ยุทธาภิวัฒน์ (militarization) : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

Militarization เป็นศัพท์ที่นักรัฐศาสตร์และสังคมวิทยาคุ้นชิน แต่มักไม่ค่อยได้รับคำอธิบายมากนัก

ผมขอแปลคำนี้เป็นสามคำ ซึ่งขึ้นกับการเลือกใช้ นั่นก็คือ กองทัพภิวัฒน์ ทหารภิวัฒน์ และยุทธาภิวัฒน์ ด้วยวิธีคิดเดียวกับการแปล globalization ว่าโลกาภิวัตน์นั่นแหละทีนี้แปลให้มันยุ่งยากกว่า กองทัพภิวัฒน์ และทหารภิวัฒน์ทำไม? คำตอบก็คือ คำมันไม่สวยไม่ได้ลำดับเดียวกัน และคำว่ากองทัพ กับ คำว่าทหาร นั้นไม่น่าจะเพียงพอกับความเข้าใจ
เพราะถ้าแปล militarization ว่ากระบวนการทำให้เป็นกองทัพ และทำให้เป็นทหาร หรือแม้กระทั่งเสนาภิวัฒน์ มันก็จะแปลเพียงแค่การทำให้พลเรือนเป็นทหาร หรืออยู่ในโครงสร้างแบบกองทัพ มันไม่ได้เข้าถึงหลักใหญ่ใจความว่าการทำให้เป็นกองทัพหรือทหารนั้นหัวใจมันคือการทำสงคราม หรือการรบ นั่นแหละครับ

การแปล militarization ว่า ยุทธาภิวัฒน์ จึงน่าจะครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็น “ตัวองค์กร” (ซึ่งบางทีก็ไม่ได้อยู่ในรูปทหาร เช่นกองกำลังจัดตั้งจากภาครัฐอื่นๆ) และ “บรรยากาศ” ที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขที่นำไปสู่การต้องวางกองทัพและการจัดตั้งสังคมแบบกองทัพเป็นหลักในการปกครองประเทศ

หมายถึงทั้งการให้ทหารเป็นใหญ่ และคิดแบบทหารไปในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า “สงครามกับความยากจน” “สงครามกับยาเสพติด” หรือ “ปฏิบัติการ” หรือ “แผนยุทธศาสตร์” (แผนยุทธศาสตร์นั้นมีรากฐานจากวิธีคิดแบบทหารในการสู้รบในอดีต) หรือแม้กระทั่งการใช้คำอุปมาประเภท เราต้อง “รบ” กับสิ่งนั้นสิ่งนี้

Advertisement

ในแง่นี้สำหรับสังคมไทยเราอาจจะยิ่งเห็นความชัดเจนว่า เมื่อเราพูดถึงยุทธาภิวัฒน์นั้น มันช่างมีทั้งส่วนที่เราคุ้นชินกับการรบ และทหาร แถมยังสอดคล้องกับวิธีคิดในทางศาสนา ที่เราชอบพูดถึง “ธรรมาธรรมะสงคราม” หรือแม้กระทั่ง “กองทัพธรรม” เช่นกัน (คำว่า “ทัพนักกีฬา” ก็น่าจะเกี่ยวข้องด้วย)
แต่โดยภาพรวม เราอาจจะลองย้อนไปดูคำจำกัดความคร่าวๆ ของยุทธาภิวัฒน์ ที่ปรากฏในสารานุกรมสาธารณะอย่าง Wikipedia กันในฐานจุดเริ่มต้นสักหน่อย

วิกิพีเดียนั้นอธิบายว่า ยุทธาภิวัฒน์นั้นคือ กระบวนการที่สังคมนั้นจัดแจงตัวเองเพื่อให้พร้อมต่อความขัดแย้งทางการทหารและการใช้กำลังรุนแรง (แปลอีกอย่างว่าหมายถึงการจัดการสังคมให้พร้อมรบหรือพร้อมเผชิญกับสงคราม) ยุทธาภิวัฒน์นี้มีความสัมพันธ์กับยุทธานิยม (militariam) ซึ่งหมายถึงอุดมการณ์ที่จะสะท้อนถึงระดับ/ดีกรีของยุทธาภิวัฒน์ของแต่ละสังคมการเมือง

อุดมการณ์ยุทธานิยมนี้มักจะเชื่อมโยงกับการเชิดชูกองทัพ อาวุธยุทโธปกรณ์ และอำนาจของทหารในการปกครองและจัดการความขัดแย้ง หรือรวมไปถึงการเชิดชูสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงยุทธานิยมเหล่านี้ เช่น การเดินสวนสนาม หรือการเดินสวนสนามพร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือการนิยมศึกษาประวัติศาสตร์สงคราม และความนิยมในของเล่นหรือนิตยสารว่าด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

Advertisement

ในอีกมิติหนึ่งก็คือ ยุทธาภิวัฒน์ยังรวมไปถึงการมองโลกในแง่ของมิติความมั่นคง และการขยายมุมมองด้านความมั่นคงออกไปยังส่วนอื่น ซึ่งในแง่นี้เราก็ต้องตั้งสติให้ดีว่าการที่เราเชื่อมั่นว่าการพูดถึงความมั่นคงในมิติที่กว้างออกไปจากการทหารนั้นมันเป็นการขยายวิธีคิดแบบทหารออกไปด้วยหรือไม่ หรือเราจะเฉลิมฉลองว่าเมื่อเราพูดถึงความมั่นคงที่กว้างกว่าความมั่นคงทางการทหารนั้นหมายถึงชัยชนะที่ทำให้ทหารนั้นไม่เข้ามาก้าวก่ายมิติทางความมั่นคงในแบบอื่น

พูดง่ายๆ ก็คือ การพยายามขยายมิติเรื่องความมั่นคงออกไปจากความมั่นคงทางการทหารนั้นเป็นการจำกัดบทบาทของทหาร หรือเป็นการเขียนใบอนุญาตให้ทหารนั้นขยายบทบาทเพิ่มขึ้น และเพิ่มข้ออ้างในการที่ทหารจะเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมืองมากขึ้นไปอีกในนามของการพัฒนา ในนามของการเพิ่มงบประมาณในการซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อมาจัดการภัยพิบัติและสาธารณภัย รวมไปถึงการขยายบทบาทของ กอ.รมน.ออกไปสู่จังหวัดดังที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในบ้านเรา

ยุทธาภิวัฒน์ยังรวมไปถึงการที่เราใช้วิธีคิดในเรื่องสงครามและการทหารเข้ามาเป็นสัญลักษณ์ หรือ อุปมาในการขับเคลื่อนทางการเมือง เช่น สงครามกับยาเสพติด สงครามกับความยากจน (รวมทั้งสงครามกับความไม่รู้) เรื่องเหล่านี้เป็นวิธีคิดในเรื่องของการที่ไม่ได้ไปประกาศสงครามจริงๆ กับกองทัพศัตรูและเอาชนะศัตรู แต่หมายถึงสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงความพยายามอย่างยิ่งยวด การเสียสละ และ การอุทิศตน รวมทั้งการเชื่อฟังการบังคับบัญชาและทำงานอย่างเคร่งครัดต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว

นอกจากนี้แล้ว ยุทธาภิวัฒน์ในเชิงสัญลักษณ์ยังรวมไปถึงการรบหรือผนึกอำนาจบริหารเพราะเมื่อเราพูดถึงการรบ สงคราม หรือปฏิบัติการนั้น เรามีนัยยะของอำนาจที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทำให้สามารถสร้างข้อยกเว้นต่างๆ ได้ (ทั้งที่อำนาจโดยทั่วไปควรจะมาจากฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน) ในแง่นี้เราไม่ควรมองแค่ว่ายุทธาภิวัฒน์นั้นเป็นเรื่องที่ทหารเข้ามายุ่งกับการเมือง แต่ควรจะมองว่าพลเรือนเช่นนักการเมืองนั้นก็อาจจะใช้อุปมาแบบทหารเพื่อครองใจประชาชนภายใต้การประกาศสงครามกับประเด็นปัญหานู่นนี่เช่นกัน และที่ทำได้ส่วนหนึ่งก็เพราะสังคมนั้นมีระดับและความคุ้นชินกับยุทธาภิวัฒน์อยู่แล้วนั่นเอง

การทำความเข้าใจยุทธาภิวัฒน์ทางการเมืองเช่นนี้จะไม่ทำให้เราหลงคิดว่าปัญหาของยุทธาภิวัฒน์นั้นอยู่ที่กองทัพและตัวทหารเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจวิธีคิดเรื่องยุทธาภิวัฒน์ที่ครอบงำเราอยู่ในมิติต่างๆ ที่พลเรือนเองนั้นอาจจะรับเอามาใช้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งเราอาจจะเรียกมันว่า “จินตภาพทางทหาร หรือยุทธจินตภาพ” (militaristic imaginary) ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของการใช้อุปมาเรื่อง “การรบ” และ “สงคราม” ยังอาจจะมีการจัดตั้ง “คณะทำงาน” ในความหมายประเภท “task force” เพื่อให้บรรลุ “ภารกิจ” (mission) ต่างๆ เป็นต้น

อีกเรื่องที่เรามักไม่ค่อยได้คิดกันก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างยุทธาภิวัฒน์กับเศรษฐกิจ หรือกับเศรษฐกิจการเมือง ซึ่งในสังคมอเมริกานั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ในการวิเคราะห์ วิจารณ์ สิ่งที่เรียกว่า “เครือข่ายอุตสาหกรรมการทหาร” (military-industrial complex) ซึ่งหมายถึงการรวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายพันธมิตรอย่างไม่เป็นทางการของกองทัพและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามและยุทโธปกรณ์ โดยเครือข่ายพันธมิตรกลุ่มนี้จะเข้าไปมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะและผลประโยชน์แห่งชาติ

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสัมพันธ์เชิงพันธมิตรของกองทัพและบรรดาอุตสาหกรรมสงครามเหล่านี้ก็คือความเชื่อที่ว่าการร่วมมือกันนั้นทำให้เกิดผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือกองทัพได้ยุทโธปกรณ์ และผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ก็ได้คำสั่งซื้อ และมันก็จะไปกำหนดวิธีคิดในเรื่องการต่างประเทศที่เน้นการใช้กำลังในการแก้ปัญหา

เอาเข้าจริงในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นต้นแบบของเครือข่ายอุตสาหกรรมการสงครามเช่นนี้ไม่ได้มองแค่การเกิดการเชื่อมโยงกันของทหารกับ อุตสาหกรรมสงครามเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงความเชื่อมโยงกับรัฐสภา (military-industrial-congressional complex) เพราะสภาที่เต็มไปด้วยนักการเมืองพลเรือนก็เป็นผู้ที่อนุมัติงบประมาณและนโยบายที่เอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาแบบที่ใช้การรบมากกว่าการเจรจาอยู่บ่อยครั้ง และการมองเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันขนาดนี้ยังขยายไปรวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคง
รูปแบบอื่นๆ อีกด้วย

ในการพูดถึงยุทธาภิวัฒน์ยังรวมไปถึงการเกิดยุทธาภิวัฒน์ในอวกาศ ซึ่งจะเห็นว่าในอดีตนั้นคู่แข่งสำคัญก็คือ การส่งยานอวกาศ และการติดตั้งเทคโนโลยีด้านความมั่นคงของชาติมหาอำนาจบนอวกาศ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

ยุทธาภิวัฒน์ยังรวมไปถึงเรื่องของการปรับโครงสร้างของสังคม การเมือง และการบริหารประเทศให้มีลักษณะที่พร้อมกับการทำสงคราม หรือใช้ตรรกะวิธีมองโลกแบบการรบในการบริหารประเทศ อย่างในกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีความพยายามในการจำกัดจำนวนของกองกำลังในประเทศภายหลังความขัดแย้งในสังคม เพราะไม่ค่อยไว้ใจที่จะมีกองกำลังประจำการจำนวนมหาศาล แต่แนวคิดนี้ได้เปลี่ยนไปภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (และจุดเริ่มของสงครามเย็น และการขยายบทบาทของสหรัฐในโลก) สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นนอกจากการขยายจำนวนกองทัพประจำการแล้ว ก็คือการเกิดพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติในปี 1947 ที่จัดวางโครงสร้างความสัมพันธ์ของพลเรือนและกองทัพในการบริหารประเทศเสียใหม่ มีการจัดตั้งกระทรวงกลาโหม และสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักข่าวกรอง ซึ่งแม้ว่าเราอาจจะพิจารณาว่าในกรณีอเมริกานั้นพลเรือนอาจจะสามารถมีคำสั่งเหนือกองทัพได้ แต่ในอีกระดับของการวิเคราะห์ เราจะพบว่าโครงสร้างของการสร้างรัฐแห่งความมั่นคงตามกรอบอำนาจและกฎหมายใหม่นี้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบบทหารและกองทัพที่จำต้องถูกนำมาผนวกเอาไว้ในรัฐบาลที่มีหน้าฉากเป็นรัฐบาลพลเรือน แต่เอาเข้าจริงบรรดากองทัพก็เข้ามามีส่วนในการร่วมบริหารทั้งในระดับโครงสร้างองค์กรบริหาร และวิธีคิดในการมองปัญหาอยู่อย่างมีนัยยะสำคัญ

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารนั้น อีกมิติที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ เรื่องของการเกณฑ์ทหาร ที่บางประเทศนั้นเป็นระบบสมัครใจ และบางประเทศนั้นเป็นระบบการบังคับ และที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ ระบบที่มีการบังคับการเกณฑ์ทหารนั้นเป็นทั้งการผูกระบบนี้เข้ากับสิทธิและหน้าที่พลเมือง กล่าวคือใครปฏิเสธจะผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ระบบการเกณฑ์ทหารนั้นยังมีความซับซ้อนอยู่สูง เพราะระบบการเกณฑ์ทหารหรือการเปิดให้มีการสมัครใจในการเป็นทหารจะสะท้อนระดับของความเข้มข้นของยุทธาภิวัฒน์และยุทธานิยมได้ในระดับหนึ่ง ยิ่งในกรณีที่มีมิติเรื่องเพศสภาวะเข้ามาเกี่ยวข้อง การเกณฑ์ทหาร แต่ไม่ได้ให้ผู้หญิงเข้าไปเกณฑ์ด้วย ส่วนหนึ่งอาจเปิดวัฒนธรรมในการมองปัญหาว่าผู้ชายคือเพศที่แข็งแรง ปกป้องประเทศชาติ ทั้งที่ในภารกิจทหารสมัยนี้เอาเข้าจริงผู้หญิงก็สามารถเข้ามามีส่วนได้มากมาย

หรือแม้กระทั่งหากจะพิจารณาว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีการเกณฑ์พลเมืองไปทำงานสาธารณะที่มีขอบเขตความหมายมากกว่าการสู้รบ เช่นทุกคนที่เป็นพลเมืองจะต้องถูกเกณฑ์ไปทำงานสาธารณะที่เขาเลือกได้ เช่นไม่เป็นทหาร ก็ไปทำงานสาธารณสุข งานบนอำเภอ บน อบต. เทศบาล หรืองานการสอนในชนบทที่ห่างไกล ตามความชำนาญของแต่ละคน สิ่งเหล่านี้อาจจะต่างไปจากการรณรงค์ไม่เกณฑ์ทหารเฉยๆ ที่ทำให้กองทัพยังสามารถใช้วาทกรรมว่าคนไม่เป็นทหารเท่ากับไม่รักชาติ และการรบเท่ากับงานสาธารณะงานเดียว ทั้งที่ในหลายมุมมองอย่างในประเทศชิลี นั้นมีการมองว่าส่วนหนึ่งของการเกณฑ์ทหารนั้นเกิดขึ้นเพราะกองทัพต้องการแรงงานราคาถูกเข้าไปรับใช้นายทหารระดับสูงและกิจการของกองทัพโดยไม่ต้องขึ้นต่อเงื่อนไขการจ้างงานและกฎหมายอื่นๆ ที่จะปกป้องแรงงานและความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้น (D.Contreras. “Violence, Military Service, and the Education System in Chile”. Www.wri-irg.org 25/07/13)

ใช่ว่ายุทธาภิวัฒน์นั้นจะสร้างแต่ปัญหาให้กับสังคมเท่านั้น ในหลายกรณียุทธาภิวัฒน์ก็สร้างความก้าวหน้าให้กับสังคมเช่นเดียวกัน อย่างในกรณีเทคโนโลยีจำนวนมหาศาลในโลก โดยเฉพาะล่าสุดคือ อินเตอร์เน็ต ก็ล้วนแล้วแต่กำเนิดและถูกพัฒนาในยุคแรกภายใต้การขับเคลื่อนและแรงจูงใจทางด้านสงครามอย่างอินเตอร์เน็ตนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความพยายามที่จะสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่ป้องกันการล่มลงจากศูนย์กลาง ดังนั้นจึงคิดการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายต่างๆ เอาไว้ หรือเทคโนโลยีเครื่องยนต์จำนวนมากของอเมริกาก็ล้วนแล้วแต่พัฒนามาจากการสร้างเครื่องบิน และพัฒนายุทโธปกรณ์ทางทหารในช่วงสงครามเช่นเดียวกัน

อีกมิติหนึ่งที่มีทั้งสองด้านก็คือ ยุทธาภิวัฒน์นั้นอาจจะเป็นกลไกในการกีดกัน หรือดูถูกดูหมิ่นชนชั้น หรือสีผิวบางสีผิว เช่นวิธีมองว่าบางกลุ่มคนในสังคมนั้นไม่มีคุณสมบัติที่จะมาเป็นทหารได้ เพราะไม่ใช่คนในประเทศนั้น เช่นการกีดกันทางเชื้อชาติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธได้ยากว่าการขยายตัวของกองทัพนั้นเป็นโอกาสที่ทำให้ชนชั้นล่างหรือชนชั้นที่ถูกกดขี่ได้ขยับฐานะทางสังคมได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ สงครามโลกครั้งที่สองนั้น คนผิวดำและผู้หญิงในอเมริกาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรบ ในฐานะทหารและกองกำลังเสริม และทำงานในอุตสาหกรรมสงครามมากขึ้น ขณะที่ชายผิวขาวนั้นออกไปรบ หลังจากสงครามพวกเขาเหล่านั้นเริ่มมีทั้งทักษะในการทำงานในอุตสาหกรรม และก็เริ่มเรียกร้องสิทธิทางการเมืองด้วย เพราะเขาเชื่อว่าเขามีส่วนในการรับใช้ชาติมาก่อน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหาข้อสรุปง่ายๆ ได้ว่า การเกณฑ์ทหารนั้นทำให้สังคมถูกกดขี่ต่อไปโดยอัตโนมัติ

เราคงต้องเข้าใจมากขึ้นว่าภายใต้บริบททั้งภายในองค์กรกองทัพเอง และบริบทของสังคมนั้นๆ มีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้คนระดับล่างนั้นเข้าไปสู่กองทัพแต่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างกองทัพให้ขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้ แทนที่จะตั้งเป้าง่ายๆ ว่าทุกสังคมที่กองทัพเป็นใหญ่ทั้งในแง่องค์กรและวิธีคิดนั้นจะไม่เปิดโอกาสให้ชนชั้นล่างนั้นมีทั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขยับฐานะทางสังคม และเข้ามามีส่วนในการปกครองประเทศอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ รวมทั้งตรวจสอบ-ปฏิรูปกองทัพเอง

เรื่องต่อมาที่พูดกันบ่อยๆ ก็คือ ยุทธาภิวัฒน์กับงานตำรวจ (militarization of police) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากในสังคมประชาธิปไตย เพราะความหมายกว้างๆ ของมันก็คือ การที่ตำรวจนั้นใช้ทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทางทหาร และเทคนิคทางการทหารในการบริหารและปฏิบัติการของตำรวจ สิ่งที่ในสังคมประชาธิปไตยเป็นห่วงกันก็คือว่า การใช้วิธีคิดในด้านการรบกับสาธารณะ หรือประชาชนของตัวเอง และกับนักกิจกรรมทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองนั้น มันเป็นเรื่องที่จะทำได้แค่ไหน อย่าลืมว่าฐานรากสำคัญของวิธีคิดแบบทหารก็คือ ทหารคือผู้ต่อสู้กับศัตรู แต่สิ่งที่เราต้องระวังเสมอก็คือ ศัตรูนั้นทหารจะกำหนดเอง หรือใครจะเป็นคนกำหนด และถ้าเราปล่อยให้ทหารกำหนดศัตรูเอง เราจะควบคุมทหารและหน่วยงานความมั่นคงเหล่านั้นได้อย่างไร
ท้ายสุดเรื่องของยุทธาภิวัฒน์ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของการถ่ายทอดทัศนคติเรื่องการรบและการใช้การแก้ปัญหาด้วยกำลังลงไปในโรงเรียน ภายใต้เรื่องของระเบียบวินัย และการสอนเรื่องความรู้ทางภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ชาติ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อน บางกรณีก็เชื่อมโยงกับความต้องการทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ต้องการแรงงานที่มีวินัยมากกว่า วินัยคือการทำให้เราสามารถบรรลุภารกิจของความเป็นมนุษย์ที่เชิดชูเสรีภาพได้ (K.J. Saltman. “Education as Enforcement: Militarization and Corporatization of Schools”. Race, Poverty and the Environment. Fall 2007)

สิ่งสำคัญก็คือ การจะสอนเรื่องวินัยนั้นจำเป็นต้องมีลักษณะการสอนแบบทหารเสมอไปหรือไม่ คำว่าวินัยควรจะมีขอบเขตแค่ไหน และใครจะเป็นผู้บังคับใช้วินัย (อาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่และตรวจสอบได้ หรือปล่อยให้รุ่นพี่จัดการรุ่นน้องโดยไม่มีการตรวจสอบ)

ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้ต้องการโจมตีว่ายุทธาภิวัฒน์นั้นมีแต่แง่ลบ แต่อยากจะบอกว่ามันมีหลายด้าน และประเด็นท้าทายคือเราจะควบคุมและบริหารจัดการยุทธาภิวัฒน์ด้วยความเข้าใจได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image