คอลัมน์ กฎหมายธุรกิจ: ควบบริษัท-ธุรกิจครอบครัว โดย วิโรจน์ พูนสุวรรณ

การปรับปรุงโครงสร้างกลุ่มบริษัทของธุรกิจครอบครัว เพื่อแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นสิ่งที่นิยมกระทำกัน ตามแผนที่จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล ไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือการทำไอพีโอ เพื่อที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ต่อไป

ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการที่สำคัญที่สุดของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอคือ พัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นแหล่งทุนของ SMEs ให้กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เข้าถึงตลาดทุนได้ และ มีโอกาสเข้าระดมทุนในตลาดทุน

การปรับปรุงโครงสร้างบริษัทของธุรกิจครอบครัวนี้ทำได้หลายวิธีด้วยกัน ทั้งการโอนหุ้น แลกเปลี่ยนหุ้น โอนทรัพย์สิน และ โอนกิจการทั้งหมด แต่วิธีที่ดีที่สุด ได้แก่การควบบริษัท

ควบบริษัท เป็นถ้อยคำเฉพาะของกฎหมาย อีกคำหนึ่งคือ ควบเข้ากัน ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน หมายถึงบริษัท ก. จดทะเบียนควบกับบริษัท ข. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กลายเป็นบริษัท ค. โดยที่บริษัทเดิม คือ ก. และ ข. สิ้นสภาพนิติบุคคลไป เกิดเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ค. ซึ่งรับโอนไปซึ่งสิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิม ไปโดยอัตโนมัติ โดยมากคนทั่วไปจะรู้จักการควบบริษัท แต่เพียงเท่านั้น จะรู้ตื้นลึกหนาบางรายละเอียดที่มากกว่านั้นก็ต้องถามวาณิชธนกร และที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ช่วยบริษัททำไฟลิ่ง

Advertisement

อีกคำหนึ่งที่ใช้กันมากคือคำว่า ควบรวมกิจการ มีจุดกำเนิดเมื่อ 20 ปี ที่แล้วก่อนวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งไม่นาน จากการประดิษฐ์คิดคำของหนังสือพิมพ์สายธุรกิจทั้งหลาย ซึ่งตอนนั้นใช้เพียงคำว่า ควบกิจการ และรวมกิจการ ซึ่งส่วนมากเป็นการซื้อขายกิจการ หรือซื้อขายหุ้น (mergers and acquisitions—M&A) ที่ไม่ใช่การควบบริษัทตามกฎหมาย เมื่อมีผู้ท้วงติง หนังสือพิมพ์จึงหันไปใช้คำว่า ควบรวมกิจการ ซึ่งฮิตติดตลาดตั้งแต่ตอนนั้น

เพราะฉะนั้นคำว่า ควบรวมกิจการ จึงเป็นภาษาชาวบ้าน หมายความถึง M&A ทุกอย่าง ตั้งแต่ การควบบริษัท การซื้อหุ้นบริษัท การขายทรัพย์สินของบริษัท การโอนกิจการทั้งหมดของบริษัท แต่ถ้าจะหมายความเฉพาะถึง การควบบริษัท ตามกฎหมายไทย ใช้ได้เพียงสองคำเท่านั้น คือ ควบบริษัท กับ ควบเข้ากัน

การควบบริษัท กระบวนการจดทะเบียน ก็ไม่ได้ยากอะไร เพียงแต่ให้บริษัทเดิม ที่จะควบเข้ากัน คือบริษัท ก. และ บริษัท ข. ไปจดทะเบียนมติพิเศษควบบริษัท ก็ถือว่าสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง มติพิเศษก็ต้องมีผู้ถือหุ้นของบริษัทคะแนนเสียง 75% ของที่มาประชุมลงมติให้ควบเข้ากัน การจดทะเบียนก็ต้องจดภายในสิบสี่วันนับแต่วันลงมติ
การออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติพิเศษ ก็ต้องใช้ 14 วันเช่นกัน ข้อความที่เป็นมติพิเศษ ก็ต้องระบุไว้ในหนังสือบอกกล่าว ให้ผู้ถือหุ้นเห็นชัดๆล่วงหน้าว่าจะไปลงมติอะไร หนังสือนัดประชุมต้องส่งทั้งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และการประกาศหนังสือพิมพ์

Advertisement

รายการที่ใช้เวลานานที่สุดในการควบบริษัท คือการแจ้งให้เจ้าหนี้มีโอกาสคัดค้านการควบบริษัทใน 60 วัน การแจ้งเจ้าหนี้ก็ต้องทำทั้งการโฆษณาหนังสือพิมพ์และการส่งไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ถ้ามีเจ้าหนี้คัดค้านก็จะควบไม่ได้ ต้องหาวิธีให้เจ้าหนี้ยินยอมก่อนเช่น หาหนังสือค้ำประกันธนาคารไปให้ ถ้าไม่ยอมจริงๆก็ต้องใช้หนี้เจ้าหนี้รายนั้นไป บริษัทในครอบครัวที่เจ้าหนี้ไม่เยอะ จึงผ่านขั้นตอนนี้ได้สะดวกสบายมาก

ขั้นตอนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถือว่าตรงไปตรงมารอเวลาตามขั้นตอนทางกฎหมายให้ผ่านไปจนครบกำหนดเท่านั้น ซึ่งรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน
แต่หลังจากควบบริษัทแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นที่กรมสรรพากรเริ่มซับซ้อนและมีความยุ่งยากอยู่บ้าง ตรงที่ประมวลรัษฎากรถือว่าบริษัท ก. และ ข. ที่ควบเข้ากันนั้น เลิกบริษัท จึงต้องนำวิธีการยื่นรายการและเสียภาษีของการเลิกบริษัทมาใช้ โดยกรรมการของบริษัท ค. ที่ตั้งขึ้นใหม่ มีหน้าที่และความรับผิดเหมือนกับผู้ชำระบัญชี ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีการชำระบัญชีเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ต้องมีการจดทะเบียนการชำระบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพียงแต่กฎหมายภาษีระบุให้ยืมบทบัญญัติเรื่องการเลิกบริษัทมาใช้กับการควบบริษัทโดยอนุโลม

ที่ทำให้บริษัทกังวลคือการกำหนดให้ ค. แจ้งการควบต่อสรรพากรพื้นที่ ภายใน 15 วันหลังจดทะเบียนการควบแล้ว ซึ่งมักจะตามมาด้วยการตรวจสอบภาษีย้อนหลังของ ก. กับ ข. ถ้ามีภาษีที่จะต้องเสีย ค. จะต้องเป็นผู้ชำระภาษีนั้น และถ้า ค. ไม่แจ้ง สรรพากรพื้นที่ก็มีอำนาจสั่งให้ ค. จ่ายภาษีเพิ่ม 100% ของภาษีที่จะต้องเสีย (ถ้ามี)
กฎหมายภาษียังขาดความชัดเจนว่าจะยืมบทบัญญัติเรื่องการเลิกบริษัทมาใช้แค่ไหนเพียงไร และการชำระบัญชีต้องกระทำหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายแพ่งกำหนดให้ไม่ต้องทำการเลิกบริษัทและชำระบัญชีทั้งสองกรณี จึงตีความโดยรวมได้ว่าเรื่องการเลิกบริษัทนำมาใช้กับการควบบริษัทเฉพาะเรื่องการแจ้งการควบ การตรวจสอบภาษี การยื่นรายการและเสียภาษี และหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทใหม่ โดยที่ไม่ต้องมีการชำระบัญชี

การจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ บัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีรายรับก่อนหักรายจ่าย ของบริษัท ก. และ ข. ในรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้าย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการจดทะเบียนควบบริษัทเสร็จสมบูรณ์ และ บริษัท ก. และ ข. สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว เป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัท ค. ทั้งสิ้น ที่จะต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรอง และอนุมัติโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทเดิมทั้งสอง ที่แม้จะได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่าดำรงอยู่เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การยื่นงบดุลพร้อมกับแบบรายการภ.ง.ด. 50 และการ เสียภาษีประจำปีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายและภาษีค้างจ่ายก่อนหน้านั้นให้เสร็จสิ้นไป ซึ่งการยื่นแบบและการเสียภาษีของบริษัทเดิม ก. และ ข. นี้ ก็เป็นหน้าที่และความรับผิดของบริษัทใหม่ ค. อีก รวมทั้งค่าปรับทางอาญา 2,000 บาท ในกรณีไม่ยื่นแบบรายการ หรือเงินเพิ่มซึ่งก็คือดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี ของภาษีที่ต้องเสียในกรณีที่ชำระภาษีล่าช้า หรือเสียภาษีเพิ่ม อีก 100% ของเงินภาษีที่ต้องเสีย ในกรณีบริษัทใหม่ลืมหรือไม่ทราบว่าตนต้องแจ้งการควบบริษัทต่อสรรพากรพื้นที่

แม้ว่าจะมีความยุ่งยากทางภาษีหลังการควบบริษัท แต่ความยุ่งยากเหล่านี้ ไม่เป็นอุปสรรคต่อบริษัทในครอบครัวและเครือญาติใกล้ชิดที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ในเครือเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วและมียอดขายรวมเป็นแสนล้าน ที่จะควบบริษัท ในกลุ่ม ให้บริษัทที่เกิดใหม่มีความแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้เพราะบริษัทในกลุ่มเดียวกันเหล่านี้ย่อมรู้ภาระภาษีที่ผ่านมาของกันและกันในอดีตอยู่แล้วและยอมรับได้กับหน้าที่และความรับผิดชอบในทางภาษีตามกฎหมายเหล่านี้ ในหลายๆกรณีภาระภาษีของบริษัทใหม่ที่จะรับไปมีค่าเป็นศูนย์

ข้อสำคัญที่สุดการควบบริษัทมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอยู่มหาศาล เหนือความยุ่งยากทางภาษีเงินได้นิติบุคคลช่วงเพียงสั้นๆ 5 เดือนหลังควบบริษัทอยู่มากโข
สิทธิประโยชน์เหล่านี้รวมถึงการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งในระดับบริษัทคือภาษีเงินได้นิติบุคคลและในระดับผู้ถือหุ้นทั้งที่เป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และยัง ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อากรแสตมป์ และค่าจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 2% จากบริษัทเดิมมาเป็นบริษัทใหม่
แต่การควบบริษัท จะไม่นิยมทำกันกับ บริษัทของคนแปลกหน้า หรือบริษัทภายนอกที่ไม่รู้จักมักคุ้นกัน เหตุผลหลักก็เรื่องภาระภาษีของบริษัทเดิมที่กะประมาณความเสี่ยงเป็นตัวเลขไม่ได้นี่แหละ ที่บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบและผู้ถือหุ้นใหม่ต้องรับมาโดยอัตโนมัติ โดยไปเรียกคืนจากผู้ถือหุ้นบริษัทเดิมไม่ได้ นี่คือคำตอบต่อคำถามที่ว่าทำไมการควบบริษัท จึงเกิดขึ้นน้อย เมื่อเทียบกับการโอนหุ้น

ถ้าจะแก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการควบบริษัท ก็ต้องไปแก้กฎหมายภาษี ไม่ใช่แก้ให้บริษัท ก. ควบกับ ข. แล้วกลาย เป็น ก. ก็ได้ ข. ก็ได้ หรือ ค. ก็ได้ อย่างที่อยู่ในแผนปฏิรูปกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าแก้ไม่ตรงจุด เพราะบริษัทใหม่ ค. ที่เกิดจากการควบบริษัทก็ใช้ชื่อเดิม ก. หรือ ข. ได้อยู่แล้ว

ก็ถือว่าความยุ่งยากทางภาษีในช่วงเพียง 150 วัน ระหว่างการจดทะเบียนควบบริษัท จนถึงกำหนดชำระภาษีในปีบัญชีสุดท้ายของ ก. และ ข. เป็นอุปสรรคต่อการควบบริษัทที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการควบบริษัทโดยรวม หากแก้ไขอุปสรรคส่วนน้อยในข้อนี้ได้ โดยการแก้กฎหมายภาษี การควบบริษัท ก็จะกลายมาเป็นเครื่องมือควบรวมกิจการอันทรงพลังในการปรับโครงสร้างบริษัทของธุรกิจทั่วๆไปอย่างไม่มีข้อจำกัด ก่อนจะระดมทุนในตลาดทุน รวมทั้งบรรดาบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เป็นการขยายความนิยม ของการควบบริษัท ในวงกว้างออกไปนอกเหนือจากธุรกิจครอบครัว และธุรกิจขนาดใหญ่ในเครือเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image