ผอ.สำนักพุทธฯตรวจวัดลัฏฐิวนาราม เจ้าอาวาสยัน ไม่มีโบสถ์ปลอม-พร้อมตรวจสอบวัตถุมงคลราคาแพง

ผอ.สำนักพุทธฯลงตรวจสอบวัดลัฏฐิวนารามแล้ว พบสัญญาผิดระเบียบ ไม่แจ้ง คณะกรรมการพิจารณาศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.) สั่งยื่นเรื่องใหม่ ส่วนอย่างอื่นยันทำได้ ไม่ขัดกม.

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 24 พฤศจิกายน นายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยพระครูเมตตาภิรม เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบวัดลัฏฐิวนารามหรือวัดใต้ ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต หลังมีการโพสต์ภาพและข้อความระบุ ว่า ภายในวัดดังกล่าวมีการสร้างโบสถ์ปลอม มีการจำหน่ายพระเลี่ยมทองในราคาแพงกว่าปกติ มีการขายน้ำมะพร้าวธูปเทียนในราคาสูง และรับเฉพาะทัวร์จีน โดยไม่อนุญาตให้คนไทยเข้าไป

พระครูเมตตาภิรม เจ้าคณะอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวยืนยันว่า ในวัดนี้ไม่มีโบสถ์ปลอม ส่วนที่มีความเข้าใจผิด เนื่องจากทางผู้เช่าที่ดินของวัด ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ว่า เพื่อทำการพาณิชย์ได้มีการปลูกสร้างอาคารหรือเสนาสนะที่มีรูปลักษณ์ภายนอกเป็นทรงไทยซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของวัดหรือเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นศาสนสถาน จึงทำให้เกิดความเข้าใจ และอาคารดังกล่าวทางผู้เช่าเป็นผู้สร้างขึ้นและหากหมดสัญญาก็จะยกให้กับวัด โดยการที่ทางวัดนำที่ดินให้เอกชนเช่านั้นสามารถทำได้ตามระเบียบ กรณีเช่าไม่เกิน 3 ปี ทางเจ้าอาวาสสามารถอนุญาตได้เลย แต่หากมากกว่า 3 ปีจะต้องยื่นเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาศาสนสมบัติกลางประจำ หรือ พศป.พิจารณา

Advertisement

ส่วนกรณีที่ว่ามีการจำหน่ายวัตถุมงคลที่มีราคาแพงและอาจจะเป็นของปลอมนั้น เรื่องนี้เป็นการดำเนินการของผู้เช่าและทางวัดไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง หากต้องการจะให้ตรวจสอบหรือเข้าไปควบคุมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับพุทธศาสนิกชน ก็จะได้ให้ทางเจ้าอาวาสเข้าไปตรวจสอบต่อไป ส่วนการบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟังหลังลงจากรถทัวร์เป็นเรื่องของบริษัทฯ ซึ่งทางวัดไม่ทราบรายละเอียดเนื่องจากมีการบรรยายเป็นภาษาจีน รู้แต่ว่าการที่คนต่างชาติเข้ามาทำบุญไหว้พระเป็นสิ่งที่ดีและได้มีการนำปัจจัยมาทำนุบำรุงวัด รวมถึงการควบคุมเรื่องการแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อย

ประเด็นในส่วนของพระสงฆ์ที่เข้าไปนั่งภายในอาคาร เพื่อประพรมน้ำพระพุทธมนต์และให้พรนั้น ทางผู้เช่าที่ดินวัดได้นิมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลของนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระ โดยไม่ได้มีผลประโยชน์อันใดและไม่มีการถวายปัจจัยด้วย เพราะเขาจะมีการนำปัจจัยไปใส่ตู้บริจาค ซึ่งรายได้ทั้งหมดทางผู้เช่าฯก็มอบให้กับวัด เพื่อนำไปเป็นค่าน้ำค่าไฟและบำรุงวัด พระครูเมตตาภิรมกล่าว

ขณะที่นายวิญญา ปลัดขวา ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการตรวจสอบสัญญาเช่าพื้นที่ของวัด พบว่าทางวัดมอบหมายให้นายไพโรจน์ นกบรรจง ไวยาวัจกรฯ เป็นผู้ทำสัญญาเช่ากับเอกชน คือ นายสมเกียรติ แก้วสกุล ระบุว่า เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยมีระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 – 31 ธ.ค.2560 ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท โดยมีการต่อสัญญากันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2556 เบื้องต้นพบการทำสัญญาเช่าดังกล่าวผิดระเบียบการเช่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งตามระเบียบการเช่าแม้ว่าจะเป็นการเช่าปีต่อปี แต่หากมีการแสวงหาผลประโยชน์ ก็ต้องผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาศาสนสมบัติกลางประจำ (พศป.) ซึ่งจะได้แจ้งให้ทางวัดทราบ และดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนในระหว่างที่รอการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบว่า จะต้องหารือไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติก่อนว่า จะให้ทางวัดและผู้เช่าดำเนินการต่อไปหรือให้หยุดชั่วคราว

ทางด้านนายสมเกียรติ แก้วสกุล เจ้าของ บริษัท พุทธธรรม จำกัด และผู้เช่าพื้นที่วัด กล่าวชี้แจงประเด็นที่เป็นปัญหาต่างๆ ว่า บริษัทฯ ได้เข้ามาเช่าพื้นที่กับทางใต้ และสิ่งก่อสร้างหรือเสนาสนะนั้นก็จะถวายให้กับวัด โดยได้มีการนำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไหว้พระที่วัดดังกล่าวมาเป็นเวลาประมาณ 10 ปี เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่มาภูเก็ตแล้วต้องการจะไหว้พระ แต่เนื่องจากไม่สามารถที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าไปไหว้พระในวัดได้เหมือนกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป เพราะวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับพุทธศาสนิกชนได้ จึงมาหารือกับทางวัดใต้และขอเช่าพื้นดังกล่าว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาไหว้พระ และดูแลให้เป็นไปตามวัฒนธรรมอันดีงามของไทย มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และซึมซับวัฒนธรรมของไทยด้วย จึงได้สร้างอาคารให้มีความคล้ายคลึงและใกล้เคียงวัดมากที่สุด โดยทางบริษัทฯ พร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนด และในการเช่าบูชาวัตถุมงคลนั้นเราก็ไม่ได้บังคับ ขึ้นอยู่กับความชอบของนักท่องเที่ยวเองและระดับราคาก็แตกต่างกันไปเริ่มตั้งแต่ระดับพันบาทถึงหลักหมื่นบาท ขณะนี้ที่นิยมมาก คือ สาลิกาลิ้นทอง หลวงพ่อคูณ เป็นต้น และวัตถุมงคลที่นำมาให้เช่าบูชานั้นเป็นวัตถุมงคลที่เป็นของจริงที่ผ่านการปลุกเสกมาแล้ว

นายสมเกียรติ ยังอธิบายต่อด้วยว่า กรณีที่นิมนต์พระสงฆ์มาประพรมน้ำมนต์นั้นก็เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสมหรือไม่สามารถทำได้ และเนื่องจากยังไม่แน่ใจว่าผิดหรือถูก ต่อจากนี้ก็จะไม่มีการนิมนต์พระสงฆ์มานั่งประพรมน้ำมนต์ให้กับนักท่องเที่ยวอีก จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะเราพร้อมที่จะทำให้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image