เปิดปฏิบัติการ แผนแก้จน คลังผนึกพาณิชย์-แรงงาน-เอกชน ระดมกำลังสร้างอาชีพ-เพิ่มรายได้

คนจนหมดประเทศ! กลายเป็นวลีที่ถูกค้นหา และพูดถึงกันมากในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะคำนี้ถูกตีความมาจากคำกล่าวของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในงานสัมมนา THAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทายŽ จัดโดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ในเครือ มติชน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

โดยในงานดังกล่าว นายสมคิดกล่าวว่า ตั้งใจจะให้ในปี 2561 ทำให้คนที่อยู่ข้างล่างมีเงินหมุน มีงานทำ แนวทางหนึ่งที่นำมาทำคือ นำข้อมูลการลงทะเบียนคนจนของกระทรวงการคลังมาใช้ประโยชน์ ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยมีการลงทะเบียนคนจน และแจกบัตรคนจน ซึ่งไทยไม่เคยมีข้อมูลคนจนมาก่อนดังนั้นการลงทะเบียนทำให้รู้ข้อมูลคนจนว่าอยู่ตรงไหน ก่อนหน้านี้เริ่มแจกบัตรคนจน เพื่อนำไปใช้จ่ายด้านสวัสดิการ คือ ซื้อของร้านธงฟ้า นำไปขึ้นรถเมล์ รถไฟ รถ บขส.ฟรี ตามวงเงินในบัตร

สิ่งที่อยากเห็นต่อไป คือ อยากให้มีโครงการเสริมอาชีพให้กลุ่มคนจน เช่น ให้เกษตรกรมีรายได้เสริม อยากให้มีการผลิตพืชผลที่มีตลาด นอกเหนือจากข้าวและยาง และให้นำสินค้าเกษตรดังกล่าวไปขายในร้านธงฟ้าประชารัฐ เมื่อมีเงิน มีผลผลิต มีค่าจ้าง แรงงานลงไปสู่ชุมชน จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นตลอดเวลา

นายสมคิดกล่าวว่า ความคิดที่จะแก้ความจนในเมืองไทยต้องคิดนอกกรอบและใช้นวัตกรรมใหม่ๆ และปีหน้าอยากเห็นอีคอมเมิร์ซที่ชุมชน ซึ่งต้องการให้ชุมชนที่เข้มแข็งต้องสามารถทำการค้าผ่านออนไลน์ได้ ถ้าทำได้จะเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้มาก โดยปัจจุบันยังมีคนจนประมาณ 4 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี เท่ากับเดือนละ 2,500 บาท ถือว่าจนสุดสุด ผมได้หารือกับกระทรวงการคลังแล้ว ขอให้ติดตามเพราะกำลังจะมีมาตรการแก้จนให้หายจนŽ เป็นคำพูดชัดๆ ที่นายสมคิดกล่าวออกมา

Advertisement

คลังเคาะแผนแก้จนธ.ค.นี้
แผนแก้จนที่นายสมคิดกล่าวออกมานั้น ไม่ใช่เพิ่งคิด แต่นายสมคิดเคยให้การบ้านระหว่างมาร่วมประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลังเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน โจทย์คือทำอย่างไรให้ผู้ลงทะเบียนสวัสดิการ 11.4 ล้านคน พ้นจากความยากจน ถือเป็นระยะที่ 2 (เฟส 2) ของสวัสดิการแห่งรัฐ

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รองนายกฯ ฝากว่าในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 1 ปีของรัฐบาลชุดนี้

ทำอย่างไรให้ผู้มีรายได้น้อยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือหายจน ในระยะแรกช่วยเหลือด้วยการเติมเงิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่ต้องการเติมเงินแบบไม่อั้น เพื่อให้พ้นความยากจน ดังนั้นในระยะต่อไปต้องดูว่าจะทำให้คนเหล่านี้พัฒนาศักยภาพ และมีงานทำอย่างไร

Advertisement

สิ่งที่ทางกระทรวงการคลังคิดไว้คือ จัดโครงการให้คนเหล่านั้นพัฒนาตนเอง โดยจะสรุปโครงการช่วงเดือนธันวาคม 2560 นี้ และเริ่มดำเนินการช่วงต้นปีหน้า ยืนยันว่าโครงการที่ออกมาจะต้องสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่คงจะไม่สามารถทำให้คนหายจนได้หมดภายในปีเดียว และคงไม่เก่งเท่าประเทศจีนที่ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี ลดจำนวนคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 60 ล้านคน ซึ่งหลังจาก นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน ประกาศนโยบายนี้ออกมาช่วยสร้างความมั่นใจว่าไทยเดินมาถูกทาง เพราะไทยเริ่มดำเนินโครงการนี้มาก่อนระยะหนึ่งแล้ว

เอกชนช่วยจ้างงาน1ล้านคน
นอกจากการสร้างอาชีพแล้ว ยังมีแนวทางหางานให้ โดยเน้นในกลุ่มคนจนที่พอมีศักยภาพทำงาน มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4-5 ล้านคน ซึ่งนายอภิศักดิ์วางแผนสร้างงานให้กับคนยากจน 1 ล้านคน โดยได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แล้วว่าให้เข้ามาช่วยรับแรงงานที่ผ่านการฝึกอบรมแรงงานประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งผลจากการหารือภาคอุตสาหกรรมบอกว่ารับไหว เพราะปัจจุบันมีแรงงานที่ไม่ใช้ทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านมาทำงานในไทยกว่า 3 ล้านคน ซึ่งสามารถใช้แรงงานไทยทดแทนได้

ผลการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล่าสุด ทั้งกระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน ทั้ง ส.อ.ท. และหอการค้าไทย จะช่วยหางานให้กลุ่มคนในวัยทำงาน ที่ลงทะเบียนสวัสดิการไว้ ซึ่งคนที่ยังไม่มีทักษะฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานจะฝึกอบรมให้ เช่น ช่างซ่อมประปา ซ่อมบ้าน ช่างไฟ โดยจะไปหารือกับไทวัสดุ หรือโฮมโปร ให้ช่วยจ้างงานกับช่างที่ฝึกอบรมแล้ว ซึ่งการฝึกอบรมจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแถมมีเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย

แบงก์รัฐออกแพคเกจช่วย
ส่วนในเรื่องแหล่งเงินทุนและสร้างอาชีพนั้นได้ดึงธนาคารรัฐทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินเข้ามาช่วย โดยให้ทั้ง 2 ธนาคารทำโครงการพิเศษรองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในเรื่องเงินฝาก และสินเชื่อ ในอัตราพิเศษ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมแพคเกจปล่อยสินเชื่อ และสนับสนุนการออมสำหรับคนจนแล้ว โดยเตรียมวงเงินปล่อยกู้ไว้ 1 หมื่นล้านบาท กำหนดปล่อยกู้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท คิดอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับธนาคารประชาชน 0.75-1% ต่อเดือน เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยง ดังนั้นหากรัฐบาลกำหนดให้เป็นโครงการจากนโยบายรัฐ (พีเอสเอ) อาจจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีก เช่น ปลอดดอกเบี้ยในปีแรก

นอกจากนี้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่จะกู้เงินต้องผ่านการฝึกอบรม ซึ่งธนาคารออมสินร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดแผนอบรมตลอดทั้งปี โดยใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัย ออมสินสนับสนุนค่าวิทยากร และค่าอาหารสำหรับผู้ร่วมอบรม คาดว่าจะสามารถอบรมได้ประมาณ 2-3 หมื่นคนต่อปี โดยอาชีพที่อบรมต้องดูตามความเหมาะสมของ
ผู้เข้าอบรม และความเหมาะสมแต่ละท้องถิ่น เช่น อบรมเรื่องอาหาร หัตถกรรม สอนภาษาจีน เพื่อต้อนรับทัวร์จีน

ส่วนในเรื่องการออมเงินนั้นมีโครงการใช้ชื่อว่า ออมก่อนกู้-กู้ก่อนออมŽ โดยผู้ที่ออมก่อนกู้นั้นจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษมากกว่าปกติ 2 เท่า ส่วนผู้ออมหลังการกู้เงินได้ดอกเบี้ยมากกว่าปกติถึง 3 เท่า

ด้าน นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะใช้กระบี่โมเดล คือให้เอสเอ็มอีหัวขบวน ช่วยให้ความรู้ในการทำการเกษตร ดึงคนจนเข้ามาอยู่ในเครือข่าย โดยในจังหวัดกระบี่ มีเอสเอ็มอี
หัวขบวนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ส่งโรงแรมและรีสอร์ต ดังนั้นจึงให้เป็นผู้นำในการอบรมการปลูกผัก ซึ่ง ธ.ก.ส.จะสนับสนุนเงินทุนลงทุน
เพาะปลูก ทำให้คนจนอยู่ในกลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายอภิรมย์กล่าวว่า ในการออกมาตรการ ธ.ก.ส.จะใช้วิธีสำรวจความต้องการเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยแบบเจาะลึก เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตรงจุดมากขึ้น พร้อมทั้งสำรวจความต้องการสินค้าเกษตรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อหาช่องทางการทำตลาดก่อนที่จะหาอาชีพเสริม โดยปัจจุบันมีเกษตรกรต้นแบบ 2,000 รายทั่วประเทศ ครอบคลุมทุกประเภทสินค้าเกษตรที่เป็นที่ต้องการของตลาด อาทิ ผักไฮโดรโปนิกส์ กล้วยแปรรูป และหญ้าเนเปียร์ รวมถึงจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาช่องทางการทำตลาด และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ หากรวมกลุ่มกันผลิตสินค้าเกษตร ธ.ก.ส.พร้อมปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้

ดึงแฟรนไชส์สร้างรายได้
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตอบรับนโยบายสร้างอาชีพ ด้วยการดึงธุรกิจแฟรนไชส์มาเสริมสร้างอาชีพให้คนจน โดย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับเอกชนและแบงก์รัฐมาหลายครั้ง โดยเลือก 40-50 ธุรกิจแฟรนไชส์มาร่วมในโครงการ มีเป้าหมายผลักดันให้คนจนมีอาชีพล็อตแรก 2 หมื่นราย หากใครขาดเงินทุนธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) มาร่วมปล่อยกู้วงเงิน 2-3 หมื่นบาทต่อราย แบบไม่ต้องมีหลักประกัน หากใช้หลักประกันจะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
มาช่วยค้ำประกันให้

ในวันที่ 29 พฤศจิกายน กระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะแถลงข่าวความร่วมมือแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย และเปิดโครงการ โดยในงานมีสัมมนาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแฟรนไชส์ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายง่ายๆ ให้มีกำไรยั่งยืน และหลักการเลือกซื้อแฟรนไชส์ ซึ่งธุรกิจที่นำมาร่วมโครงการนั้นจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ซึ่งจะมีการออกบูธแสดงธุรกิจด้วย เช่น ก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวหมูปิ้ง

ซาลาเปา กาแฟโบราณ เป็นต้น พร้อมจัดเจรจาพูดคุยเพื่อลงทุนในแฟรนไชส์ หากติดขัดเรื่องเงินลงทุน สามารถขอคำแนะนำจากบูธของแบงก์รัฐได้ทันที
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การนำโมเดลธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์มาเป็นตัวช่วยสร้างอาชีพให้กับผู้มี

รายได้น้อย ถือเป็นทางลัดในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้ เพราะช่วยย่นระยะเวลาในการเริ่มต้นธุรกิจ ช่วยลดความเสี่ยงของผู้ลงทุนที่ยังไม่เคยประกอบธุรกิจมาก่อนเพราะมีเจ้าของแฟรนไชส์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแล ทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน

แผนแก้จนที่ถูกเปิดเผยอย่างคร่าวๆ ถือว่าเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ครั้งนี้น่าจะเป็นการต่อยอดการลงทะเบียนคนจน เคยถูกวิจารณ์มามากก่อนหน้านี้ เพราะในระยะแรกการแก้ปัญหาเน้นการแจกเงิน แจกสวัสดิการ ใช้เงินไปหลายหมื่นล้านบาท

ดังนั้นคงต้องติดตามแผนสร้างอาชีพคนจน ซึ่งจะชัดเจนในเดือนธันวาคมว่าจะช่วยลดจำนวนคนจนได้อย่างที่รัฐบาลชุดนี้ตั้งใจไว้หรือไม่ โปรดติดตาม!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image