เปิดรายงาน ‘แอมเนสตี้’ ปฏิบัติการเปลี่ยน ‘ยะไข่’ เป็น ‘คุกกลางแจ้ง’ ความเป็นมนุษย์ที่หายไปของ ‘โรฮีนจา’

ชาวมุสลิมถูกแยกออกจากชุมชนพุทธให้ไปอยู่ค่ายพักพิงชั่วคราวนอกเมือง ที่เมืองซิตตเว ยะไข่ (ภาพทั้งหมดจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล)

ท่ามกลางความเห็นแง่ลบที่ท่วมท้นสังคมโซเชียลไทยต่อประเด็นชาวโรฮีนจาในพม่า จนถึงปัจจุบันชาวโรฮีนจาก็ยังคงถูกเลือกปฏิบัติและเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ขณะที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ทำให้นานาชาติเชื่อมั่นได้ว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ภายใต้การนำของออง ซาน ซูจี ที่ถูกทั่วโลกเรียกร้องให้ยึดโนเบลสันติภาพคืน

ความรุนแรงในรัฐยะไข่เป็นที่สนใจจากทั่วโลกแน่นอน เมื่อมีการคุกคามจนกลายเป็นอาชญากรรมครั้งใหญ่ที่รัฐบาลพม่าบีบให้โรฮีนจามากกว่า 8 แสนคน ต้องหนีตายจนล้นค่ายผู้ลี้ภัย โดยอ้างเรื่องความมั่นคงและปราบปรามการก่อการร้าย

2 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยของ “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” ได้ลงพื้นที่สอบสวน เก็บข้อมูล และสัมภาษณ์ผู้คน จนกลายมาเป็นรายงานการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวโรฮีนจาในพม่า เรื่อง “กรงขังที่ไร้หลังคา (Caged without a Roof)” ซึ่งมีการเผยแพร่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้

“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเริ่มที่ตรงไหนและจะไปจบที่ไหน ตั้งแต่ปี 2555 ทุกๆ อย่างก็เริ่มขาดแคลน เราเข้าไม่ถึงทั้งการรักษาพยาบาลและการศึกษา การเดินทางถูกจำกัด เราไปไหนไม่ได้เพราะมีด่านตรวจตลอดทาง เราต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอด เด็กๆ ต้องดิ้นรนเพื่ออนาคตของเขา เหมือนอยู่ในกรงขังที่ไร้หลังคา” Faisal (นามสมมุติ) ชายโรฮีนจาวัย 34 ในเมืองมรัคอูกล่าว

Advertisement

รายงานฉบับนี้ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ถือเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรูปแบบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ (Apartheid)”

อันย่า นีสตัต ผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิจัย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ชาวโรฮีนจาจำนวนมากลี้ภัยเข้าบังกลาเทศ หนีการฆาตกรรม การข่มขืน ถูกเผาบ้านเรือน แอมเนสตี้ติดตามความน่ากลัวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยติดตามสืบสวนทำงานวิจัยและสัมภาษณ์ผู้คนมาเป็นเวลา 2 ปี พบว่าเจ้าหน้าที่พม่าใช้นโยบายเลือกปฏิบัติแบ่งแยกทางเชื้อชาติกับชาวโรฮีนจาในทุกมิติของชีวิต ในทุกๆ วัน นับได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“นี่ไม่ใช่เรื่องอารมณ์ แต่เป็นคำจำกัดความทางกฎหมายที่มาอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติในรูปแบบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติถูกระบุไว้ในอนุสัญญากรุงโรม ก่อนสืบสวนเราไม่ได้ตั้งธงล่วงหน้าว่าจะเจออะไรบ้าง และพบว่าข้อสรุปในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนับได้ว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ รัฐยะไข่ถูกเปลี่ยนให้เป็นคุกกลางแจ้ง มีนโยบายและกฎหมายถูกเอามาใช้ให้ชีวิตประจำวันของชาวโรฮีนจาย่ำแย่

“ทางการควบคุมตัวผู้หญิง ผู้ชาย และเด็กชาวโรฮีนจาแยกกัน บังคับให้พวกเขาอยู่ในระบบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ การละเมิดสิทธิและกดขี่เกิดขึ้นทุกวัน และยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้น ระบบนี้คล้ายถูกออกแบบมาให้ชาวโรฮีนจาสิ้นหวังกับชีวิตและรู้สึกอับอายมากสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ปฏิบัติการทางทหารที่โหดร้ายในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาของกองกำลังความมั่นคง เป็นเพียงภาพสะท้อนสุดโต่งอีกครั้งหนึ่งของทัศนคติที่น่ารังเกียจ”

อันย่ายืนยันว่าต้องมีการระบุรากเหง้าของวิกฤตการณ์ปัจจุบันเพื่อยุติวงจรการปฏิบัติโดยมิชอบ และต้องสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาสามารถกลับเข้าประเทศที่มีการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของพวกเขา

เด็กชาวโรฮีนจาอยู่หน้ามัสยิดและโรงเรียนศาสนาที่เสื่อมโทรมในหมู่บ้านทางตอนเหนือของยะไข่

เปลี่ยนหมู่บ้านให้กลายเป็นกรงขัง

รายงานระบุว่า การปราบปรามโรฮีนจาทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 2555 ช่วงเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนพุทธและมุสลิมทั่วประเทศพม่า

ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ถูกปิดกั้นจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง และต้องเผชิญกับข้อจำกัดร้ายแรงต่อเสรีภาพในการเดินทาง ส่งผลให้ถูกกักอยู่ในหมู่บ้านของตน

มาตรการจำกัดสิทธิเหล่านี้ปรากฏในกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือแสดงพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติอย่างเปิดเผยทั่วรัฐยะไข่ โดยกำหนดชัดเจนว่า “ชาวต่างชาติ” และ “เบงกาลี (ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกดูถูกชาวโรฮีนจา)” ต้องได้รับอนุญาตพิเศษเมื่อจะเดินทางไปต่างอำเภอ

รวมถึงการประกาศเคอร์ฟิวโดยพลการ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงและต่อเนื่องในพื้นที่ชาวโรฮีนจา

ในตอนเหนือของรัฐยะไข่ ชาวโรฮีนจาที่มีใบอนุญาตเดินทางจากทางการเมื่อเจอด่านตรวจจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ตำรวจพิทักษ์ชายแดนมักถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม ถูกบังคับให้จ่ายค่าสินบน รวมถึงถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกจับกุม

ชายโรฮีนจาคนหนึ่งเล่าให้แอมเนสตี้ฟังว่า เขาเห็นการใช้อำนาจโดยมิชอบเช่นนี้เมื่อรถโดยสารของเขาถูกตำรวจโบกให้จอด “มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 4 นาย สองนายใช้ไม้เท้าตีที่ข้างหลัง ไหล่ และขาอ่อนผู้ชายคนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งใช้มือตบหน้าผู้หญิง 4 หรือ 5 ครั้ง หลังจากนั้นก็พาตัวพวกเขาไปโรงพัก”

เจ้าหน้าที่ของแอมเนสตี้ระบุว่า พบเห็นตำรวจพิทักษ์ชายแดนเตะชายชาวโรฮีนจาที่ด่านตรวจแห่งหนึ่ง และสามารถเก็บข้อมูลวิสามัญฆาตกรรมได้อย่างน้อยหนึ่งกรณี เมื่อเจ้าหน้าที่ยิงชายอายุ 23 ปี เสียชีวิต ขณะเดินทางในช่วงประกาศเคอร์ฟิว

ลอร่า เฮห์ นักวิจัยแอมเนสตี้ประจำพื้นที่พม่า กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่ไม่มีสัญชาติ ไม่มีความเป็นพลเมือง ต้องพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่ามาจากไหน เป็นใคร หลายครั้งถูกยึดเอกสารประจำตัว และมีสิทธิถูกลบชื่อออกจากทะเบียนหากไม่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ เด็กที่เกิดใหม่ก็ลงทะเบียนการเกิดไม่ได้

“การไม่มีเอกสารทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ ต้องขออนุญาตเพื่อเดินทางระหว่างหมู่บ้าน ถูกหยุดตรวจด้วยการคุกคามข่มขู่ให้จ่ายสินบน เมื่อเดินทางไม่ได้ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ เด็กเรียนโรงเรียนทั่วไปไม่ได้ ครูก็กลัวจนไม่ไปสอนในพื้นที่มุสลิม พอเกิดเหตุอันตราย เจ้าหน้าที่ก็ไม่สืบสวนคดี ต่อให้เด็กโรฮีนจาเรียนเก่งยังไงก็เข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตออกจากรัฐ” ลอร่ากล่าว

ลอร่าถือรายงานซึ่งฝ่ายวิจัยลงพื้นที่ยะไข่กว่า 2 ปี

นับแต่เหตุรุนแรงเมื่อปี 2555 ชาวโรฮีนจาจำนวนมากออกจากรัฐยะไข่ โดยเฉพาะจากเมืองซิตตเว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ ปัจจุบันยังมีโรฮีนจาอีกราว 4,000 คน อาศัยอยู่ในสภาพเหมือนค่ายกักกันที่มีรั้วลวดหนามกั้นและมีด่านตรวจ

พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและเผชิญความรุนแรงจากชุมชนใกล้เคียงหากพยายามหลบหนีออกไป

คลินิกในค่ายพักพิงชั่วคราวนอกเมืองซิตตเว

“ติดคุกเสียยังดีกว่า” เมื่อความเป็นมนุษย์ถูกลดทอน

ตามที่ลอร่าระบุ เมื่อการเดินทางของโรฮีนจาถูกจำกัด ก็ปิดกั้นโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล เมื่อโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วยะไข่มีการบริการค่อนข้างแย่ ส่วน “โรงพยาบาลซิตตเว” ซึ่งมีมาตรฐานบริการสูงสุดในรัฐก็กีดกันไม่ให้ชาวโรฮีนจาใช้บริการ ยกเว้นผู้ป่วยอาการสาหัสร้ายแรง แต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากทางการรัฐยะไข่ และต้องมีตำรวจคุมขณะเดินทาง

เมื่อไม่มีทางเลือก บางครอบครัวที่มีฐานะดีจึงใช้วิธีเดินทางไปรักษาในบังกลาเทศพร้อมค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

ชายอายุราว 50 ปี เล่าว่า “ผมอยากไปรักษาที่ รพ.ซิตตเว แต่ถูกห้าม เจ้าหน้าที่ รพ.บอกว่าผมไปที่นั่นไม่ได้เพราะอาจไม่ปลอดภัย และบอกว่าผมต้องไปรักษาตัวที่บังกลาเทศแทน ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก พี่ชายผมต้องขายนาและวัวบางส่วนเพื่อจ่ายค่าเดินทางให้ ผมยังโชคดี…ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินก็ได้แต่รอความตาย”

ในพื้นที่อื่นนอกจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ คนไข้โรฮีนจาจะถูกกักใน “หอผู้ป่วยมุสลิม” ที่มีตำรวจคุมอยู่ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์คนหนึ่งเปรียบว่าหอผู้ป่วยนี้ไม่ต่างจาก “รพ.ที่เป็นเรือนจำ”

รายงานระบุว่า ชาวโรฮีนจาต้องให้สินบนเจ้าหน้าที่ รพ.และตำรวจผู้คุม หากจะโทรหาครอบครัว หรือซื้ออาหารจากภายนอก หลายคนเลี่ยงไม่ไป รพ.เพราะกลัวการปฏิบัติโดยมิชอบของแพทย์และพยาบาล หรือคิดว่าพวกเขาคงไม่ได้รับการรักษาดูแล

“การปฏิเสธไม่ให้ชาวโรฮีนจาเข้าถึงการรักษาพยาบาลเป็นสิ่งที่น่าชิงชังมาก ผู้หญิงหลายคนกล่าวว่า พวกเธอยินดีคลอดลูกที่บ้านในสภาพขาดสุขอนามัย มากกว่าจะเสี่ยงเจอการปฏิบัติโดยมิชอบหรือถูกรีดไถใน รพ.” อันย่ากล่าว

รายงานยังเผยอีกว่า การจำกัดการเดินทางยังกระทบการหาเลี้ยงชีพ ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารการกิน มีการตัดขาดเส้นทางไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าเดินทางไปตลาด เกษตรกรถูกห้ามไม่ให้ทำไร่ไถนา ภาวะทุพโภชนาการและความยากจนเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในชุมชนโรฮีนจาในพื้นที่และรุนแรงขึ้น เมื่อทางการจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

“เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทุกวันนี้ เพราะพวกเราไม่มีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค ไปติดคุกเสียยังดีกว่า อย่างน้อยพวกเรายังมีข้าวกินทุกมื้อ แต่ชีวิตทุกวันนี้ก็เหมือนอยู่ในคุกอยู่แล้ว” ชายโรฮีนจาวัย 25 ปีกล่าว

อีกทั้งยังมีคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 4 คนขึ้นไป ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาซึ่งเป็นประชากรมุสลิมส่วนใหญ่ถูกห้ามไม่ให้ทำละหมาดด้วยกันโดยปริยาย ทางการยังสั่งปิดมัสยิด ส่งผลให้ศาสนสถานของมุสลิมเสื่อมโทรม

เลือกปฏิบัติ “อย่างสุดโต่ง” บีบคนออกจากบ้าน

แอมเนสตี้เผยว่า การปฏิเสธสิทธิตามกฎหมายของโรฮีนจาถือเป็นรากฐานการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮีนจา โดยมีหัวใจอยู่ที่กฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะเหยียดเชื้อชาติ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สัญชาติ นับแต่ พ.ศ.2525 ที่ปฏิเสธไม่ให้สัญชาติกับชาวโรฮีนจา โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับชาติพันธุ์

ในยะไข่ เจ้าหน้าที่ตีตราว่าชาวโรฮีนจาเป็นคนอื่น แม้แต่คำว่า “โรฮีนจา” ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ แต่เรียกว่า “เบงกาลี” เป็นผู้อพยพหรือแรงงานต่างชาติ

งานวิจัยของแอมเนสตี้ยังเผยว่า ทางการพม่าจงใจมีส่วนร่วมในการรณรงค์ยกเลิกบัตรประจำตัวชาวโรฮีนจาซึ่งมีอยู่จำกัดอยู่แล้ว

ลอร่า เฮห์, อันย่า นีสตัต และเจมส์ โกเมซ ผอ.ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินรายการ

นับแต่ปี 2559 รัฐบาลสร้างกฎเกณฑ์ยุ่งยากเพื่อกีดกันไม่ให้ชาวโรฮีนจาลงทะเบียนทารกแรกเกิดใน “ทะเบียนบ้าน” ซึ่งเป็นหลักฐานเดียวที่ยืนยันถิ่นที่อยู่ของครอบครัวโรฮีนจาในพม่า ส่วนในตอนเหนือของรัฐยะไข่คนที่ไม่กลับมาบ้านระหว่าง “การนับหัวประชากร” ประจำปีก็เสี่ยงถูกตัดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อของทางการโดยสิ้นเชิง

การรณรงค์นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาวโรฮีนจาซึ่งหลบหนีออกนอกประเทศแล้วแทบจะไม่สามารถกลับมายังบ้านเกิดได้อีก

“เด็กมุสลิมไม่ได้ขึ้นทะเบียนชื่อไว้สักแห่ง ถ้าเขาไม่อยู่ในรายชื่อครอบครัว พวกเขาก็จะไม่มีตัวตน” อดีตคนทำงานองค์กรด้านมนุษยธรรมในตอนเหนือของยะไข่กล่าว

ลอร่า เฮห์ เปิดเผยว่า ชาวโรฮีนจาไม่สามารถรวมตัวเรียกร้องอะไรได้ ไม่มีปากเสียงใดต่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นได้ ไม่มีส่วนร่วมต่อชีวิตสาธารณะ ต้องพึ่งพาชุมชนระหว่างประเทศและภายนอกเป็นกระบอกเสียงให้

“หน่วยงานต่างๆ ในรัฐยะไข่มีส่วนในการจำกัดสิทธิชาวโรฮีนจาที่เกิดขึ้น นี่เป็นระบบการเลือกปฏิบัติที่ฝังรากในสถาบันของรัฐ มุสลิมหลายกลุ่มในพม่าถูกเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิเช่นกัน แต่กับโรฮีนจาเป็นความสุดโต่งของกฎหมายและการเลือกนำมาปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ระบบนี้ถูกใช้อย่างสุดโต่ง เป็นหลักฐานที่ทำให้ระบุได้ว่าเป็นอาชญากรรมที่เกิดจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ” ลอร่ากล่าว

ด้านอันย่า ผอ.อาวุโสด้านวิจัย ย้ำว่า การคืนสิทธิและสถานภาพทางกฎหมายให้กับชาวโรฮีนจา และการแก้ไข พ.ร.บ.สัญชาติที่มีลักษณะเลือกปฏิบัตินั้น เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน

“เพราะเราไม่อาจขอให้ชาวโรฮีนจาที่หลบหนีการปราบปรามเดินทางกลับมาอยู่ในระบบที่ยังมีการแบ่งแยกทางเชื้อชาติได้”

หลักฐานชี้ “แบ่งแยกเชื้อชาติ”

แอมเนสตี้วิเคราะห์หลักฐานเชิงกฎหมายและพบข้อสรุปว่า การปฏิบัติของทางการพม่าต่อชาวโรฮีนจา ถือเป็น “การแบ่งแยกทางเชื้อชาติ” ตามคำจำกัดความของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการแบ่งแยกทางเชื้อชาติ และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

ประเทศพม่ามีพันธกรณีตามกฎหมายที่ต้องยกเลิกระบบการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในรัฐยะไข่ และต้องรับประกันว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผิดในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ตนกระทำ

ชายคนหนึ่งโชว์ทะเบียนบ้านที่ชื่อญาติของเขาถูกลบออกระหว่างการสำรวจประขากรประจำปี โดยเจ้าหน้าที่เขียนระบุว่าบุคคลนี้หนีไปบังคลาเทศ

ส่วนกรณีที่รัฐบาลพม่าบอกว่าปฏิบัติการที่เกิดขึ้นเป็นการโต้ตอบผู้ก่อการร้ายนั้น อันย่าระบุว่า แอมเนสตี้ขอประณามความรุนแรงจากการก่อการร้ายทุกรูปแบบ แต่บริบทสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นไม่ได้สัดส่วนกับความรุนแรง

“การที่ตอบโต้อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต้องทำตามกฎหมายและให้ได้สัดส่วน แต่หลายครั้งกลับถูกนำมาใช้กับประชากรในภาพรวมโดยไม่เจาะจงกลุ่มก่ออาชญากรรม เราพยายามผลักดันทางออกให้เกิดข้อยุติจากสถานการณ์ ไม่มีอะไรเป็นข้ออ้างจากการแบ่งแยกชาติพันธุ์ได้ ไม่ว่าการอ้างเรื่องความมั่นคงหรือการก่อการร้าย พม่าต้องออกนโยบายยุติการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นทั้งเชิงนโยบายและกฎหมาย โดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

“หากไม่สามารถทำให้เกิดความรับผิดได้ เราเรียกร้องให้มีมาตรการจำกัดการซื้อขายอาวุธของรัฐบาลพม่า และมีการคว่ำบาตร ถ้าระบบในประเทศไม่สามารถจัดการอาชญากรรมนี้ได้ ระบบในต่างประเทศต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือจัดการอาชญากรรมนี้” อันย่ากล่าว

ซึ่งลอร่าระบุเพิ่มเติมว่า ควรเรียกร้องให้ยูเอ็นส่งตัวแทนเข้าไปตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เพราะรัฐบาลต่างๆ กำลังลงทุนในพม่า และคำนวณว่าจะวางท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

“เราต้องมองข้ามและหาแนวทางปฏิบัติเพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่เกิดขึ้น ประชาคมโลกต้องหารือร่วมกัน” ลอร่ากล่าว

หากไม่มีสัญญาณการแก้ปัญหาที่ดีขึ้นจากในประเทศ ประชาคมโลกคงต้องร่วมหาทางออก ท่ามกลางความรุนแรง การสูญเสีย และคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image