มติชนจัดงานเสวนา “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ มหัศจรรย์งานศิลป์พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9”

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่อาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนินกลาง บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ จัดงานเสวนา “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ มหัศจรรย์งานศิลป์พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9” พบกับ 4 บุคคลสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการรังสรรค์งานสร้างพระเมรุมาศ โดยนำผลงานมาสาธิตและอธิบายขั้นตอนการทำงานอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ , นายสมชาย บุญประเสริฐ ช่างปั้นปูนสดเมืองเพชรบุรี ผู้ควบคุมงานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์, นายชิน ประสงค์ ผู้ปั้นสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดง คุณโจโฉ ประดับข้างพระจิตกาธาน และนางนิดา ปิณฑานนท์ ผู้จัดทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ

พร้อมเสริมองค์ความรู้ก่อนเข้าชมนิทรรศการพระเมรุมาศจากวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ประกอบด้วย ดร.นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เขียน ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย, ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ ผู้เขียน งานพระเมรุ : ศิลปสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเกี่ยวเนื่อง, ผศ.ดร.รุ่งโรงจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เขียน รามเกียรติ์วัดพระแก้ว เขียนใหม่ในรัชกาลที่ 7 และ รศ.ยุวดี ศิริ ผู้ร่วมเขียน สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ โดยมี นายวิกรานต์ ปอแก้ว และนายเอกภัทร เชิดธรรมธร เป็นผู้ดำเนินรายการ

รศ.ยุวดี ศิริ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมเขียนหนังสือ สู่ฟ้าเสวยสวรรค์ กล่าวถึงงานเชิงสัญลักษณ์ในพระราชพิธีพระบรมศพว่า รายละเอียดหลายอย่างที่ปรากฏในพระราชพิธีพระบรมศพนั้น ศิลปิน จิตรกร สถาปนิก และนายช่างเพิ่งเพิ่มเติมในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนพระราชพิธีพระบรมศพ ด้วยเหตุนี้ รายละเอียดเหล่านั้นจึงยังไม่ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อ

รศ.ยุวดีกล่าวว่า ในงานพระราชทานเพลิงของเจ้าฟ้าองค์อื่นๆ ฉากบังเพลิงจะเป็นภาพเทวดา แต่สำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นภาพนารายณ์อวตาร ปรากฏอยู่ 4 ด้าน 8 ปาง นอกจากนี้ ฉากบังเพลิง 2 สี คือ สีชมพูและสีส้ม สีส้มนั้น สื่อถึงสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันเสด็จสวรรคต ไม้ประดับบริเวณลานอุตราวัฏนั้น ส่วนใหญ่ได้มาจากสวนนงนุช ลายกระถางจะมีดอกดาวเรือง 9 ดอก และส่วนที่สำคัญที่สุดที่สื่อถึงรัชกาลที่ 9 คือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร บริเวณชั้นเชิงกลอนที่ 7 จะมีพระโพธิสัตว์ในสวรรค์ชั้นดุสิต ส่วนนี้เป็นจุดที่ประชาชนพึงกราบไหว้

Advertisement

นายสมชาย บุญประเสริฐ ผู้ควบคุมงานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพาน กล่าวว่า ปั้นปูนสดมานานกว่า 30 ปี โดยสืบทอดมาจากช่างปั้นเมืองเพชรบุรีจากรุ่นสู่รุ่น ปูนที่ใช้ปั้นเป็นปูนโบราณ มีส่วนผสมจากวัสดุธรรมชาติ และครั้งนี้ได้รับความไว้วางใจจากกรมศิลปากรให้ร่วมปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระเมรุมาศในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากเคยถวายงานปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ประกอบงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริวัฒนาพรรณวดี มาก่อน

ระหว่างนั้นมีการสาธิตปั้นปูนสด “นกอรหัน” หรือนกหน้าคน สัตว์หิมพานต์ที่อยู่ในสระอโนดาต ด้านทิศตะวันตก โดยนายสมชายกล่าวว่า ปั้นประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ถวายงานพระเมรุมาศในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นจำนวนกว่า 120 ชิ้น มีทีมงานไม่ต่ำกว่า 50 คน โดยรูปแบบงานปั้นมีส่วนคล้ายคลึงกับงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริวัฒนาพรรณวดี แต่ครั้งนี้มีสัตว์ประจำทิศ และงานปั้นยึดตามหลักโบราณจากวัดสุทัศนเทพวราราม

Advertisement

นายชิน ประสงค์ ผู้ปั้นสุนัขทรงเลี้ยงคุณทองแดง คุณโจโฉ ประดับข้างพระจิตกาธาน กล่าวว่า ในปี 2553 เคยถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการปั้นคุณทองแดงและครอบครัว มาถึงคราวนี้ ตัวเองและครอบครัวรู้สึกดีใจมากที่ได้ถวายงานแด่รัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย โดยการปั้นคุณโจโฉนั้น นายชินเปิดเผยว่า ตัวเองไม่รู้จักคุณโจโฉมาก่อน การปั้นอาศัยเพียงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยตีพิมพ์ลงหนังสือ ราชินี จำนวน 3 ภาพที่สำนักพระราชวังส่งให้ดูเป็นแบบ ดังนั้น จึงต้องวางแผนการปั้นและกำหนดสัดส่วนของสุนัขทรงเลี้ยงตัวแรกนี้ขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยคำนึงถึงขนาดว่าควรไล่เลี่ยกับขนาดของรูปปั้นคุณทองแดง

นายชินกล่าวเสริมว่า รูปปั้นจะสะท้อนอุปนิสัยของสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง 2 ตัว คุณโจโฉเป็นสุนัขพันธุ์เทศเพศผู้ มีกิริยาขี้เล่นจากรูปปั้น คุณโจโฉจะสะท้อนความเป็นตะวันตกด้วยการคาบไปป์ ซึ่งอ้างอิงจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ส่วนคุณทองแดงเป็นสุนัขพันธุ์ไทยเพศเมีย รูปปั้นจะสะท้อนความซื่อสัตย์ผนวกกับความงดงามของสุนัขประจำรัชกาล ทั้ง 2 ตัวจะมีหูกระต่ายตรงลำคอ เพื่อให้มีความเป็นทางการ เหมาะสมกับพระราชพิธี ทั้งนี้ นายชินได้แสดงการขึ้นรูปคุณทองแดงด้วยดินน้ำมันให้แก่ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ชมด้วย

นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์ กล่าวว่า เคยถวายงานแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อครั้งมีพระชนม์ชีพหลายครั้ง สำหรับงานพระเมรุมาศครั้งนี้ งานที่ออกแบบชิ้นแรกคือพระโกศจันทน์และพระหีบพระบรมศพจันทน์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมศิลปากร ก่อนนำแบบขึ้นถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเวลาต่อมา

“พระหีบพระบรมศพจันทน์ไม่ตรงกับพระหีบข้างใน มีส่วนโค้งให้รับกัน ส่วนตัวเฟื่องได้กลึงให้กลม ร้อยด้วยเอ็น เพื่อให้ไหวได้ และตัวฐานมีการเพิ่มสิงห์เข้ามาอย่างสมพระเกียรติ ส่วนพระโกศจันทน์ได้ปิดทองคำเปลวในไส้ลายต่างๆ เพื่อความสวยงามสมพระเกียรติ นอกจากนี้ ยังได้ออกแบบลายผ้าม่านประดับพระเมรุมาศอีกด้วย” นายสมชายกล่าว

นางนิดา ปิณฑานนท์ ผู้จัดทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ กล่าวว่า ตัวเองถวายงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว ก่อนหน้านี้ได้ถวายงานในงานพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และครั้งที่สองคือ พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริวัฒนาพรรณวดี

นางนิดากล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า รู้สึกเสียใจเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่ต้องสูญเสียพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชไป การเข้ามารับงานนี้ถือเป็นที่สุดของชีวิต เริ่มแรก ตัวเองทราบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต จนถึงเดือนมกราคม 2560 ยังไม่มีใครเข้ามาทำผ้าม่านประดับพระเมรุมาศ ความรู้สึกของความรับผิดชอบของตัวเองจึงเกิดขึ้นทันที ตลอดเวลา 5 เดือนในการจัดทำ ตั้งใจจะใช้ความรู้ที่เรียนมาเพื่อทำผลงานให้ดีที่สุด ให้สมพระเกียรติของรัชกาลที่ 9 และทำแล้วต้องเป็นประวัติศาสตร์ โดยผ้าม่านจะมีความเป็นสมัยใหม่ ด้วยการปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่าง เช่น เปลี่ยนสีบนผ้าจากสีเขียวเป็นสีเทอร์คอยซ์หรือสีน้ำทะเล เพื่อให้ทั่วโลกได้เห็นและประจักษ์ในฝีมือของคนไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานเสวนามีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ “19 ความมหัศจรรย์ของพระเมรุมาศ องค์ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุครัตนโกสินทร์” พร้อมทั้งประติมากรรมคุณทองแดงโดยนายชิน ประสงค์ โดยบรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประชาชนเข้าร่วมรับฟังเสวนาจำนวนมาก อาทิ นายประมุข บรรเจิดสกุล ผู้จัดการห้างหุ้นส่วน ป.ว.ช. ลิขิตการสร้าง, นายประสพสุข รัตน์ใหม่ ผู้ดูแลงานปั้นประติมากรรมต่างๆ ในงานพระเมรุมาศ, นางสาวปานบัว บุนปาน รองผู้จัดการสายการตลาด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นายสุรพล พิทยาสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ บมจ.มติชน, นางสุดารัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการมติชนอคาเดมี เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนสำรองที่นั่งล่วงหน้าจะได้รับหนังสือฉบับพิเศษ “สถิตพิมานสถาน”, ดีวีดีสารคดีพิเศษ “สู่ฟ้าเสวยสวรรค์” (จำนวนจำกัด) และโปสเตอร์คุณทองแดงหรือสัตว์หิมพานต์

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจำหน่ายหนังสือจากสำนักพิมพ์มติชน รวมถึงการเปิดจองหนังสือ “นบพระภูมิบาล” สมุดประชุมภาพงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่สมบูรณ์ที่สุด ครบถ้วนทุกรายละเอียดงานพระราชพิธีตั้งแต่วันที่ 25-29 ตุลาคม 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image