‘หมอเดว’เผย “เงินอุดหนุนเด็กแรก” เกิดยังไม่ตอบโจทย์การพัฒนา ชี้เหมือนให้เงินเปล่า

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่โรงแรมรามาดา เดมา กรุงเทพฯ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเสวนา “เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด : ถ้วนหน้าหรือเฉพาะคนจน” เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอที่มีต่อโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งให้เงินสวัสดิการเดือนละ 600 บาท กับครอบครัวที่มีเด็กอายุระหว่าง 0-3 ปี ในครัวเรือนยากจน ก่อนเสนอไปยังคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรม ดย. กล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า งานนี้เกิดขึ้นเพราะ ดย.ได้รับมอบหมายจาก กดยช.ให้ไปหาแนวทางความเป็นไปได้โครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ที่จะขยายให้ครอบคลุมเด็ก 0-6 ปี รวมถึงโครงการที่ดำเนินมาแล้ว 2 ปี ได้ตอบโจทย์เรื่องพัฒนาการเด็กหรือไม่

รศ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการที่ให้เงินสวัสดิการเฉพาะเด็กที่ครอบครัวยากจน แต่ก็ไม่เชื่อว่าเงิน 600 บาทที่ให้ต่อเดือน จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีและประสบความสำเร็จในระยะยาว แต่มองว่านี่จะเป็นการค้นหา เพื่อจะให้แต่ละหน่วยงานที่มีโปรแกรมช่วยเหลือเด็กและครอบครัวอยู่แล้ว บูรณาการเข้าไปขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ อย่างน้อยๆเพื่อความอยู่รอดของเด็ก เพราะปัจจุบันค่อนข้างน่าห่วงกับเด็กในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ ซึ่งมีปัญหาความยากจน และเสียชีวิตสูงกว่าเด็กทั่วไป

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โครงการยังไม่ตอบโจทย์เพราะดำเนินในลักษณะให้เงินเปล่า แต่ทั้งนี้ โครงการระยะต่อไปจะให้เฉพาะคนจนหรือให้แบบถ้วนหน้า ตนไม่ว่าอะไร เพียงแต่ขอให้ดำเนินการ 2 เรื่อง เพื่อให้โครงการตอบโจทย์กว่าการให้เงินไปเปล่าๆ คือ

Advertisement

1.ทำอย่างไรที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพ และกำหนดเจ้าภาพชัดเจน เนื่องจากทุกวันนี้แต่ละกระทรวง ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพม. ล้วนมีแผนยุทธ์ศาสตร์คุ้มครองดูแลเด็กเป็นของตัวเอง แต่สุดท้ายไม่สามารถช่วยเหลือเด็กให้รอดพ้นปัญหาได้

และ 2.การพัฒนาพ่อแม่ให้มีทักษะเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าเด็กที่ก่อปัญหา ไม่ได้เกิดจากครอบครัวยากจนเท่านั้น แต่เกิดกับครอบครัวร่ำรวยด้วย มิฉะนั้นคงไม่มีวลีเด็กที่ว่า “รู้ไหม…ลูกใคร” ฉะนั้นอาจต้องมีกระบวนพัฒนา อาทิ ห้องเรียนพ่อแม่

“โครงการเงินอุดหนุนเด็กต้องน้อมนำสมเด็จย่าและในหลวงร.9 เป็นแบบอย่าง กับพระดำรัสที่ว่า ต้องช่วยเขาให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ และลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนอื่นด้วย ตอนนี้รัฐบาลกำลังช่วยเหลือประชาชน แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย” รศ.นพ.สุริยเดวกล่าว

Advertisement

ภายหลังการเสวนา ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวอภิปราย “การติดตามประเมินผลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด” ต่อว่า จากการศึกษาวิจัยจากหญิงตั้งครรภ์ยากจน 5,700 ตัวอย่างใน 9 จังหวัดพบร้อยละ 88 รับรู้ถึงโครงการ แต่ร้อยละ 89 ไม่รู้และไม่แน่ใจว่าตัวเองมีสิทธิ์ ขณะที่ร้อยละ 2 มองว่าขั้นตอนการสมัครยุ่งยาก ซึ่งการลงพื้นที่เก็บข้อมูลยังพบคนไม่จนจริงแต่ได้สิทธิ์ร้อยละ 26

ขณะที่คนที่จนจริงจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับสิทธิ์ สาเหตุเพราะไม่กล้าขึ้นทะเบียน ไม่เข้าใจกระบวนการ ไม่มีหลักฐานใบเกิด เจ้าหน้าที่บอกสมัครไปก็ไม่ได้ เดินทางไม่สะดวก ทั้งนี้ งานศึกษามีข้อเสนอเชิงนโยบาย 2 แบบ ได้แก่ 1.ขยายให้เงินแบบถ้วนหน้าเด็ก 0-3 ปี เพื่อตัดปัญหาเด็กยากจนตกหล่น และใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น 4-5 เท่าจากปัจจุบัน ถือว่าไม่มาก และแบบ 2.ครอบคลุม 0-6 ปี เฉพาะยากจนหรือทุกคน เพราะถือเป็นช่วงเวลาทองของการพัฒนาเด็กเล็ก

 

ดร.สมชัย จิตสุชน
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image