มุมมองของ ‘ซิสโก้’ เรื่องผลกระทบจาก ‘พายุดิจิทัล’

ปัจจุบัน การทำธุรกิจต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น เนื่องจากเรื่องของดิจิทัลที่เข้าไปมีผลกระทบต่อธุรกิจหลายแขนง การปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล จึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจในยุคปัจจุบัน เพื่อความอยู่รอด

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน บริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อ 2 ปีก่อน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อันเป็นผลจากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือดิจิทัล ดิสรัปชั่น (Digital Disruption) ได้สร้างความกังวลใจให้กับบริษัทส่วนใหญ่ ที่ตอนนี้ก็ได้เกิดผลกระทบต่อบริษัทครึ่งหนึ่งของโลก และกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสูงสุดสำหรับผู้บริหารองค์กร

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์

หากมองกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน คือเมื่อปี 2558 ที่ศูนย์ปฏิรูปธุรกิจดิจิทัลทั่วโลก หรือดีบีที เซ็นเตอร์ ภายใต้โครงการความร่วมมือของ ไอเอ็มดี สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจระดับชั้นนำกับซิสโก้ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารหลายร้อยคน รวมถึงข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น ผู้ร่วมลงทุนได้ลงทุนในธุรกิจใดบ้าง

ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างมากในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบของพายุดิจิทัล หรือ Digital Vortex ที่หมายถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางพายุดิจิทัลมากที่สุด จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมรอบนอกอาจได้รับผลกระทบอย่างฉับพลันในระดับที่น้อยกว่า แต่โดยรวมแล้ว อุตสาหกรรมทั้งหมดกำลังเคลื่อนเข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้น โดยศูนย์กลางที่ว่านี้เป็นจุดที่ความเร็วและขอบเขตของการเปลี่ยนแปลงอยู่ในระดับสูงสุด และไม่มีอุตสาหกรรมใดที่สามารถหลีกหนีกระแสของพายุดิจิทัลนี้ได้

Advertisement

โดยในการสำรวจเมื่อปี 2558 พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล กลุ่มแรกคือกลุ่มเทคโนโลยี ตามด้วยกลุ่มสื่อและบันเทิง กลุ่มค้าปลีก กลุ่มบริการด้านการเงิน และกลุ่มโทรคมนาคม แต่จากการจัดอันดับในปี 2560 กลับพบความเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ตกเป็นของกลุ่มสื่อและบันเทิง ตามด้วยสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยี กลุ่มค้าปลีก กลุ่มบริการด้านการเงิน และกลุ่มโทรคมนาคม

นายวัตสันกล่าวว่า 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบยังคงไม่ต่างกัน และกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้มีคุณสมบัติร่วมกันบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน ทำให้มีความไวต่อดิจิทัล ดิสรัปชั่น มากเป็นพิเศษ และจะเห็นว่าอันดับ 1 ในปีนี้ เป็นกลุ่มธุรกิจสื่อและบันเทิงที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย ทีวี เพลง และภาพยนตร์ ซึ่งมีการแข่งขันระหว่างยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม เช่น ผู้ผลิตคอนเทนต์ ค่ายเพลง สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่ายคอนเทนต์ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ผู้เล่นรายใหม่ เช่น อเมซอน และเฟซบุ๊ก รวมไปถึงยักษ์ใหญ่รายใหม่อย่าง เน็ตฟลิกซ์ ก็สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมเช่นกัน

นายวัตสันกล่าวด้วยว่า ธุรกิจที่จะอยู่รอดได้ จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำของการทำธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อย่างเช่น บริษัท แอปเปิล ก็มีทั้งบริการด้านการเงิน เทคโนโลยี ค้าปลีก รวมไปถึงการผลิตนาฬิกา เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจเอง จะต้องมองให้ออกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าต่างๆ อย่างเช่น ในกรณีรถยนต์ไร้คนขับ ที่นอกจากจะเป็นรถที่ไม่ต้องมีคนขับแล้ว อาจจะกระทบไปถึงธุรกิจโรงแรม เพราะเมื่อคนไม่ต้องขับรถเอง ก็หมายความว่า การเดินทางไปต่างจังหวัดไกลๆ ก็สามารถปล่อยให้รถขับไปเองได้ เจ้าตัวก็หลับไปได้ตลอดทาง โดยไม่ต้องไปหาโรงแรมที่พัก นอกจากนี้ ก็จะกระทบถึงธุรกิจการบิน ที่อาจจะมีผู้ใช้บริการน้อยลง และกระทบต่อธุรกิจประกัน เพราะความแม่นยำในการขับที่มาพร้อมเทคโนโลยีป้องกันการชน ทำให้อุบัติเหตุบนท้องถนนลดน้อยลง เป็นต้น

Advertisement

หรือบริษัทหลายแห่งในไทย ก็มีการปรับตัวนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพื่อการบริการลูกค้าที่ดีขึ้น อย่างกรณีของโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการแปลภาษาให้สามารถสื่อสารกับคนไข้ชาวต่างชาติได้ หรือสยามพิวรรธน์

เจ้าของห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และไอคอนสยาม นำเทคโนโลยีไฮเปอร์ โลเคชั่น ไปใช้กับแอพพลิเคชั่นเพื่อสามารถระบุตำแหน่งของลูกค้าได้ว่าอยู่ตรงจุดไหนของห้าง เพื่อการให้บริการที่ตรงจุดมากขึ้น

ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ ต้องมีความเตรียมพร้อมในการก้าวสู่เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อความอยู่รอดในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image