สุจิตต์ วงษ์เทศ : เรือโบราณการค้าโลก นับพันปีมาแล้ว ใกล้ศาลพันท้าย สมุทรสาคร

แหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี ที่พบเรือพนม-สุรินทร์ เก่าแก่มากกว่า 1,000 ปี อยู่ในบ่อกุ้ง ริมถนนคอนกรีต ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร (ภาพถ่ายเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2560)

แหล่งพบเรือโบราณชาวบ้านพูดกันว่าถูกปล่อยทิ้งร้าง แต่กรมศิลปากรชี้แจงว่ารองบประมาณโครงการหน้าจะเริ่มทำต่อไปให้สมบูรณ์ อีกไม่นานเกินรอ

เรืออาหรับอายุมากกว่า 1,000 ปีมาแล้ว (ราวยุคทวารวดีในไทย) ขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2556 ในบ่อกุ้ง (ใกล้ศาลพันท้ายนรสิงห์ คลองโคกขาม) อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ติดพื้นที่แสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ

ตอนนั้นเป็นข่าวครึกโครม เพราะเป็นเรื่องใหม่ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี และเป็นเรื่องใหญ่ มีคนเรือนหมื่นแห่ไปขอหวยทุกวันจากแม่ย่านางเรือโบราณ (แม้จะมาจากอาหรับ)

ข้อมูลข่าวสาร

Advertisement

กรมศิลปากร ต้องเร่งรัดตัวเองให้กระตือรือร้นแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะเกี่ยวกับเรืออาหรับโบราณนับพันปีลำนี้ ดังนี้

  1. ทำแผ่นป้ายขนาดใหญ่ติดตั้งที่แหล่งเรือพนม-สุรินทร์ บอกโครงการที่จะทำต่อไปว่าเริ่มเมื่อไร? เสร็จเมื่อไร?
  2. ทำนิทรรศการกลางแจ้งที่แหล่งเรือพนม-สุรินทร์ บอกความเป็นมาอย่างง่ายๆ ของเรือทางประวัติศาสตร์การค้าโลกยุคเริ่มแรก ที่ผลักดันให้บ้านเมืองโบราณเติบโตในไทยและอุษาคเนย์
  3. ทำกิจกรรมโดยร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เช่น เสวนาวิชาความรู้และจัดทัวร์ทางศิลปวัฒนธรรม เกี่ยวกับการค้าทางทะเลสมุทรและอื่นๆ โยงเข้ากับเรื่องพันท้ายนรสิงห์ที่คนรู้จักดีอยู่แล้ว (แม้ต่างยุคสมัยแต่สาระสำคัญเกี่ยวกับการค้าทางทะเลเหมือนกัน)

แต่ต้องเลิกประพฤติพาลเกเรเหมือนนักโบราณคดี (บางคน) ของกรมศิลปากร เคยทำไว้ต่อบรรดาครูบาอาจารย์นักวิชาการมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนงานขุดค้นเมื่อแรกพบเรือลำนี้หลายปีที่แล้ว

ในทางที่ควร กรมศิลปากรต้องลดอคติต่อสังคม แล้วสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวิชาความรู้กับสังคมทุกระดับมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะโดยปกติไม่มีใครสนใจงานเหล่านี้อยู่แล้ว แม้มีบ้างก็คับแคบมาก จึงต้องสร้างมิตร โดยไม่สะสมศัตรู (เหมือนที่เคยทำประจำ)

Advertisement

กรณีบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ กรมศิลปากรทำถูกต้องดีงามตามหลักการ ส่วนวิธีการอาจบกพร่องบ้างไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เพราะไม่เคยให้ความสำคัญการแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตั้งแต่เริ่มแรกจนเสร็จสิ้นงาน ปัญหาจึงเกิดขึ้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ จนกรมศิลปากรเสียหายตั้งรับไม่ทันดังรู้อยู่แล้วจึงไม่ควรบกพร่องซ้ำอีก

งานแบ่งปันเผยแพร่ต้องมีสำนึกสาธารณะเพื่อคนอื่น ถ้าคิดถึงแต่ประโยชน์ตนเองก็ทำไม่ได้ หรือทำได้ แต่ล้มเหลว

เครื่องแก้บนแม่ย่านางเรือเพื่อขอหวย ที่ยังมีตกค้างตรงอ่างหล่อน้ำกร่อยเก็บท่อนไม้กระดูกงูเรือโบราณ

ทบทวนเรือพนม-สุรินทร์

เรือ “พนม-สุรินทร์” อายุมากกว่า 1,000 ปีมาแล้ว (ราวยุคทวารวดี)

ขุดพบราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 บริเวณบ่อกุ้งของนางพนม-นายสุรินทร์ ศรีงามดี (หมู่ 6 ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร)

ต่อมานางพนมกับนายสุรินทร์แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ขุดพบเรือแล้วยกให้ราชการดูแลเป็นแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดี เหตุนี้เองกรมศิลปากรจึงให้ชื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของบ่อกุ้งว่าเรือพนม-สุรินทร์

“ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี มีชาวบ้านและคนที่เข้ามาศึกษาแหล่งเรืออาหรับโบราณ จะมาถามเสมอว่าทำไมไม่เห็นจุดที่ขุดพบเรือ ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน เพราะน้ำได้ท่วมจนมิดไปหมดแล้ว” นางพนม ศรีงามดี บอกผู้สื่อข่าวมติชน เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 แล้วบอกอีกว่า ตนได้สอบถามผู้เกี่ยวข้องจากกรมศิลปากรว่าเมื่อไรจะนำเรือขึ้นมา ก็ได้รับคำตอบกลับว่ายังไม่มีงบประมาณ [มติชน ฉบับวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2560 หน้า 11]

กรมศิลปากร (สำนักศิลปากร จ. ราชบุรี) บอกมติชนว่ามีแผนอนุรักษ์และพัฒนาเรือพนม-สุรินทร์ โครงการ 3 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2562-2564 [มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2560 หน้า 11]

ถ้าทำป้ายบอกไว้แต่แรกที่แหล่งเรือ ก็ไม่มีปัญหาให้ต้องถูกตำหนิติฉินนินทา

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image