ผอ.สพป.โครราช 7 แจงปฏิเสธร่วมงานประดับอินทรธนูครูบรรจุใหม่ เหตุ ‘ศธจ.’ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาครูโดยตรง

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน นายพีรพงศ์ สุรเสน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)นครราชสีมา เขต 7 ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียกรณีตนตอบกลับหนังสือของนายสุวิทย์ ศรีฉาย รองศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) รักษาการศธจ.นครราชสีมา กรณีเชิญร่วมเป็นเกียรติประดับเครื่องหมายอินทรธนูแก่ข้าราชการครูบรรจุใหม่ในวันที่ 23 พฤศจิกายนแล้วตนตอบกลับไปว่า ทราบ, ไม่ไป, ข้าราชการที่บรรจุใหม่ ล้วนเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ทั้งสิ้น ควรให้ผู้บังคับบัญชาโดยชอบเป็นผู้ดำเนินการ นั้นว่า ที่ตอบไปดังกล่าวเนื่องจากศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของครู ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของครูและโรงเรียนคือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(ผอ.สพท.) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)และนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ ขณะที่ศธจ.อยู่ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(สป.ศธ.) และไม่มีโรงเรียนสักแห่งอยู่ในสังกัดเลยด้วยซ้ำ

นายพีรพงศ์ กล่าวต่อว่า ฉะนั้นการที่ศธจ.ซึ่งไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของครู แต่กลับมาจัดงานประดับเครื่องหมายอินทรธนูแก่ข้าราชการครูบรรจุใหม่ซึ่งเป็นงานสำคัญของครู ทั้งที่โดยปกติควรเป็นหน้าที่ของผอ.เขตพื้นที่ฯ ผู้อำนวยการโรงเรียน พระหรือพ่อแม่ เมื่อศธจ.มาจัด จึงเป็นเรื่องตลก น่าอาย เสียมารยาท และย้อนแย้ง ถ้าบอกว่าเรื่องนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างสพท.และศธจ. ก็ต้องบอกว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 19/2560 ในวันที่่ 3 เมษายน 2560 แล้ว ด้วยว่าคำสั่งดังกล่าว ในข้อ 13 ระบุว่า “การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53 (3)(4)แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ให้ศธจ. โดยความเห็นชอบของ กศจ.เป็นผู้มีอํานาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง”

นายพีรพงศ์ กล่าวต่อว่า โครงสร้างที่มีศธจ.ดังกล่าว ทำให้เพิ่มขั้นตอนการทำงาน สร้างความยุ่งยากและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ ยกตัวอย่าง การแต่งตั้งรักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน แต่งตั้งรักษาการรองผู้อำนวยการโรงเรียน หรือการลาออกของข้าราชการครู เดิมเรื่องต่างๆ สามารถจบที่สพท. แต่ตั้งแต่มีโครงสร้างศธจ. เมื่อเรื่องส่งมาที่สพท.แล้ว จะต้องเดินทางไปที่ศธจ.เพื่อให้ศธจ.ลงนาม แล้วใช่ว่าไปถึงแล้วศธจ.จะสามารถลงนามได้ทันที บางครั้งแฟ้มก็ยังตั้งอยู่ที่โต๊ะศธจ. หลายวันกว่าจะลงนาม ขณะที่สพท.และศธจ.ไม่ได้อยู่ใกล้ อย่างสพป.นครราชสีมา เขต 7 กับศธจ. ไปกลับใช้เวลาหลายร้อยกิโลเมตร ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเบิกได้ เพราะงบประมาณเขตพื้นที่ฯ จำกัด ทั้งนี้ความขัดแย้งระหว่างสพท.และศธจ. ไม่ใช่เกิดแค่กับสพป.นครราชสีมา เขต 7 กับศธจ.นครราชสีมา แต่เป็นที่รู้กันว่าเกิดขึ้นทั่วประเทศ

“มีศธจ.แล้ว งานของเขตพื้นที่ฯ ไม่ได้ลดน้อยลง ทุกอย่างเราก็ยังทำงานกันเหมือนเดิมเพียงแต่เพิ่มขั้นตอนการทำงานมากขึ้น โดยต้องนำเอกสารไปให้ศธจ.เซ็นด้วย งานไม่ได้ลดน้อยลง ขณะที่เพิ่มขั้นตอนให้ยุ่งยากมากขึ้นโดยใช่เหตุ ซึ่งสุดท้ายบางเรื่องก็ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนและครู เนื่องจากการเพิ่มขั้นตอนทำให้เกิดความล่าช้า” ผอ.สพป.นครราชสีมา เขต 7 กล่าว

Advertisement

อ่านเพิ่มเติม

แค่หนังตัวอย่าง’สพป.โคราช7ต้าน’ศธจ.’!! นักวิชาการจี้คสช.ลดอำนาจต้นสังกัด ให้ร.ร.เป็นนิติบุคคล
ศธ.รับ’ศธจ.-สพท.’ขัดแย้ง เรื่องปกติช่วงปรับโครงสร้าง เล็งโยกอำนาจ’ลงโทษทางวินัย-แต่งตั้งรก.’กลับสพท.
ฮือฮา!! ผอ.สพป.โคราช 7 ปฏิเสธหนังสือศธจ.โคราช เชิญร่วมงานครูบรรจุใหม่ “ทราบ-ไม่ไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image