รัฐ-เอกชน หนุนเก็บภาษีผู้ให้บริการออนไลน์ต่างชาติ ชูโมเดลอินเดียคิดจากแวต

นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยภายในงานเสวนา“โอกาส e–Commerce ของประเทศไทย ความจำเป็นต้องขับเคลื่อน และความท้าทายในการปรับตัวครั้งใหญ่ที่ผู้นำแถวหน้าของเมืองไทยมอง” จัดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ดด้า) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการรวบรวมและสรุปผลการทำประชาพิจารณ์รอบที่ 1 ในร่างการปรับปรุงประมวลรัษฎากร ที่มีการบทบัญญัติในการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างประเทศ ที่มีสำนักงานอยู่นอกประเทศไทย แต่ขายแพลตฟอร์มให้กับคนไทย อาทิ การซื้อสติ๊กเกอร์ออนไลน์ และคาดว่าจะสามารถจัดทำประชาพิจารณารอบที่ 2 ได้ภายในเดือนมกราคม 2561 ก่อนที่จะรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการจัดทำประชาพิจารณ์ไปปรับปรุงร่างการปรับปรุงประมวลรัษฎากร ก่อนจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา และเสนอต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

“ขอยืนยันว่า รัฐบาล และกระทรวงการคลัง ไม่ได้มีแนวคิดที่จะออกภาษีอี-คอมเมิร์ซ จัดเก็บกับผู้ประกอบการที่ขายของผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะตามหลักแล้ว ผู้ประกอบการอี–คอมเมิร์ซ สามารถจ่ายภาษีได้ถูกต้องผ่านกฎหมายภาษีเดิม ด้วยการจ่ายภาษีบุคคล หรือ ภาษีนิติบุคคลเมื่อเข้าในระบบอย่างถูกต้อง ซึ่งการปรับปรุงประมวลรัษฎากร ครั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายเดิม ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างชาติ หรือ แฟร์เกมส์ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเสียภาษีถูกต้อง แต่ผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ให้บริการอยู่ในต่างประเทศไม่ได้เสียภาษี จึงส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นกระทรวงการคลัง จึงมีแนวคิดเก็บภาษีจากการให้บริการของผู้ประการต่างชาติ ที่มีสำนักงานอยู่นอกไทย แต่ขายบริการให้กับคนไทย ”

นางแพตริเซีย กล่าวว่า ส่วนภาษีการซื้อสินค้าออนไลน์ นั้น ขณะยังไม่ได้มีการหยิบยกมาอยู่ในการปรับปรุงประมวลรัษฎากรครั้งนี้ เพราะเป็นเรื่องของภาษีนำเข้า ของกรมศุลกากร ปัจจุบันจะยกเว้นภาษีในสินค้านำเข้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กระทรวงการคลัง มีแนวที่ยกเลิกการยกเว้นภาษีนำเข้าดังกล่าว และอยู่ในระหว่างการศึกษา สำหรับการเก็บภาษีจากผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ขายบริการแพลตฟอร์มให้กับคนไทย นั้น เบื้องต้นยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่าจะจัดเก็บในรูปแบบใด ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาของอินเดียที่สามารถจัดเก็บภาษีนี้ได้สำเร็จแล้ว โดยอินเดียจัดเก็บภาษีในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ซึ่งจะบวกภาษีเพิ่มกับราคาบริการที่ขาย และให้บริษัทดังกล่าวนำเงินภาษีส่งให้แก่รัฐ

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการเอ็ดด้า กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดดิจิทัล คอนเทนต์ หรือการให้บริการด้านดิจิทัล อาทิ การโฆษณาผ่านเฟสบุ๊ก การซื้อสติ๊กเกอร์ออนไลน์ มีมูลค่า 7.5 แสนล้านบาท คาดว่าปี 2561 เติบโตประมาณ10% ตามโอกาสการขยายตัวของผู้ใช้สมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชั่นที่เพิ่มขึ้น

Advertisement

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ ถือเป็นสิ่งที่ดีมากที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ เพราะปัจจุบัน ต่างชาติ ถือว่าค่อนข้างได้เปรียบมากผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตั้งสำนักงานนอกประเทศ จึงไม่ต้องเสียภาษีที่ไทย หากปล่อยไว้โดยไม่มีการเก็บภาษีจะยิ่งเป็นการสร้างช่องว่างในประเทศ และทำให้เงินไหลออกนอกประเทศจำนวนมาก ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการไทย ร่วมสนับสนุนร่างปรับปรุงประมวลรัษฎา เพราะไม่ได้สร้างผู้กระทบให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างที่กังวลกัน แถมยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้เท่ากับต่างชาติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image