ทส.เข้มสกัดน้ำยางพาราจากนายทุนรุกป่าออกสู่ตลาด พร้อมลดพื้นที่ปลูกในสวนป่า แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองปลัดทส.แถลงถึงกรณีการควบคุมน้ำยางที่มาจากสวนยางพาราของกลุ่มนายทุนบุกรุกป่า ว่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีทส.ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และหน่วยงานด้านความมั่นคง ร่วมมือกับผู้นำท้องถิ่นช่วยตรวจตราร่วมกับ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมไม่ให้มีการกรีดยางพาราในพื้นที่สวนยางของนายทุนที่ผิดกฎหมาย การตรวจสอบข้อมูลพื้นที่สวนยางพาราทั้งประเทศพบว่า มี ประมาณ 30 ล้านไร่ อยู่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ 8.5 ล้านไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 5.2 ล้านไร่ คาดว่าเป็นของนายทุนประมาณ 1.2 ล้านไร่ และอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ 1.04 ล้านไร่ คาดว่าเป็นของนายทุนประมาณ 1.2 แสนไร่ รวมพื้นที่ของนายทุนทั้งหมด 1.32 ล้านไร่ นอกจากนี้ ยังมีสวนยางพาราที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ 2484 และอื่นๆอีก 2 ล้านไร่ ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติและระบบนิเวศโดยรวมของประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก อีกทั้งในขณะนี้ปัญหาราคายางพาราลดลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากมีปริมาณน้ำยางพาราเข้าสู่ระบบมากเกินไป สร้างความเดือดร้อนให้ชาวสวนยางทั่วประเทศ

นส.สุทธิลักษณ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่า เพื่อปลูกยางพารา และลดปริมาณน้ำยางพาราจากพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก ทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตป่าอนุรักษ์ เพื่อนำมาฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าที่มีสภาพสมบูรณ์ เน้นดำเนินการกับกลุ่มนายทุน ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมจำกัดปริมาณน้ำยางในที่ปลูกในพื้นที่ป่าที่จะเข้าสู่ระบบจำนวน 3 แสนตัน/ปี ควบคู่กับการแก้ไขปัญหากลุ่มราษฎรผู้ยากไร้ ซึ่งได้มีแนวทางในการดำเนินการ โดยการประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทย สำรวจการถือครอบครองเพื่อให้ได้ข้อมูลในการนำไปจัดที่ดินทำกิน ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยได้ประสานความร่วมมือขอให้ทส. ควบคุมผลผลิตยางพาราในเขตป่าไม้ พบข้อมูลว่ากลุ่มทุนที่ถูกดำเนินคดีมีความพยายามเข้ามาหาผลประโยชน์จากสวนยางที่ผิดกฎหมาย โดยใช้วิธีการจ้างคนงานต่างพื้นที่เข้ามากรีดน้ำยาง ซึ่ง ศปก.พป. ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมถึงกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 1-4 และศูนย์การประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เฝ้าตรวจตราไม่ให้มีการ เข้าไปกรีดยางในสวนยางของนายทุนที่ถูกดำเนินคดี พร้อมทั้งเก็บอุปกรณ์การกรีดยางออกจากพื้นที่ให้หมด

นายอรรถพล กล่าวว่า สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาสวนยางพาราในพื้นที่ป่า ได้ดำเนินการดังนี้ 1. เร่งรัดดำเนินคดีสวนยางพารานายทุนที่อยู่ในพื้นที่ป่า 1.32 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันดำเนินคดี ไปแล้ว 1.6 แสนไร่ 2. ควบคุมพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมดไม่ให้มีการกรีดน้ำยาง 3. ลดการกรีดยางในพื้นที่รับผิดชอบของ อ.อ.ป. จำนวน 8.6 หมื่นไร่ โดยในปี 2560 – 2561 จะดำเนินการลดพื้นที่ที่ปลูกยางพาราได้ 2 หมื่นไร่ ลดปริมาณน้ำยาง 1,500 ตัน/ปี และจะดำเนินการต่อเนื่องปีละ 5% จนกว่าจะสามารถลดพื้นที่ปลูกยางพาราได้ทั้งหมด 4. เร่งรัดการดำเนินการจัดที่ดินทำกินตามนโยบายของ คทช. สำหรับราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 3 , 4 , 5 พื้นที่ประมาณ 3.6 ล้านไร่ 5. เร่งรัดดำเนินการ แก้ไขปัญหาราษฎรผู้ยากไร้ที่ทำสวนยางพาราในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชั้น 1 , 2 ในรูปแบบสิทธิทำกินแบบมีเงื่อนไข โดยการปลูกไม้ท้องถิ่นผสมผสานกับไม้ยางพารา ไปจนถึงการเจรจาขอคืนพื้นที่ล่อแหลมเสี่ยงกระทบต่อระบบนิเวศ และ 6. ทส. ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย จะเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาราษฎรผู้ยากไม้ที่ทำสวนยางพารา ตามแนวทางในข้อ 4 และ ข้อ 5 ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image