เป้าหมายที่เลือนราง กับความสำเร็จที่สิ้นหวัง : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง

รัฐบาล คสช.ได้วางเป้าหมายลำดับต้นๆ ไว้คือการปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาคือต้นทางของความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศ การศึกษาสร้างคนให้เป็นคนดี มีศีล มีธรรม เห็นแก่ประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตรงข้าม ถ้าการจัดการศึกษาผิดเพี้ยน มุ่งผลิตแต่คนเก่ง แต่คิดที่จะโกงแสวงหาผลประโยชน์เพื่อพวกพ้องและตนเอง ก็ไม่มีวันที่เป้าหมายจะไปถึงและสำเร็จดังที่หวัง

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นและสร้างปัญหา เช่น ความขัดแย้งผลประโยชน์ของกลุ่มคนและทางการเมือง การคอร์รัปชั่น เป็นต้น และนับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น ดังที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีได้ออกมาแสดงความห่วงใย กลายเป็นวลีเด็ดว่า “ไทยเข้าสู่ยุคกินบ้านกินเมือง” สื่อทั้งในและต่างประเทศประโคมข่าวไปทั่วโลก และถ้าดูผลการจัดคะแนนจาก 100 คะแนน ไทยได้เพียง 35 คะแนน จาก 177 ประเทศ ปัญหาการฉ้อโกงสังคมมักชี้ไปที่นักการเมืองเกือบทั้งสิ้น

3 ปีเศษไม่มีนักการเมือง แต่อัตราการฉ้อโกงยังมีอยู่และมีแนวโน้มสูงขึ้นและหนักหนาสาหัสกว่าเสียอีก ซึ่งน่าเห็นใจท่านประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านเป็นคนดี มือสะอาด แต่ถ้าลิ่วล้อขี้โกงก็น่าเป็นห่วง และอยากเตือนรัฐบาลนี้ว่ายึดอำนาจเขามา ด้วยข้อหาว่าเขาโกง นักการเมืองขี้โกง

อีกเรื่องการให้ความเป็นธรรมทางกฎหมายจริงหรือไม่ ที่ท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “อันตรายจากสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “นักกฎหมายสายปีศาจ” เพราะพวกนี้กำลังผลักดันให้เกิดมีการละเมิดหลักคุณธรรมสากล” ขณะนี้ได้มีนักกฎหมายสายปีศาจเยอะขึ้น ต้องรีบหาหมอผีมาจับถ่วงน้ำให้ได้ ไม่เช่นนั้นสังคมไทยคงไม่ปลอดภัย ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยมียาวนาน เริ่มจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนดูภาพเบื้องหน้า ดูดี มีบารมี ภาพพจน์ดี แต่ตัวเองคือต้นแบบของระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกในสังคมไทย จนสังคมไทยยากที่จะก้าวพ้นวงจรนี้ ถลำลึก ทุกหย่อมหญ้า ทุกหน่วยราชการของไทย การปฏิรูปการศึกษา เดินหน้าไม่ได้เช่นกัน

Advertisement

ระบบการคัดเลือกผู้บริหารเป็นแบบเดิม ล้าหลัง/วัดที่จำนวนการเข้าอบรม/วัดผู้บริหารจบระดับใด/วัดที่อายุผู้บริหาร/ วัดที่นักเรียนได้รางวัลอะไรระดับไหน การประเมินเน้นเอกสาร กรรมการและผู้ประเมินไม่รู้มาจากไหน ไม่รู้จักผู้ถูกประเมินว่ามีกึ๋นมีผลงานอะไร โรงเรียนกับชุมชนเป็นเช่นไร การเน้นรางวัลโรงเรียนและผู้เรียนน่าจะไม่ใช่เครื่องมือยืนยันความสามารถของผู้บริหาร ก.ค.ศ. ควรคิดหลักเกณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทความเปลี่ยนแปลงในการผลิตคนรุ่นใหม่ที่เน้นทักษะมากกว่าการเรียนเก่ง แต่ทำอะไรไม่เป็น

การประเมินต้องรอบด้าน 360 องศา ไม่ใช่ผู้บริหารคนใดทำได้ตามเกณฑ์นักล่ารางวัลแค่เด็ก 10-20 คน มาติวเพื่อล่ารางวัล แต่เด็กในโรงเรียนอีก 80-90% ไม่ได้ฝึกไม่ได้ทำอะไร
ปัจจุบันเด็ก 30-40% มุ่งเรียนท่องจำเพื่อแข่งขันล่ารางวัล แต่เด็ก 60-70% ถูกปล่อยปละละเลย บางโรงเรียนรอบรั้วมีแต่ปัญหา มีแต่ยาบ้า นักเรียนยากจน เสื้อ รองเท้าไม่มีใส่ เงินซื้อขนมยังไม่มี โต๊ะ เก้าอี้ สิ่งแวดล้อมยังต้องปรับปรุง ผู้บริหารไม่มีเวลาคิดและเตรียมความพร้อมที่จะประเมินผล O-Net ตกต่ำ

นี่คือความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ก.ค.ศ.ควรแก้ไขระเบียบนี้โดยเร็ว

Advertisement

วิธีประเมินให้ทันกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลง หยุดคิดเรื่องรางวัล เรื่อง PISA เรื่อง O-Net ได้แล้ว O-Net ดี วิชาคณิตศาสตร์ แต่แย่วิชาภาษาไทยและสังคม เพราะวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่เด็กเรียนติว เรียนพิเศษ

การสอนของครูต้องปรับต้องเปลี่ยน เป็นแค่พี่เลี้ยง ที่ปรึกษา เน้นให้นักเรียนฉลาดที่จะแสวงหาความรู้เอง รู้จักดักความรู้ที่ลอยมา รู้จักแยกแยะ คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ที่ได้มา ควรเน้นและส่งเสริมหลักสูตรออนไลน์ หลักสูตรระยะสั้นให้มากขึ้น เรียนแล้วรู้จริงปฏิบัติจริง ทำได้จริง หาเงินเลี้ยงตัวเองประกอบอาชีพได้จริง ไม่ต้องรอ 4-5 ปี เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา

การแก้ปัญหาในภาคใต้ยังต้องเดินหน้าต่อไป แต่ระวังเข้าสู่ทำนองถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ตักน้ำใส่ตะกร้า และต้องไม่ใช่แหล่งแสวงหาประโยชน์ ได้ทั้งเกียรติและกล่อง สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการควรวางแผนรองรับการขยายตัว การสอนผ่านระบบออนไลน์ การสอบผ่านระบบออนไลน์ ผู้เรียนต้องเรียนเพื่อรู้และทำ อยากเรียนเพิ่ม อยากรู้ สามารถหาได้ทางเทคโนโลยี อยากได้วุฒิสามารถมาขอมาเรียนเพิ่มได้ หยุดให้ความสำคัญเกี่ยวกับเน้นปริญญา เพื่อวัดคุณภาพของคนเพียงอย่างเดียว ควรวัดทักษะและผลงาน ดังที่ แจ็ค หม่า พูดไว้ว่า “ปริญญาเอก โท หรือตรี มันเป็นเพียงใบเสร็จรับเงิน ที่บอกว่า คุณจ่ายเงินมากแค่ไหนเพื่อเรียนจบ โรงเรียนที่แท้จริง คือ สังคมที่เราอยู่ต่างหากที่คุณจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่คุณเรียนรู้มาสามารถทำให้เกิดความแตกต่างหรือไม่”

การที่ ก.ค.ศ.กำหนดหลักเกณฑ์วัดความสามารถของผู้บริหารจากวิทยฐานะ เชี่ยวชาญ ชำนาญการ แล้วตีค่าเป็นคะแนน น่าจะไม่ใช่คำตอบว่าผู้บริหารเก่งหรือดี ไม่ดี หรือปริญญาเอก มาให้น้ำหนักเหนือกว่าผู้บริหารที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาให้กับเด็ก และสังคมบ้านเรามี ดร.ห้องแถวเกลื่อนบ้านเกลื่อนเมือง ทำงานวิจัยยังไม่ได้ไม่เป็น แต่พอเข้าสู่หลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.กลับมีคะแนนเยี่ยม เป็นต้น ทั้งๆ ที่การเข้าเรียนไม่ครบ ไม่เต็มเวลา แถมเบียดบังเวลาราชการในการไปเรียนต่อเสียอีก

เกณฑ์ใหม่ ก.ค.ศ.ลองนำวิธีการให้ผู้บริหารเซ็นสัญญาบริหารตามกรอบเวลาแค่ 4 ปี และยินยอมให้ประเมินทุก 6 เดือน หรือทุก 1 ปี ถ้าไม่ผ่านต้องแก้ตัวหรือเปลี่ยนผู้บริหาร การประเมินใช้หลักการมีส่วนร่วม หลากหลายและรอบด้าน

3 ปี 4 รัฐมนตรี 16 ม.44 ประเมินภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาไม่ผ่าน ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีแต่ละท่านมุ่งมั่นและตั้งใจ แต่อิทธิพลของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการยังคิดภาพเก่า วิธีคิดและวิธีทำแบบเดิม ก้าวไม่พ้นวิธีคิดและวิธีทำแบบใหม่ยังอยู่กับที่ หน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่สร้างปัญหาให้กับการศึกษาควรหยุดหรือยุบเลิกไปเลย เช่น สทศ. สมศ. กรรมการระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด กศจ. ได้คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจด้านการศึกษา ผวจ.งานเยอะกลายเป็นช่องว่างรู้ไม่จริง กศจ.เล่นพรรคเล่นพวก เส้นสายได้ผู้บริหารด้อยคุณภาพ สร้างปัญหากับโรงเรียนเชิงคุณภาพมากมาย ขาดความเป็นธรรมจึงมีคดีขึ้นโรงขึ้นศาลในภาคอีสานขณะนี้ กศจ.ควรประชุมบ่อยๆ มากขึ้น ไม่ใช่เดือนละ 1 ครั้ง หลักเกณฑ์ กคศ.ไม่ได้สนองนโยบายของรัฐ เช่น ลดเวลาเรียน อ่านออก เขียนได้ คุณภาพการศึกษาจึงสะท้อนอะไรได้หลายอย่างที่มีส่วนให้การแก้ปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ จึงยากและยากที่จะแก้ไข

การศึกษาไทยส่งผลให้คนไทยเห็นแก่ตัว คิดแคบ ใจแคบ ไม่โยงใย และสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมโลก ความเหลื่อมล้ำในการลงทุน พัฒนายังกระจุกตัวอยู่แค่ส่วนกลาง และภาคตะวันออกอาศัยราคาผลผลิตทางการเกษตรและท่องเที่ยวเป็นหลัก สิ่งที่สะท้อนให้เราเป็นประเทศที่มีลำดับต้นๆ ของโลกในเชิงลบ เช่น ด้านคอร์รัปชั่น มีนักโทษลำดับต้นๆ ของโลกติดยา ติดเหล้า และท้องก่อนวัยอันสมควรลำดับต้นๆ ของโลก มีคราวหนึ่งที่องค์เหนือหัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ยังคิดและรับสั่งผู้ใกล้ชิดใช้เงินที่ประชาชนทูลเกล้าฯถวายแก่พระองค์ท่าน เช่น สร้างบ้านพักให้ครู ปรับปรุงห้องน้ำให้ครู ซ่อมห้องเรียนที่ชำรุด โต๊ะครู เก้าอี้นักเรียน ให้คัดเลือกเด็กโรงเรียนละ 2 คน ที่เป็นเด็กเรียนดี และเป็นคนดี ให้คัดเลือกครูที่ดี เก่ง ต้องไม่ทิ้งเด็ก ไม่ทิ้งโรงเรียนที่ห่างไกล โดยใช้เงินส่วนพระองค์ 200 ล้านบาท

นี่คือสิ่งที่ในหลวง ร.9 ห่วงใย และทรงทำให้ช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ เพราะทรงเล็งเห็นว่าประเทศนี้ยังคงต้องการบุคลากรที่ดี ครูที่ดี สร้างคนดี นี่คือส่วนหนึ่งของการปาฐกถาของท่านพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีในงานครบ 36 ปี การสถาปนาสถาบันส่งเสริมศึกษา และทรัพยากรมนุษย์ของ ม.ธรรมศาสตร์ และปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติ เรื่อง แนวพระราชดำริด้านการศึกษากับอนาคตประเทศไทย โดย นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี อยากให้ผู้เกี่ยวข้องในการสร้างคุณภาพการศึกษาได้สำนึก ได้นำไปสานต่อให้บังเกิดผล และหวังว่าแนวคิดของพระองค์ข้างต้นอาจจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องและข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการฉลาดที่จะคิดและเรียนรู้มากขึ้น

ประเมินภาพรวมแล้วพบว่า เป็น 3 ปีที่เลือนราง มีรัฐมนตรี 4 คน ปัญหาส่วนใหญ่ยังไม่ได้แก้ แต่ผู้บริหารและข้าราชการยังเสพสุขเงินเดือนค่าตอบแทนสูงขึ้น 70-80% ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการได้เงินมาก แต่คุณภาพการศึกษายังอยู่กับที่หรือแย่ลง ถึงเวลาที่รัฐมนตรีต้องผ่าตัดและเยียวยา ถึงเวลาที่ท่านบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาฯสพฐ. ที่มุ่งมั่นและเข้าใจการศึกษาต้องรับและกล้าผลักดัน และถึงเวลาแล้วที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งมั่นและตั้งใจขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงและจริงใจให้มากกว่านี้ มิฉะนั้นสิ่งที่อาจจะหลงเหลือหรือประชาชนได้สัมผัสเป้าหมายที่เลือนรางและความหวังที่ไร้ผล ไร้ผลจนช่วงพระชนม์ชีพขององค์เหนือหัว ร.9 เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ขณะที่ประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราช ได้มีรับสั่งให้องคมนตรีเข้าเฝ้าฯและทรงตรัสว่า “ฉันจะตั้งกองทุนการศึกษา เอาเงินฉันไปใช้ไปทำอย่างไรก็ได้ เป้าหมายคือให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง”

พระองค์ยังให้สรรหาโรงเรียนเข้าโครงการโรงเรียนคุณธรรมได้ 155 โรงทั่วประเทศ นี่คือ พระราชปณิธานอันทรงคุณค่าของพระองค์ท่าน ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ 3 ปีเศษกับ 4 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คือตัวบ่งชี้ถึงเป้าหมายที่เลือนรางกับความสำเร็จที่สิ้นหวัง

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ และโรงเรียนดาวนายร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image