สมัยนี้ยังคิดจะมีงบประมาณสมดุลอยู่อีกหรือ : สมหมาย ภาษี

ได้ฟังผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังพูดในที่สาธารณะเมื่อเร็วๆ นี้ว่าประเทศไทยเราจะมีแผนทำให้มีงบประมาณสมดุลในอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ เพราะจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในเรื่องที่ภาครัฐเคยลงทุนหรือต้องลงทุนให้มากขึ้น ผู้เขียนได้ฟังแล้วเป็นงงหลายตลบ ถ้าได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีหรือผู้ใหญ่จากกระทรวงอื่นพูดก็พอฟังหูซ้ายทะลุไปหูขวาได้ แต่นี่เป็นผู้ใหญ่ระดับปลัดกระทรวงของคลังเสียด้วย ถ้าฟังเฉยก็กระไรอยู่

งบประมาณสมดุลที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจกัน ก็คืองบประมาณรายจ่ายเท่ากับประมาณการรายได้จากภาษีและรายรับอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วงบประมาณสมดุล รัฐบาลก็ยังสามารถกู้เงินมาเพิ่มเติมเป็นรายจ่ายได้ เช่น การกู้จากสถาบันการเงินหรือตลาดต่างประเทศ หรือการกู้จากสถาบันการเงินหรือจากตลาดการเงินในประเทศโดยผู้กู้เป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทุกๆ ปีก็ทำกันอยู่คือให้รัฐวิสาหกิจกู้ไปใช้ก่อน แล้วรัฐบาลตั้งงบประมาณให้ทีหลัง เป็นต้น

เอาล่ะแม้ว่ายอมรับการแหกคอกการคลังออกไปบ้างก็ตาม การทำงบประมาณสมดุลก็ไม่ควรจะรับมาใช้สำหรับประเทศไทย ตามข้อเท็จจริง ประเทศที่อยู่ในระดับการพัฒนาระดับกลางขึ้นไปกับระดับใหญ่ ทุกวันนี้ต่างก็ทำงบประมาณขาดดุลกันยิ่งขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจพัฒนาไปมากก็ยิ่งขาดดุลมาก และหนี้สาธารณะก็เพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อย เพราะ GDP หรือรายได้ประชาชาติที่นับตามราคาตลาดก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอยู่แล้ว แล้วจะต้องไปพะวงกับสัดส่วนหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ให้ปวดหัวไปทำไม ก็ดูตัวอย่างประเทศสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลียก็ได้ เขาขาดดุลไปทุกปี ประเทศชาติก็เติบโตเจริญพรวดๆ ทุกปี

หลักการคลังของประเทศที่สำคัญ มีอยู่ว่า การคลังขาดดุลนั้นทำได้ แต่ไม่ควรเกิน 3-4% ของมูลค่า GDP หรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในราคาตลาด (Current Price) เพราะถ้าขาดดุลสูงกว่าก็จะดึงกลับมาสู่ระดับที่ปลอดภัยได้ คือมีเศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่รับได้ เงินเฟ้อในอัตราที่ควร ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าควรมีการขาดดุลปีละต่ำกว่าเกณฑ์หรือชนเพดานของเกณฑ์และควรให้ต่อเนื่องไปได้แค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะต้องดูสถานะทางเศรษฐกิจในเรื่องต่อไปนี้

Advertisement

ประการแรก เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจหลัก เช่น สถานะเงินทุนสำรวจของประเทศมั่นคงหรือเปราะบาง หน้าตาของดุลการค้าและบริการ อยู่ในกรอบหรือไม่ มีสินค้าออกประเภทไหนบ้าง พอจะต้านความผันผวนของโลกและภูมิภาคได้ไหม และอีกอย่างคืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำ กลาง หรือสูง

ประการที่สอง เป็นปัจจัยด้านระดับมาตรฐานทางการครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้แก่ การมีงานทำ การประกอบอาชีพคนส่วนใหญ่ การศึกษา สิ่งสาธารณูปโภค เช่น น้ำ ไฟ ถนนหนทาง ที่พำนักและถิ่นฐาน และสุขภาพอนามัยของประชาชนและสาธารณสุข สิ่งต่างๆ เหล่านี้สำหรับประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าระดับปานกลางของประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปโดยเฉพาะโรงพยาบาล สถานีอนามัย เครื่องมือแพทย์ สิ่งเหล่านี้ยังต่ำกว่ามาตรฐานมาก และสิ่งเหล่านี้ต้องการการอัดฉีดงบประมาณภาครัฐอีกมาก ทุกวันนี้คนบ้านนอกสามารถเข้าถึงการให้บริการด้านสาธารณสุขของรัฐยากเย็นและลำเค็ญมาก

ประการที่สาม เป็นปัจจัยด้านการหารายได้ภาครัฐ หรือก็คือความสามารถในการเก็บภาษี เพื่อนำมาทำนุบำรุงประเทศ ปัจจุบันนี้การเก็บภาษีของรัฐเมื่อเทียบกับ GDP หรือรายได้ประชาชาติที่เรียกว่า Tax Elasticity ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำ ถ้าเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้ๆ กัน ประเทศไทยยังต้องต้วมเตี้ยมอยู่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในระดับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง รัฐบาลยังไม่สามารถขยายฐานภาษีออกไปให้กว้างขึ้นไม่ค่อยจะได้ และในระดับผู้มีรายได้สูงยังมีความสามารถที่หลากหลายในการหลีกเลี่ยงและหลบการเสียภาษีให้แก่รัฐอย่างระเริง หากยังเป็นอยู่เช่นนี้ก็ไม่ต้องมาคิดเรื่องงบประมาณสมดุลให้เสียเวลา

Advertisement

ประการที่สี่ เป็นปัจจัยด้านหนี้สินที่เป็นภาระผูกพัน (Contingent Liability) ของรัฐเรื่องนี้เป็นเรื่องสืบทอดมาหลายๆ รัฐบาล ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ แต่ก็มีมานานแล้วและมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า มีแต่สร้างภาระผูกพันเพิ่มขึ้นมา แต่หามีปัญญาทำให้ภาระหนี้สินผูกพันตัวนี้ลดน้อยถอยลงไม่ ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายต่ออนาคตเศรษฐกิจอย่างมาก ปัจจัยตัวนี้ถือว่าเป็นตัวหนึ่งที่ดึงให้อัตราความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ที่เรียกว่า Sovereign Risk Rating ไม่สามารถกระเตื้องขึ้นไปได้

เนื่องด้วยความสามารถของรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีต่ำ เพราะเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจและการเงินที่ออกมาโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับนานาชาติทั้งหลายก็ต่ำ แล้วจะมาคิดเรื่องงบประมาณสมดุลกันได้ยังไงไม่ทราบ

ตัวอย่างของหนี้สินที่เป็นภาระผูกพันของรัฐ ที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่ามากบ้างน้อยบ้างได้สร้างให้แก่ชนรุ่นหลังมีอะไรบ้างจะเล่าสู่กันฟัง

ที่มีมานานนับได้กว่า 10 รัฐบาลแล้ว ได้แก่ หนี้สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รถไฟไทยยิ่งพัฒนามาก ยิ่งเพิ่มขบวนรถเพื่อให้บริการมาก ก็ยิ่งขาดทุนมาก กล่าวได้ว่าขาดทุนทุกปี ส่วนรัฐบาลก็พยายามจัดเงินอุดหนุนให้ตามเกณฑ์ คือช่วยกันไปให้สามารถเดินรถอยู่ได้ ปีไหนงบน้อยรัฐบาลก็ให้รถไฟไปกู้ยืมมาโดยรัฐบาลรับผิดชอบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย และบางส่วนก็ให้ไปกู้มาโดยการรถไฟฯ ต้องรับภาระเอง บางยอดรัฐบาลรับค่าดอกเบี้ยให้ ขณะนี้ถึงสิ้นกันยายน 2560 ภาระผูกพันของรัฐบาลเกี่ยวกับหนี้สินของการรถไฟฯ มียอดทั้งสิ้นถึง 203,948 ล้านบาท อีกองค์กรหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับการรถไฟฯ ซึ่งรัฐบาลต้องอุดหนุนตลอด คือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งขณะนี้มีหนี้สินที่รัฐค้ำประกันให้อยู่จำนวน 98,112 ล้านบาท

ทีนี้ก็มาถึงภาระผูกพันในยุคใหม่ที่เพิ่งเกิดไม่เกิน 12 ปีนี้เอง น้องใหม่รายใหญ่ซึ่งต่อไปจะใหญ่กว่าการรถไฟฯ และจะยิ่งขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้สัตว์ต่างดาว คือการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คือหน่วยงานที่รับผิดชอบการสร้างรถไฟฟ้ามวลชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 นี้ มีหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันอยู่ 128,825 ล้านบาท ที่เป็นค่าก่อสร้างสายสีม่วงทั้งสาย และสายที่กำลังก่อสร้างอีกหลายสาย คาดว่าภายในเดือนกันยายน 2561 คือหนึ่งปีจากนี้ หนี้ขององค์กรนี้จะเพิ่มจากเดิมไม่น้อยกว่าครึ่งเท่าตัวคงจะไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท นี่แหละสัตว์ต่างดาวพันธุ์แท้

ภาระผูกพันก้อนใหญ่และของแท้ที่เป็นน้องใหม่สุดที่ลือลั่นสนั่นโลก ท่านผู้อ่านคงรู้ชื่อกันแล้ว คือโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจริงๆ รวมพืชผลอื่นบ้างเล็กน้อยและรวมภาระผูกพันที่เกิดก่อนโครงการจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยบ้างบางส่วน รวมทั้งหมดเป็นภาระที่รัฐบาลต้องเอาภาษีอากรของคนไทยทั้งชาติไปทยอยจ่ายทั้งต้นและดอกเบี้ยอีกเป็นสิบๆ ปี จำนวนนี้ ณ กันยายน 2560 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้นถึง 346,764 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องรับ ต้องจัดการให้ตามกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญอีกหลายประเภท ซึ่งทุกประเภทชักหน้าไม่ถึงหลังแทบทั้งนั้น บางรายการไม่ได้ตั้งจ่ายในปีนั้น ต้องค้างจ่ายไว้ก็มี รายการภาระผูกพันตามกฎหมายก้อนใหญ่ๆ เช่น งบอุดหนุนท้องถิ่นซึ่งเป็นงบประมาณที่ต้องตั้งจัดสรรไปให้การปกครองส่วนท้องถิ่น งบกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจัดให้ประชาชนทั่วไปที่รู้จักกันดีว่างบ 30 บาทรักษาทุกโรคนั่นเอง ตลอดทั้งงบค่ารักษาพยาบาล ข้าราชการ ลูกจ้าง และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ

จากที่ได้บรรยายให้ฟังมานี้ รัฐบาลทุกสมัยรู้ดีว่ารายได้ที่เก็บจากภาษีอากรไม่พอที่จะใช้จ่าย รู้ทุกรัฐบาลว่าเวลาที่หน่วยราชการทำเรื่องของบรวมทุกหน่วยมาแต่ละปีนั้นมากกว่างบที่รัฐสามารถจัดสรรให้ได้ถึงกว่า 2 เท่าตัว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุลเสมอมา ทั้งๆ ที่รัฐบาลทุกยุคอยากได้งบกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้แต่ก็ต้องทำใจ ผลที่ออกมาให้เห็นก็คือ งบที่จัดสรรไปช่วยคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีไม่เพียงพอ ต้องปล่อยให้ชาวบ้านอยู่ในภาวะโทรมเหมือนคนอมโรคกันค่อนประเทศ

ผู้บริหารกระทรวงการคลังคงทราบดีอยู่แล้วว่างบประมาณขาดดุลหรือดุลการคลังติดลบ มีมาตลอดในช่วง 12 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549-2560 มียอดงบประมาณขาดดุลรวมแล้วทั้งสิ้น 3,358,000 ล้านบาท มากกว่ายอดงบประมาณทั้งปีถึงเท่าครึ่ง รู้ทั้งรู้ยังนำเรื่องนี้มาคิดจะทำงบประมาณสมดุล หรือว่าหมู่นี้กระทรวงการคลังไม่ค่อยมีงานทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image