ยางใต้ยื่นหนังสือถึง ‘บิ๊กตู่’ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเมืองคอน ขอใช้ ม.44 ปลดผู้ว่าการ กยท.

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช (หลังเก่า) ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 50 คน นำโดยนายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่ม 15 องค์กรยางใต้ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านศูนย์ดำรงธรรม ในการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 ให้ผู้ว่าฯ กยท.และคณะกรรมการบอร์ด กยท.ทั้งคณะพ้นจากหน้าที่

นายมนัสกล่าวว่า พวกเราเดินทางมาครั้งนี้ในนามเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อมายื่นคำร้องขอให้แก้ไขปัญหาเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ผ่านมาพวกตนได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้ปลดผู้ว่าฯ กยท. และบอร์ด กยท.ทั้งคณะเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน จากวันนั้นถึงวันนี้ยังไม่มีคำตอบที่เป็นรูปธรรม พวกเรามองว่าหากยังเงียบเช่นนี้และปล่อยให้ผู้ว่าฯ กยท.และบอร์ด กยท.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจนำมาซึ่งความเสียหายและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดวิกฤตศรัทธาความเชื่อมั่นต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลและคณะ คสช.ได้

“พวกเราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลนำ ม. 44 ให้ผู้ว่าฯ กยท.และบอร์ด กยท.ทั้งคณะออกจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากผู้ว่าฯ กยท.และบอร์ด กยท.ได้ออกประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับบางฉบับไม่สอดคล้องและขัดแย้งต่อ พ.ร.บ.การยางอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับชาวสวนยางแต่อย่างใด กลับเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและบุคคลเพียงบางกลุ่ม จนทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย ส่งผลกระทบต่อราคายางพารา สภาพคล่องของการตลาดซื้อ-ขายยางภายในประเทศ ความเสียหายของยางในโครงการออกมาจากมาตรการการจัดการ ความเสียหายต่อเงินภาษีที่นำเอาออกมาจัดการ รวมทั้งผลกระทบในการดำรงชีวิตที่เกิดกับเกษตรกรชาวสวนยางทั้งระบบ ดังนั้น ทุกปัญหาที่เกิด ต้องปฏิรูปสะสาง การจัดการโดย ม.44 ให้บอร์ดชุดนี้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และมีบอร์ดชุดเฉพาะกิจเข้ามาสะสางเช็ดล้าง” นายมนัสกล่าว

ขณะที่นายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมถ้ำพรรณรา กล่าวว่า พวกเรายังต้องการเหมือนเดิมคือเปลี่ยนผู้ว่าการยางคนใหม่เพื่อการบริหารจัดการที่ดีกว่า เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางบ้าง ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ขององค์กรและกลุ่มทุนอย่างเดียว ความผิดที่พวกเราเห็นแล้วว่าที่ผ่านมาทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการยาง ประกอบด้วย 1) การบริหารจัดการยางสต๊อกเก่าในวิธีการทำให้ส่งผลกระทบถึงราคายางของเกษตรกร 2) การเข้าประมูลยางของบริษัทร่วมทุน ที่บริหารจัดการโดยผู้ว่าฯการยางเป็นผู้จัดการ ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องราคาและการได้เปรียบเสียเปรียบในการเข้าถึงของเกษตรกรชาวสวนยาง 3) การออกกฎระเบียบปฏิบัติของการยางจำกัดสิทธิของเกษตรกรชาวสวนยาง 4) ระเบียบปฏิบัติในการเข้าถึงกองทุนสวัสดิการไม่ชัดเจน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้จริงในกลุ่มเป้าหมายได้ 5) นำเงินภาษีไปบริหารจัดการยางแล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อการจัดการตลาดกลาง 6) ไม่จัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยาง ในทางกลับกัน ต้องการขายเพื่อประโยชน์องค์กรอย่างเดียว 7) เอางบประมาณออกมาแจก, ให้, จัดประชุม ฯลฯ เพื่อลดกระแสกดดันและสร้างฐานพวกพ้อง ไม่ได้มองการแก้ปัญหาเพื่อส่วนรวม และระยะยาว 8) ปล่อยให้ตลาดกดราคาวัตถุดิบที่ถูกแปรรูปโดยกลุ่มเกษตรกร เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน

Advertisement

“อีกมากมายที่ทำให้เราไม่ไว้ใจในการบริหารจัดการของผู้ว่าฯคนนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ราคายางยังตกต่ำเหมือนเดิม แถมต่อไป กลุ่มเกษตรกร, ผู้แปรรูปยางพาราต้นน้ำจะอยู่ไม่ได้ ขาดทุนค่าบริหารจัดการ ยางที่ผลิตออกมาแต่ละวันจะไปถึงกลุ่มทุนโดยตรง ราคาจึงถูกกดตลอด ตามกลไกตลาดที่ถูกกดราคาไว้แล้ว ทำอะไรสักอย่าง ก่อนที่ยางไม่มีราคาและน้อยค่าไปกว่านี้ ไม่ได้ขอราคา แต่ขอค่าของชาวสวนยาง ไม่ใช่ทาสที่ต้องทำงานให้ใครรวยและอยู่อย่างสบาย” นายเรืองยศกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางจึงส่งมอบหนังสือให้กับนายสกล จันทรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะตัวแทนศูนย์ดำรงธรรมเพื่อนำส่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image