนักศึกษา โดยทางคณาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้ผลักดันและสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนที่ 0 แล้วจึงจะเรียนรู้แนวทางการสร้างธุรกิจใน 24 ขั้นตอนของการสร้างธุรกิจ (Disciplined Entrepreneurship) ซึ่งจะครอบคลุม 6 ด้านของการทำธุรกิจ อันประกอบไปด้วย ลูกค้าของธุรกิจคือใคร สินค้าและบริการสามารถทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้าง ลูกค้าครอบครองสินค้าและบริการของธุรกิจได้อย่างไร ธุรกิจจะสามารถทำเงินจากสินค้าและบริการได้อย่างไร ธุรกิจจะออกแบบและสร้างสินค้าและบริการได้อย่างไร แผนการขยายธุรกิจเป็นอย่างไร

“การสร้างนวัตกรรมเป็นสิ่งที่ปลูกฝังได้ทุกคนหากมุ่งมั่นก็จะสามารถตั้งต้นและริเริ่มคิดค้นนวัตกรรมได้ และผู้ประกอบการในยุค 4.0 จะต้องสามารถที่จะเข้าใจและเปิดรับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งใหม่โดยใช้นวัตกรรม ดังนั้นการสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมจะต้องเริ่มต้นจากการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย และแนวโน้มในการสร้างธุรกิจและสตาร์ทอัพในอนาคตจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แต่จะต้องร่วมกันผลักดันจากทุกมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป” รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image