2 พรรค จับมือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย คือ ความใฝ่ฝัน

แม้ทั้ง นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จะแลกเปลี่ยนกันในเรื่องโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะจับมือกัน

กระทั่งกลายเป็น “พาดหัว” หนังสือพิมพ์

แต่ก็เสมอเป็นเพียง “ทางโน้ม” สถานะจึงดำรงอยู่เหมือนกับที่ นายพิชัย รัตตกุล เคยเสนอในเชิงเรียกร้องมาแล้วหนหนึ่ง

ยังเสมอเป็นเพียง “ความใฝ่ฝัน”

Advertisement

กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าความใฝ่ฝันในลักษณะนี้ก็เป็นทางออกอันเป็น “แนวทาง” 1 ที่จะสามารถตัดโอกาสของ คสช.ลงได้อย่างเป็นจริง

เพียงแต่ในแต่ละฝ่ายยังไม่ “สุกงอม” เท่านั้น

ความไม่สุกงอมที่จะร่วมมือกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยนี้เอง คือ ความปรารถนาอย่างยิ่งยวดของ คสช.

Advertisement

เพราะนี่คือ “ภักษาหาร” อัน “โอชะ”

ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่าง 2 พรรคใหญ่

คือ เงื่อนไข

เงื่อนไขที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนำมา “ขยาย” แต่งแต้มสร้างสีสันและดึงพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นพวก

ยิ่งก่อนรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ยิ่งแหลมคม

เพราะว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหมดสภาพ หมดเครดิตในทางการเมือง ส่วนหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์จึงลงมาเล่นเองในนาม “กปปส.”

แล้ว 2 กลุ่มการเมืองนี้ได้อะไร

ความสำเร็จมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือ สามารถปูทางและสร้างเงื่อนไขให้สามารถก่อรัฐประหารได้อย่างราบรื่น

แล้วผลก็อย่างที่เห็นกัน ณ วันนี้

เป็นความจริงที่ตลอด 1 ทศวรรษเป็นต้นมา ไม่ว่าพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าพรรคพลังประชาชน ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ล้วนตกเป็นเป้าหมาย

ตอน “คมช.” อาจยังถือพรรคประชาธิปัตย์เป็นพันธมิตร

เห็นได้จากแผนบันได 4 ขั้นของ คมช. ตลอดจนรัฐธรรมนูญยังเอื้ออำนวยให้พรรคประชาธิปัตย์และบางส่วนที่แยกตัวออกจากพรรคไทยรักไทยอยู่บ้าง

และทำให้สำเร็จได้ในเดือนธันวาคม 2551

แต่พอมาถึงรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 พรรคประชาธิปัตย์ก็หาได้รับการหนุนเสริมเหมือนกับเมื่อปี 2549 ไม่

ยิ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ปรากฏออกมายิ่งชัด

ชัดว่า คสช.จะเล่นบท “กินรวบ” มิใช่ “กินแบ่ง” เพราะเป้าหมายอย่างแท้จริงก็คือ ต้องการให้ทุก

พรรคการเมืองอ่อนแอปวกเปียก กลายเป็นพรรคขนาดกลางถ้วนหน้า

วันนี้ข้อเรียกร้องให้จับมือกันอาจไม่เกิดประโยชน์

แต่พลันที่เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง พลันที่ฤทธิ์เดชจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเริ่มขยายผลก็ต้องมาลันดูแก มาแลดูกัน

ข้อเสนออันมาจาก นายพิชัย รัตตกุล จึงเป็นข้อเสนอในทางยุทธศาสตร์ พลันที่ได้รับการขยายโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ

ก็เริ่มมีสีสันมากขึ้น

ทุกคนอาจยังรู้สึกว่า “เพ้อฝัน” หลายคนอาจมองไม่เห็นความเป็นไปได้ แต่ในแต่ละสถานการณ์นั่นแหละจะค่อยๆ ให้คำตอบ

คำตอบว่าเป็น “ความใฝ่ฝัน” มิใช่ “เพ้อฝัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image